จากอดีตเคยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง สู่ประธานกลุ่มเกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม ทำอาชีพเกษตรกรเต็มตัวกับการปลูกพืชผักอินทรีย์ปลอดภัยสู่ผู้บริโภค ของนางสำเนียง เกตุมณี อายุ 56 ปี เกษตรกรหมู่ 3 ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังจากถึงจุดอิ่มตัวกับการทำงานเป็นผู้รับเหมา ได้ตัดสินใจกลับถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อมารับช่วงต่อการทำเกษตรจากครอบครัว ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนจากการทำเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพของคนในครอบครัว ปัจจุบันได้ผลิตผักอินทรีส่งโรงพยาบาลสำหรับเป็นอาหารผู้ป่วย และเป็นผู้ส่งต่อพืชผักปลอดภัยสู่ผู้บริโภคด้วยความรักและความใส่ใจ
นางสำเนียง เกตุมณี ประธานกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม กล่าวว่า สามีมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ต่อมาพ่อแม่มีอายุมากขึ้น อีกทั้งร่างกายของตัวเองเริ่มทรุดโทรมลงไม่ค่อยแข็งแรง จึงตัดสินใจมาช่วยครอบครัวทำการเกษตร สมัยก่อนที่บ้านจะปลูกข้าวโพด มีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำให้รู้สึกเวียนศรีษะ จึงตัดสินใจเปลี่ยนแนวคิดจากการใช้สารเคมี มาใช้สารธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ต่อมาได้มีโอกาสเรียนรู้จากโครงการพระราชดำริ มีเพื่อน ๆ ชักชวนพาไปอบรมให้ความรู้เรื่องต่าง ๆ ลงมือปลูกผักที่บ้านแบบไม่ใช้สารเคมีเลย ช่วงแรกยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะอยู่ในขั้นทดลอง จนกระทั่งทุกวันนี้ทำได้เกือบครบทุกอย่างของการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว
ที่บ้านปลูกผักสลัด ผักใบ มะเขือ ข้าวโพดหวาน ทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักฮอร์โมนใช้เอง ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการทดลองทำการปลูกผักหลายชนิด อนาคตมีความคิดว่าแนวโน้มการทำเกษตรอินทรีย์จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจะมีคนจะหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองและหันมาปลูกผักอินทรีย์รับประทาน ทุกวันนี้นำผลผลิตไปขายในโครงการพระราชดำริ ส่งโรงพยาบาลให้คนไข้ได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย และยังนำไปขายในตลาดนัดใกล้บ้าน ยังได้รับคำชมจากลูกค้า เรื่องการปลูกผักปลอดภัย จึงมีความภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจให้เราสู้ในการทำเกษตรอินทรีย์
สำหรับการทำปุ๋ยหมักมีส่วนผสมจากอินทรียวัตถุจำพวกเศษใบไม้แห้ง หญ้าเนเปีย ซึ่งจะช่วยให้ธาตุไนโตรเจนสูง มีกระถิน มูลแพะ รำละเอียด เป็นอาหารของจุลินทรีย์ อัตราส่วนถ้าอินทรียวัตถุประมาณ 1 ตันจะใช้รำละเอียด 20 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม ตามด้วยจุลินทรีย์น้ำหมักและสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 จำนวน 1 ซอง ผลิตปุ๋ยหมัก 1 ตัน จะเป็นตัวช่วยเร่งการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้เร็วยิ่งขึ้น จากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากัน
การปรุงดินปลูกผักสลัดจะใช้ขุยมะพร้าวที่แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 น้ำรวมกับขี้เถ้าแกลบที่แช่น้ำไว้แล้วใช้มูลไส้เดือนที่เลี้ยงไว้มาผสมครึ่งส่วน ปุ๋ยหมักครึ่งส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันและต้องใส่จุลินทรีย์น้ำหมักปลา คลุกเคล้าให้เข้ากันจะช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของต้นกล้าผักสลัดได้ดีขึ้น
การปลูกนำดินใส่เบ้าหลุมแล้ว ให้นำเมล็ดผักหยอดลงไปในภาชนะ ใช้สเปรย์รดน้ำเบา ๆ ทิ้งไว้ในร่มประมาณ 3 วัน ผักจะค่อย ๆ งอกขึ้นดูแลต่ออีกประมาณ 25 วันเป็นต้นกล้าสามารถจำหน่วยได้ถาดละ 140 บาท
ส่วนการเลี้ยงไส้เดือนจะมีการนำมูลวัวแช่น้ำไว้ 3 วันเพื่อล้างความเค็มออก จากนั้นใส่ตัวไส้เดือนลงไปในภาชนะ โดยจะให้เศษผักที่เหลือจากการเก็บมาให้ไส้เดือนกินเป็นอาหาร และจะดูแลรดน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นอยู่เสมอใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน จึงนำมาร่อนเอามูลไส้เดือนออกไปใช้ประโยชน์ต่อไป สำหรับสวนพอเพียงยั่งยืน สามารถติดต่อได้ที่นางสำเนียง เกตุมณี เบอร์ 061-5984108
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี