นักศึกษาหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจวิทยาลัยนานาชาติ DPU ดูงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่มณฑลกุ้ยโจว
"ภาษาจีน ไม่เพียงเป็นแค่เครื่องมือในการสื่อสาร แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ การลงทุน และการทำงาน เปิดโลกในการเรียนรู้วัฒนธรรมและอารยธรรมจีน รวมถึงทำให้เข้าถึงประสบการณ์ในการท่องเที่ยวแบบลึกซึ้งอีกด้วย ภาษาจีนจึงเปรียบเสมือนกุญแจที่จะพาเราเปิดประตูไปสู่สังคมและโลกอนาคตอันกว้างใหญ่ เชื่อว่าหากใครได้เรียนภาษาจีนแล้วจะไม่รู้สึกเสียใจทีหลังที่ได้เลือกเรียนแน่นอน" นางสาวแพรพลอย ฉลูพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4
ภาษาจีน บันไดสำคัญต่อยอดสู่ความรู้ทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
“เรียนภาษาจีนเพื่อใช้ค้าขายทำธุรกิจกับประเทศจีน” คงเป็นคำตอบยอดฮิตที่ผู้เรียนมักตอบคำถามที่ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจหรือเป้าหมายในการเรียนภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกภาษาหนึ่งอย่างภาษาจีน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร หรือทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นบันไดสำคัญที่จะเปิดประตูสู่ความรู้ในแขนงอื่นๆ ที่ลึกซึ้งต่อไป
วันนี้เราพาทุกท่านมาเปิดมุมมองการใช้ภาษาจีนกับตัวแทนนักศึกษาหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ จำนวน 5 คน ที่ได้รับคัดเลือกจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เพื่อรับทุนการศึกษาเข้าร่วมโครงการ Acupuncture and Moxibustion in Guizhou – ASEAN Traditional Medicine Workshop for College Student ระยะเวลา 7 วัน ณ มหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนกุ้ยโจว (Guizhou University of Traditional Chinese Medicine) ซึ่งจะเน้นการศึกษาดูงานด้านการแพทย์แผนจีนและการแพทย์จีนโบราณของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งซึ่งถือเป็นศาสตร์การรักษาพื้นบ้านที่สืบทอดต่อกันมายาวนานนับพันปีและยังได้รับการพัฒนาร่วมกับการแพทย์สมัยใหม่เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยในปัจจุบัน
ตลอดสัปดาห์ของกิจกรรมครั้งนี้ คณะนักศึกษาได้ร่วมเดินทางและทำกิจกรรมกับตัวแทนนักศึกษาจากคณะแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัย Tunku Abdul Rahman จากประเทศมาเลเซีย และได้ใช้ภาษาจีนในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน ได้ชิมอาหารพื้นถิ่น อย่างเช่น ตุ๊กตาเส้น หรือ ซือวาวา ชมการแสดงพื้นถิ่นของเผ่าม้ง และ ได้เปิดประสบการณ์สัมผัสของดีของเมืองกุ้ยหยาง เมืองอันซุน มณฑลกุ้ยโจวในทุกมิติ
นางสาวปวีณ์ธิดา คงเกิด นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ได้กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกและเป็นสถานที่แรกของประเทศจีนที่ได้มีโอกาสไป โดยก่อนเดินทางได้ศึกษาเกี่ยวกับมณฑลและเมืองเอกนี้ ตอนแรกคิดว่าเป็นแถบกุ้ยโจวเป็นเมืองแนวชนบทหน่อยเวลาคนจีนส่วนใหญ่มอง ซึ่งพอมีโอกาสไป กุ้ยหยางกลับกลายเป็นเมืองหนึ่งที่เจริญไม่แพ้เมืองหลวงบ้านเราเลยสักนิด อีกทั้งได้ลองชิมอาหารถิ่น อาหารขึ้นชื่อของที่นั่นและได้ไปสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติระดับ 5A ที่สวยมากๆ ได้เรียนรู้ภาษาถิ่นของมณฑลกุ้ยโจว และได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับเพื่อนๆชาวกุ้ยหยาง ทำให้รู้สึกว่าการมาประเทศจีนครั้งแรกน่าจดจำและน่าประทับใจกว่าที่คาดหวังไว้มาก”
สมุนไพรจีนจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากการเรียนการสอนสู่การประยุกต์ใช้งานและรักษา
กิจกรรมเริ่มจากการเยื่ยมชมการเก็บรักษาตำราแพทย์โบราณ ณ อาคารหอสมุดโดยมี อาจารย์พานหมิงเฉียน (Pan Mingqian) เป็นวิทยากรบรรยายการบันทึกอักษรจีนโบราณในรูปแบบต่างๆ และให้นักศึกษาลองสัมผัสประสบการณ์การพิมพ์ข้อความจากแผ่นศิลาจารึก ในช่วงบ่ายเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ยาสมุนไพรชนเผ่าม้ง และ ศึกษาการเก็บรักษาและจัดเก็บข้อมูลสมุนไพรพื้นบ้านชองชนเผ่าม้ง
จากนั้นอาจารย์เฉินจิ้งจง (Chen Jingzhong) อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ได้เปิดห้องทดลองให้เรียนรู้การทำเอกสารบันทึกข้อมูลพืชสมุนไพรและการใช้ฐานข้อมูลพืชสมุนไพรของกุ้ยโจว และรองศาสตราจารย์จางหนิง (Zhang Ning) อาจารย์แพทย์ด้านการฝังเข็มจีน ได้บรรยายด้านการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนและพาเยี่ยมชมห้องเรียนแพทย์แผนจีนที่ประยุกต์ใช้ยาจีนร่วมกับการครอบแก้วและกัวซา
หลังจากนั้นคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมน้ำตกหวงกั่วซู่และศึกษาสมุนไพรพื้นบ้านในบริเวณโดยรอบ โดยมีคณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ด้านสมุนไพรจีน ร่วมเดินทางเป็นวิทยากร เพื่อให้คำแนะนำสมุนไพรต่างๆจากสถานที่จริง รวมทั้งได้เยี่ยมชม บริษัทกั๋วเหย้าจี๋ถวน หรือ SINOPHARM GROUP โรงงานผู้ผลิตยารายใหญ่ของประเทศ เยี่ยมชมกระบวนการผลิตและแปรรูปยาจีนที่ประยุกต์ใช้ระบบผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยผลิต จัดยาและส่งต่อยาจากโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนถึงมือผู้ป่วยในเวลาเพียงครึ่งวัน ซึ่งนับว่าเป็นการเดินทางเพื่อเรียนรู้ยาสมุนไพรจีนตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำ ตั้งแต่เริ่มที่การศึกษาก่อน จนถึงการประยุกต์ใช้
นอกจากนั้นยังได้เดินทางไปทำความเข้าใจกุ้ยโจวในมิติอื่นๆ ผ่านการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญระดับ 5A ของกุ้ยโจวซึ่งจัดว่าเป็นเขตรักษาพันธุ์พืชพิเศษ นั่งเรือทะลุถ้ำมังกร แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของมณฑลกุ้ยโจว ณ เมืองอันซุ่น เพื่อศึกษาแหล่งภูมิศาสตร์และชั้นหินต่างๆซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของมณฑล ตั้งแต่สมัยโบราณที่เป็นพื้นที่ใต้ทะเล ซึ่งประกอบไปด้วยฟอสซิลสัตว์และพืชทะเลดึกดำบรรพ์จำนวนมาก รวมถึงเป็นที่มาของคำเรียกขานถึง มังกรกุ้ยโจว
กุ้ยโจว มณฑลแห่งสะพานและเหมืองแร่
จากพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในประเทศใช้เวลาเพียง 10 ปีสามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนมี GDP เป็นอันดับที่ 24 ของประเทศ โดยมีรายรับถึง 2 ล้านล้านหยวน และถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มเมืองระดับต้นๆที่มี GDP เพิ่มขึ้น ด้วยนโยบายการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างพื้นที่ภูเขา ผ่านการสร้างถนนและสะพาน ในการนี้คณะฯได้เดินทางเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สะพาน ซึ่งสะท้อนเทคโนโลยีการสร้างสะพานของจีนซึ่งเทียบเท่ากับเทคโนโลยีระดับโลก และ สัมผัสประสบการณ์การเดินชมใต้สะพานซึ่งเชื่อมระหว่างภูเขา ทำให้เมืองซึ่งอยู่อีกฝากของภูเขามีความเจริญ พัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถขนส่งแร่ธาตุจากเหมืองและสินค้าต่างๆสู่ภายนอกได้มากขึ้น ทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยในวันสุดท้ายได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักศึกษาชาวมาเลเซีย และ ศาสตราจารย์ หลิวซิ่งเต๋อ (Liu Xingde) อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนกุ้ยโจว ได้กล่าวให้โอวาท มอบเกียรติบัตร และกล่าวปิดโครงการ โดย นางสาวอลิษา กระจ่างพัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การได้เรียนภาษาจีน ทำให้ได้มีประสบการณ์มากมาย การได้ไปเรียนที่กุ้ยหยาง ได้ทดลองใช้ชีวิตที่ประเทศจีน ได้มีเพื่อนเป็นคนจีน ได้พูดคุย ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งเป็นอะไรที่ถ้าหากเราไม่รู้ภาษาจีนเลย เราคงไม่มีโอกาสดีๆแบบนี้”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี