นักวิชาการไทย-อเมริการะดมปกป้องแม่น้ำโขงจัดการปัญหาและความท้าทายใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการเครือข่ายนักวิชาการอนุลุ่มแม่น้ำโขง ขึ้นที่โรงแรมอิมพิเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิล รีสอร์ท อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมี ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนายดิ๊ก คัสติน (Dick Custin)ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ นักอนุรักษ์ ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการไทยได้มีส่วนร่วมและแบ่งปันข้อมูลงานวิจัยเรื่องการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ และความท้าทายด้านการบริหารจัดการน้ำ-พลังงานและความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการไทยหลากหลายสาขาวิชาได้ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมทำงานวิจัยในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาข้อเสนอการวิจัยร่วมกันระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาบนพื้นฐานความรู้และเป็นแนวทางให้แก่ Mekong Academic Consortium (MAC) และรัฐบาลในการวางนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดย ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาให้สนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย ทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่หลากหลายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการจัดการน้ำ จัดการขยะ รวมไปถึงการดำเนินการด้านความเป็นอยู่ของคน ตลอดจนการศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมในกรอบจีเอ็มเอส ไทย เมียนมา ลาว ด้านสุขภาพและโรคติดต่อต่างๆ ข้ามพรมแดนด้วย ซึ่งในอนาคตก็จะยังเน้นพันธนกิจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านสุขภาวะ ซึ่งการสัมนาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้การพัฒนาเหล่าด้านต่างๆในลุ่มแม่น้ำโขงมีความยั่งยืนในอนาคต
ด้าน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันจากคณาจารย์หลายมหาวิทยาลัยและนักวิชาการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้มีการเวิร์คชอป 10 ครั้ง 10 ประเด็นตั้งแต่ข้อถกเถียงเรื่องเขื่อน เรื่องกฎหมาย เรื่องผู้หญิง เรื่องการรื้อเขื่อนทิ้ง ซึ่งสหรัฐฯ ดำเนินการไปแล้วไม่ใช่แค่เขื่อนเล็ก แต่เขื่อนใหญ่ด้วย นักวิชาการสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกันโดยใช้ความรู้ข้ามศาสตร์ การร่วมมือกันของเครือข่ายกับนักวิชาการอเมริกาจะเกิดพลังทางวิชาการเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาวิกกฤตแม่น้ำโขง
ด้าน ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การรวมตัวของนักวิชาการอาจตื่นต้วช้าไป จากที่แม่น้ำโขงได้รับการพัฒนามา 60 ปี แต่เพิ่งจะมาพูดถึงเรื่องความสำคัญ ความซับซ้อน ความจำเป็นในมิติต่างๆ ซึ่งวิทยาศาสตร์ และความรู้ทางเทคนิคมีอำนาจนำในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและกำหนดนโยบายของประเทศในภูมิภาค การพูดเรื่องความร่วมมือและผลกระทบมีโอกาสเหลืออยู่น้อย แต่เราพยายามไขว่คว้าว่าอนาคตข้างหน้าเราไปทางไหน และยึดอะไรเป็นตัวตั้ง จะยึดธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง หรือให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากยึดอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงไปไม่รอด จะต้องหาจุดสมดุลย์ให้ทั้งสองทางไปด้วยกันได้
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่อง "นโยบายและมโนทัศน์แห่งอนาคตของแม่น้ำโขง" ว่า มีการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงมาก แต่การศึกษากลับชี้ไม่ได้ว่าปลาหายไปไหนและมีปลาเหลืออยู่กี่ชนิด ความหวังคือเราไม่ต้องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หรือไม่อยากให้สร้างเพิ่ม ทุกวันนี้แม่น้ำโขงไม่มีต้นไคร้อีกแล้ว ขณะที่แม่น้ำสาละวินยังมีต้นไคร้มากมาย แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าหายไปไหน ถือว่าเป็นความวิบัติของแม่น้ำ และการพูดถึงแม่น้ำโขงก็ต้องรวมไปถึงน้ำสาขาด้วย ขณะนี้มีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูน นักการเมืองแทบทุกคนในอีสานต่างตอบรับหมด อยากให้นักวิชาการทำงานขับเคลื่อนควบคู่กับประชาชน
"บทบาท สทนช.ควรอยู่ตรงกลาง ไม่ใช่ไปอยู่กับผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อน ถ้าวางตัวไม่เป็นกลาง กระบวนการมีส่วนร่วมจะไม่เกิดขึ้น ผมอยากเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมมองเรื่องรักษาผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องเข้าร่วมเพราะต้องการให้ครบกระบวนการ" นายหาญณรงค์ กล่าว
นายดิ๊ก คัสติน (Dick Custin) ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหรัฐฯสนับสนุนกิจกรรมของประชาชนและคนท้องถิ่น เรายังได้สนับสนุนการทำเวิคช็อปสถานบันที่ให้การศึกษาประชาชนในพื้นที่แม่น้ำโขง และสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงสนับสนุนสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อให้ทำงานร่วมกัน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย เพื่อการจัดการยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการวิจัยแม่น้ำโขงเพื่อรับมือกับสถานการณ์
ทั้งนี้ความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำโขงหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) แสดงถึงแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดการปัญหาความท้าทายข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีหน่วยงานและกระทรวงของสหรัฐฯ กว่า 14 หน่วยงาน รวมถึงโครงการต่างๆ กว่า 50 โครงการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ปี 2552 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในลุ่มน้ำโขงภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ รวมมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่ของเงินลงทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศไทย - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี