“ผมก็เหมือนคนอื่น คือมาจากชาวบ้านแท้ๆ มีโอกาสได้ทำงาน วันหนึ่งมันก็มี 2 มุม แก้แค้นชีวิตไหม? ตอนเรียนหนังสือต้องอยู่วัด ต้องล้างส้วม ตักน้ำให้พระอาบ เช็ดกวาดกุฏิ บัดนี้มีโอกาสได้มีตำแหน่งแล้วนะแสวงหาประโยชน์ไหม? ชดเชยเสียโอกาส หรือจะคิดถึงคนที่แย่กว่าเราหรือเหมือนเรา ทำอย่างไรเขาไม่ต้องประสบปัญหาอย่างเรา มีวัดให้เขาอยู่ทุกคนไหม? น้องๆ ผู้หญิงมีวัดไหม? เก่งกว่าผู้ชายอีกแต่ไม่ได้เรียน”
อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย กล่าวในปาฐกถาหัวข้อ “ค่อนชีวิตนักการเมือง” ในงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ประจำปี 2566 เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 5 พ.ย. 2566 ณ อาคารสมาคมธรรมศาสตร์ ย่านงามดูพลี-สาทร กรุงเทพฯ เล่าย้อนประวัติของตนเองที่แม้จะเติบโตมาอย่างห่างไกลคำว่าสุขสบาย แต่เมื่อได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นผู้มีอำนาจ ทางที่ตัดสินใจเลือกไม่ใช่การกอบโกยเพื่อชดเชยความสุขที่ขาดหายไปในวัยเด็ก แต่เป็นการแผ้วถางสร้างหนทางใหม่ขึ้นเพื่อให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสที่ดีกว่า
อดีตนายกฯ ชวน เล่าย้อนไปในวัยเด็ก เดินทางออกจากบ้านเกิดที่ จ.ตรัง เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกหลังจบชั้น ม.6 เนื่องจากสอบได้ทุนเรียนศิลปะที่เพาะช่าง แต่เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ สมัยนั้นยังมีโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงลองไปสอบดูและสอบเข้าได้ ทำให้ตัดสินใจสละทุนที่เพาะช่าง กระทั่งสอบเพื่อจบชั้น ม.8 อย่างไรก็ตาม มีระเบียบในเวลานั้นเพิ่งออกมา ไม่อนุญาตให้เรียน 2 มหาวิทยาลัยพร้อมกันได้ จึงเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ตนเองยังคงเรียนปี 2 ของโรงเรียนเตรียมศิลปากรต่อไปด้วย เพราะความชอบในศิลปะการเขียนภาพ อีกทั้งเป็นการฝึกฝีมือเพื่อใช้ประกอบอาชีพด้วย เพราะเวลานั้นน้องๆ เริ่มเรียนหนังสือในระดับชั้นสูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยที่บ้านนั้นพ่อเป็นครูส่วนแม่ทำสวนยางพารา มีพี่น้อง 9 คน เสียชีวิตไป 1 คน ส่วนพี่คนที่ 2 จบการศึกษาเพียง ป.4 ก็ต้องไปช่วยแม่ทำสวนยางเสียสละให้น้องๆ ที่เหลือได้เรียนต่อ
ซึ่งก็เป็นความโชคดีที่อยู่ใน “เมืองพุทธ”จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเช่าหอพักเพราะอาศัยอยู่วัด ใช้ชีวิตเยี่ยง “เด็กวัด” ทำงานจิปาถะต่างๆ ในวัด แลกที่อยู่อาศัยและข้าวก้นบาตร ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันจึงมีเพียงค่าเดินทางไป-กลับระหว่างวัดกับ ม.ธรรมศาสตร์ เท่านั้น บวกกับมีรายได้พิเศษจากการรับจ้างเขียนป้าย ด้านหนึ่งจึงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณพระศาสนา แต่อีกด้านก็ทำให้คิดอยู่ในใจว่า ในขณะที่เด็กผู้ชายยังสามารถพึ่งพาวัดในระหว่างศึกษาเล่าเรียน เด็กผู้หญิงกลับไม่มีช่องทางแบบเดียวกัน อันจะมีผลต่อการวางนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำส่วนนี้ต่อไปในอนาคต
หลังจากจบการศึกษาจาก ม.ธรรมศาสตร์ อดีตนายกฯ ชวน ประกอบอาชีพเป็นทนายความ เริ่มจากรับว่าความในคดีเล็กๆ เช่น การตั้งผู้จัดการมรดก-ตั้งผู้ปกครอง เพื่อหารายได้ส่งน้องๆ ที่กำลังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย กระทั่งในวันที่ตนเองเรียนจบเนติบัณฑิตไทย ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นนักการเมือง ซึ่งเป็นคนเดียวในรุ่นที่เลือกเส้นทางนี้ ในขณะที่คนอื่นๆมุ่งสอบเข้าเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา
“รัฐธรรมนูญปี 2511 เป็นฉบับแรกที่ผมได้ใช้ ผมก็สมัครเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็ไปสมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก็ไม่รับเพราะสอบประวัติแล้วไม่มีใครรู้จัก พอดีผู้สมัครคนหนึ่งถอนตัว เขาเลยให้ผมลงแทน ผมเลยได้ลงไปสมัครที่ตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังไม่รับ บอกอายุไม่ครบ กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 เป็นฉบับแรกที่เปลี่ยนอายุผู้สมัคร จาก 35 มาเป็น 30 ปี ผมเลยสู้ว่าผู้แทนเขาเขียนว่าผู้แทนราษฎรอายุ 30 เขาไม่ได้เขียนว่าผู้สมัครอายุ 30 ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องตั้งกรรมการขึ้นมาสอบอายุผม 7 วันยอมรับว่าอายุครบ เลยได้สมัคร” อดีตนายกฯ ชวน กล่าว
ชีวิตในฐานะนักการเมืองกับเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 11 สมัย และแบบบัญชีรายชื่ออีก 6 สมัยรวมถึงการเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตนายกฯ ชวน บอกเล่าถึงการทำงานที่ภาคภูมิใจ เช่น การเข้าไปเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้เข้าไปแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสในหน่วยงาน,
การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ผลักดันให้ขยายโรงเรียนมัธยมเพิ่มขึ้น ซึ่งนโยบายส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตเด็กไทย ยังได้ทำต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ด้วยการขยายมหาวิทยาลัยออกไปยังต่างจังหวัดเพิ่มเติม 11 จังหวัด โดยให้มหาวิทยาลัยแม่ดูแล ปัจจุบันก็ยังดำเนินการอยู่ รวมถึง การริเริ่มกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในปี 2538 และรวมถึงโครงการนมโรงเรียน ที่ริเริ่มไว้ในปี 2535 ทำให้ส่วนสูงของเด็กไทยรุ่นต่อๆ มาเพิ่มขึ้น อีกทั้งลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุด้วย
โครงสร้างพื้นฐานอย่าง “รถไฟทางคู่-ถนน 4 เลน”ที่ริเริ่มไว้ในช่วงที่เป็นนายกฯ ทั้ง 2 สมัย, การรับมือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ในฐานะนายกฯ สมัยที่ 2 นอกจากการแก้ไขสถานการณ์จนไม่ต้องกู้เงินเพิ่มและเริ่มทยอยใช้หนี้แล้วยังมีการถอดบทเรียนและออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่าด้วยระเบียบการบริหารจัดการที่ดีทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งต่อมาจะคุ้นเคยกันในคำว่า “ธรรมาภิบาล” ประกอบด้วย 6 ข้อ คือ 1.หลักนิติธรรม 2.หลักคุณธรรม 3.หลักการมีส่วนร่วม 4.หลักการตรวจสอบได้ 5.หลักความรับผิดชอบ และ 6.หลักความคุ้มค่า เป็นต้น
“ปัญหาภาคใต้มาจากการละเมิดหลักนิติธรรม คือออกนอกกฎหมาย ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาภาคใต้ด้วยการ “เก็บ” ใช้คำว่า“จัดการได้เดือนละ 20 คน 2 เดือนก็หมด” แล้วก็ส่งมือเก็บไปนี่คือที่มาของนโยบายนอกหลักนิติธรรม อันเกิดขึ้นจากนโยบายวันที่ 8 เม.ย. 2544 เรื่องนี้คนรู้ล้มหายตายจากไปหมด เหลือผมอยู่คนหนึ่งที่ยังจำเหตุการณ์ได้ ผลที่มาคือเป็นวิกฤตในภาคใต้ซึ่งต่อมาก็คือการที่เกิด RKK ขึ้น RKK ก็ใช้เหตุการณ์นั้นสะสมอายุ 3 ปี แล้วก็เข้าปล้นปืนวันที่ 4 ม.ค. 2547” อดีตนายกฯ ชวน ยกตัวอย่าง “ไฟใต้” หนึ่งในผลกระทบที่เกิดจากการละเมิดหลักนิติธรรม
บทสรุปของการเป็นนักการเมืองมานานกว่าครึ่งศตวรรษ อดีตนายกฯ ชวน ให้ข้อคิดว่า “กฎหมายที่ดีต้องไปด้วยกันกับคนที่ดีด้วย” ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่ถูกใช้ในลักษณะก่อให้เกิดปัญหาก่อนจบลงด้วยทหารเข้ายึดอำนาจ ขณะเดียวกัน “ต้องพัฒนาคุณภาพคน”ทั้งการปลูกฝังค่านิยมซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถควบคู่กับมีสำนึกรับผิดชอบ และมีความเข้มแข็ง “การช่วยคนยากจนนั้นต้องช่วยให้เขาเกิดความรู้สึกว่าสามารถช่วยตนเองได้” ไม่ใช่การแจกเงินให้ฟรีๆ แต่ต้องทำงาน เพื่อให้เห็นคุณค่า
“วันนี้เราวิจารณ์เรื่องสังคมมีความเหลื่อมล้ำ แต่เราเอาเรื่องรายได้ แต่ผมคิดว่าการลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องรายได้ต้องทำ แต่หวังที่จะทำให้คนทุกคนรวยเหมือนกันหมดเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือให้ความเหลื่อมล้ำเรื่องข้อแตกต่าง การเคารพกฎหมายบ้านเมืองเสมอกัน คนรวยผิดก็ต้องรับโทษเหมือนคนจน คนจนผิดก็ต้องรับโทษ ความเท่าเทียมทางกฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็น” อดีตนายกฯ และอดีตประธานรัฐสภาฯ ฝากข้อคิด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี