“ไก่งามเพราะขน-คนงามเพราะแต่ง” สำนวนไทยว่าด้วยการแต่งกายสามารถช่วยเสริมบุคลิกให้กับบุคคลได้นำไปสู่การคิดค้น “เครื่องสำอาง” และพัฒนามาตามยุคสมัยตามเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งสำหรับ “ประเทศไทย”ถือว่ามี “จุดเด่น” ด้วย “ความหลากหลายทางชีวภาพ” อุดมสมบูรณ์ทั้งสมุนไพร และพืชนานาพันธุ์ “เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบชั้นเยี่ยม” โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (Thai Cosmetic Cluster หรือ TCOS) มีความร่วมมือกันเพื่อวิจัยและพัฒนา เรื่อง การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึง “FoodSERP” ว่า เป็นแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชั่นที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพในประเทศ โดย สวทช.มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค สำหรับผลิต functional ingredients หรือ active ingredients และโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง สำหรับผลิตเวชสำอางที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ สวทช.ยังมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย สวทช.ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี ในรูปแบบ One-stop service ตั้งแต่การผลิต วิเคราะห์ทดสอบ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทดสอบตลาด บริการขยายขนาดการผลิตและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Speedy Economy ให้มีศักยภาพการผลิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต
“เจตนารมณ์ของความร่วมมือครั้งนี้เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรม ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เวชสำอางของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ผนึกกำลังร่วมกันผ่านเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ที่จะช่วยสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ขณะที่ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามมีการพัฒนา และตลาดมีความต้องการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อม และตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความร่วมมือและผลักดันองค์ความรู้เทคโนโลยีนำผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน
โดยกลุ่มแพลตฟอร์ม FoodSERP ซึ่งนำโดย ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง และทีมวิจัยจากศูนย์แห่งชาติของ สวทช. มีความพร้อมทั้งด้านความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในด้านประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า “สารสำคัญเชิงหน้าที่ (Functional ingredient)” เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เวชสำอางออกสู่ตลาด รวมทั้งให้บริการพัฒนากระบวนการผลิต
“สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ ขยายขนาดการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบที่มีมาตรฐานสากลสำหรับทดลองตลาด ทดสอบทางคลินิกหรือทดสอบภาคสนาม และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กลุ่มส่วนผสมฟังก์ชั่น และสารสกัด (functional extracts) เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน สร้างรายได้เพิ่มแก่ผู้ประกอบการ และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเวชสำอางของไทย” ดร.กัลยา กล่าว
ด้าน ลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคม TCOS กล่าวว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบเครื่องสำอางไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยความร่วมมือและให้บริการสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมไปถึงเป้าหมายในการสร้างความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม คุณภาพ และความปลอดภัยของเครื่องสำอางไทย
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรชีวภาพของไทย อาทิ สมุนไพร วัตถุดิบทางการเกษตรและจุลินทรีย์ ผนวกกับการใช้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่เป็น soft power อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในเวทีโลก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
นายกสมาคม TCOS ยังกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แม้เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและมีอนาคตที่สดใสในตลาดโลก แต่ในเวลาเดียวกันต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 ด้านหลักๆ คือ 1.การแข่งขันกับผู้ผลิตเครื่องสำอางต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและการตลาดที่ดีกว่า 2.การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน และ 3.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและความชอบของผู้บริโภคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
“สมาคมฯ เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ เช่น การใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ใช้ไบโอเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ” นายกสมาคม TCOS กล่าว
ทั้งนี้ ต้องบอกว่า “ปัจจุบันผู้ที่สนใจดูแลความงามไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหญิงสาว..แต่เป็นเรื่องของคนทุกเพศและทุกช่วงวัย” ซึ่งความร่วมมือ
ระหว่าง สวทช. กับ TCOS เพื่อวิจัยและพัฒนา เรื่อง การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง เพิ่งจัดแถลงข่าวไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผอ.สวทช., นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคม TCOS และ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการ ผช.สวทช. พร้อมด้วย ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย ร่วมเป็นพยาน
เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามด้วยการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยพัฒนาชั้นนำของประเทศและบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตามหลักมาตรฐานสากล สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี