“พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 9 กำหนดไว้ชัดเจนว่าการดำเนินโครงการจะต้องไม่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมือง แต่การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนายกฯ มาแถลงว่าจะทำโครงการนี้แล้วบอกว่าจะไปหารือกับกฤษฎีกา ทำไมจึงไม่หารือให้มีความชัดเจนก่อนว่า ทำได้หรือไม่ได้ แล้วค่อยมาแถลง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ เป็นการหวังสร้างความนิยมทางการเมืองชัดเจน ไม่มีเจตนาที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีเหตุผลอื่นเลย
นายกฯ พูดมาตลอดว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจมีความรู้ความสามารถ บริหารกิจการเรียลเอสเตท มีกำไรมากมาย จึงสามารถบริหารจัดการเงินที่จะเอามาใช้ในโครงการนี้ได้แต่สุดท้ายก็กลืนน้ำลายตัวเอง ตระบัดสัตย์ตัวเอง ออกพ.ร.บ.เงินกู้เพื่อไปใช้ในโครงการนี้ ซึ่งทำให้ต่อไปคนไทยต้องจ่ายภาษีใช้หนี้ให้โครงการนี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน แม้แต่คนที่ไม่เข้าข่ายว่าจะต้องได้เงิน 1 หมื่นบาท ก็ต้องมาร่วมใช้หนี้ด้วย ฉะนั้นความเป็นนักบริหารมืออาชีพที่อ้างก็เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงประชาชนมาโดยตลอด จะใช้เงินแล้วใช้การกู้เงินแบบนี้ เด็กอมมือก็กู้ได้ไม่ต้องเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากู้หรอก”
ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน กล่าวเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566 กับการเดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2560 มาตรา 53 หรือไม่
ซึ่งก็ต้องบอกว่า “มาตามนัด” เพราะย้อนไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ซึ่ง “พี่ศรี” ได้ประกาศไว้ระหว่างมาพูดคุยในรายการ “แนวหน้า Talk” ซึ่งมี บุญยอด สุขถิ่นไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ว่า “หากวันใดที่รัฐบาลอนุมัติโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท วันรุ่งขึ้นตนเองจะยื่นฟ้องทันที” เพียงแต่วันเวลาอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะนายกฯ เศรษฐาแถลงข่าวเรื่องเงินดิจิทัลในวันที่ 10 พ.ย.2566 อันเป็นวันศุกร์ จึงต้องรอให้ผ่านวันหยุดราชการ เสาร์-อาทิตย์ ไปก่อนที่จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันที่ 13 พ.ย.2566
ในรายการ แนวหน้า Talk ศรีสุวรรณกล่าวว่า ตนเองติดตามนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” หรือการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ “พรรคเพื่อไทย” ชูเป็นนโยบายหลักตั้งแต่ช่วงหาเสียงก่อนวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) วันที่ 14 พ.ค.2566 โดยตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้อยคำที่ใช้หาเสียงถูกปรับเปลี่ยนไปหลังได้เป็นรัฐบาล” ซึ่งอาจเข้าข่าย “หลอกลวงประชาชน” ผิดกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายการเลือกตั้งหรือไม่? เนื่องจากตอนแรกบอกได้ทุกคน มีระยะใช้งานรัศมี 4 กิโลเมตร เป็นต้น
ส่วนจะไปถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่นั้น ต้องดูที่ข้อกฎหมาย โดยต้องไปดูคำชี้แจงของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นต่อ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่างบประมาณที่จะนำมาทำนโยบายเงินดิจิทัลจะมาจากแหล่งใด ซึ่งทุกคำอธิบายก็หมายถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น ไม่มีการกู้เงินหรือหาจากแหล่งอื่นๆ กกต. จึงอนุมัติ แต่พอเป็นรัฐบาลแล้วบอกว่าจะไปหาเงินจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งตนเองได้ตั้งประเด็นไว้แล้ว ถึงกระนั้นก็มองว่า “พรรคเพื่อไทยจะผลักดันโครงการต่อไปเพราะไม่ต้องการเสียหน้า” แต่อาจลดเพดานบางส่วน เพื่อให้ทำตามที่สัญญาไว้ได้
“เหมือนที่ผมฟ้องคดีรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ตอนนั้นที่จะกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท มาทำโครงการป้องกันน้ำท่วม ศรีสุวรรณฟ้องจนศาลสั่งให้ยุติ แพ้คดีผมไปแล้วก็ทำไม่ได้อีกเลย ผมฟ้องศาลปกครอง แล้วศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว จนในที่สุดโครงการนี้มลายหายสิ้นถ้าเขายืนยันจะใช้งบแผ่นดินก็ไม่ว่ากัน แต่ผมว่ามันคงหืดขึ้นคอเหมือนกัน” ศรีสุวรรณ กล่าว
เอ่ยชื่อ ศรีสุวรรณ จรรยา ก็ต้องนึกถึงหลากหลายชื่อองค์กรที่คุ้นหูคุ้นตาผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน”, “สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย”, องค์กรรักชาติรักแผ่นดิน” ซึ่งเขาถูกมองว่าเป็น “นักร้อง (เรียน) ขาประจำ” เรื่องเล็กเรื่องน้อย อะไรที่มีข้อสงสัยในทางกฎหมาย พี่เขา “จัดให้” เดินสายยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนบางครั้งก็มีคน “หมั่นไส้” ถึงขั้นบุกทำร้ายร่างกายเป็นคดีความกันมาแล้ว
โดย ศรีสุวรรณเล่าว่า เริ่มชีวิตการเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้คนในสังคมมาตั้งแต่เรียนอยู่ที่ “มหาวิทยาลัยแม่โจ้” จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้รับเลือกเป็น “นายกองค์การนักศึกษา” ย้อนไปในปี 2532 ถนนจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปถึง ม.แม่โจ้ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร สมัยนั้นมีเพียง 2 เลน พอให้รถแล่นสวนกันได้ แต่ด้วยความที่เศรษฐกิจไทยในเวลานั้นกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้โครงการหมู่บ้านจัดสรรผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ถนนสายดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยรถบรรทุกขนวัสดุก่อสร้าง และเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนทำให้ทั้งนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตอยู่เนืองๆ
ด้วยบทบาทของผู้นำนักศึกษา จึงพยายามทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค แม้กระทั่งการไฟฟ้าฯ เพราะยุคนั้นถนนหน้า ม.แม่โจ้ ไม่มีไฟส่องสว่าง ยามค่ำคืนมีแต่ความมืดสนิท ทั้งที่บริเวณนั้นนอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยแล้วยังมีชุมชน จึงขอให้มีการติดตั้งไฟส่องสว่างและป้อมจราจรสำหรับให้ตำรวจมาทำหน้าที่ดูแลการใช้รถ-ใช้ถนน แต่ทุกอย่าง “เงียบกริบ” ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
พอเป็นแบบนี้ ตนเองจึงไปคุยกับเพื่อนๆ ในองค์การนักศึกษาด้วยกัน ได้ข้อสรุปว่า “ต้องไปเรียนเชิญผู้ว่าฯ เชียงใหม่ มาแก้ปัญหาที่แม่โจ้” ในเบื้องต้นผู้ว่าฯ บอกว่าติดภารกิจไม่สามารถมาได้ กระทั่งคืนวันเดียวกัน ไปเห็นข่าวในโทรทัศน์ว่า ผู้ว่าฯ ไปเปิดงานแข่งขันกอล์ฟ ต้องบอกว่าอารมณ์นั้น “เดือด” ขึ้นมาทันที และในเช้าวันรุ่งขึ้น ตนเองจึงประกาศผ่านเสียงตามสาย หยุดเรียนแล้วมารวมตัวกัน ซึ่งทุกคนก็สามัคคีกันวางตำราและอุปกรณ์การเรียน ระดมกำลังกันได้พันกว่าคน ปิดถนนบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยไม่ให้รถสัญจรผ่านได้โดยหวังส่งเสียงให้ถึงภาครัฐ
“พอปิดถนน รถผ่านไม่ได้ก็เดือดร้อน ตำรวจก็มาเป็นตับเลย สุดท้ายผู้ว่าฯ ขอเจรจาด้วย แล้วปรากฏว่าสิ่งที่ผมเรียกร้องทั้งหมดเสร็จเลย ผมประท้วงยังไม่เสร็จเลยนะไฟแสงจันทร์จากการไฟฟ้าฯมาติดให้ เอารถคันสีส้มของการไฟฟ้าฯมาติดไฟแสงจันทร์ให้ เสกให้ได้เลย ตำรวจเอาป้อมจราจรมาตั้ง แล้วทางหลวงก็เริ่มเอารถมาเกรดทาง เพราะสมัยก่อนทางเท้ามันขรุขระ สมัยก่อนนักศึกษาแม่โจ้ไม่ได้ร่ำรวยนะ ปั่นจักรยาน พอมาปั่นบนถนนรถก็ชนไงพอทางหลวงมาเกรดทางเท้าให้ดี ทุกคนก็มาใช้ทางเท้าลดอุบัติเหตุไปได้เยอะแยะ” ศรีสุวรรณ กล่าว
จากประสบการณ์ในครั้งนั้น บวกกับการไปทำงานในฐานะภาคประชาสังคม (NGO) หลังเรียนจบใหม่ๆ พี่ศรี เห็นว่า “มีแค่ปริญญาใบเดียวไม่มีทางสู้กับหน่วยงานของรัฐได้” จึงไปลงเรียน ป.ตรี นิติศาสตร์ ที่ ม.รามคำแหง ตามด้วย ป.โท ด้านสิ่งแวดล้อม ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กระทั่งจบ ป.เอก ด้านนโยบายสาธารณะ (Public Policy Management) ที่ ม.เกษมบัณฑิต “ที่ไม่เคยโปรโมทว่าตนเองเป็นดอกเตอร์ เพราะอยากให้อวดกันที่ผลงานมากกว่า”และจริงๆ แล้ว “เหตุที่เรียนก็เพื่อให้ตนเองแข็งแกร่งขึ้น” ชนกับผู้มีอำนาจได้อย่างไม่ต้องกลัว
ในการเคลื่อนไหวในนามภาคประชาสังคม ในช่วงแรก ศรีสุวรรณ เลือกประเด็น “สิ่งแวดล้อม” เป็นแกนหลัก เป็นที่มาของการก่อตั้งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ช่วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสู้ทางกฎหมาย จนมีชื่อเสียงครั้งแรกจากกรณี “ฟ้องศาลปกครองให้ระงับ 76 โครงการในมาบตาพุด” ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองในปี 2552 เพราะพบว่าโครงการขาดกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ใช้กันอยู่ในขณะนั้น โดยอ้างว่ายังไม่มีกฎหมายลูกรองรับ
“ผมบอกไม่ได้! รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บทถ้าออกมาบังคับใช้แล้วคุณต้องปฏิบัติทันที ศาลตัดสินว่าต้องใช้ทันที เท่านั้นล่ะ 76 โรงงานถูกสั่งปิดหมดนักลงทุนจากทางญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน ยุโรป ร้องกันระเบ็งเซ็งแซ่หมด รัฐบาลช่วงนั้น ท่านอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น) ก็เลยตั้งท่านอดีตนายกฯ อานันท์ปันยารชุน มาเป็นประธานในการรีบเร่งออกระเบียบมารองรับแล้วทางนั้นก็กลับมาทำ EIA อันนี้เป็นอานิสงส์ที่ผมทำไว้” ศรีสุวรรณ เล่าย้อนถึงการต่อสู้ในคดีประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของวงการสิ่งแวดล้อมไทย
ส่วนการเกิดขึ้นของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยพี่ศรี เล่าว่า ตนเองกับเพื่อนๆ ได้ไปเรียนหลักสูตรผู้บริหารพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่สถาบันพระปกเกล้า จึงคิดว่าน่าจะมีการตั้งองค์กรหนึ่งมาเพื่อยึดโยงเพื่อนๆ ในกลุ่มเวลาทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน ครั้งนี้ตนเองไม่ได้เป็นนายกเหมือนสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แต่เพื่อนก็ยังอุตส่าห์ดึงมาทำงานเป็นเลขาธิการ “ด้วยคำว่าพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างกว้างขวาง”ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ เพราะรัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุดที่เขียนไว้ครอบคลุมทุกเรื่อง
กับคำถามว่า “พี่ศรีเลือกข้างหรือไม่?” ก็ต้องบอกว่า “ร้องหมดทุกฝ่าย” ดังผลงานเช่น “พรรคอนาคตใหม่” กรณีเงินกู้ จนไปถึงขั้น “ยุบพรรค” ในเดือน มี.ค. 2563 หรือกรณีของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาอ้างถึงในการปราศรัยหาเสียงทางการเมือง จนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออกโรงทำหนังสือเตือน ช่วงเดือน มี.ค.2566 ไปจนถึงการ “ชงให้เชือด” นักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายมาแล้วหลายรายจากหลายพรรค
จากการเดินสายร้องเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า จึงไม่เกินความคาดหมายว่าจะต้องมีผู้ “ไม่พอใจ” โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ “อุณหภูมิการเมืองระอุ” สังคมแบ่งสี-เลือกข้างขัดแย้งแตกแยกกันมานานนับสิบปี จนทำไปสู่การที่ ศรีสุวรรณ ถูกทำร้ายร่างกายต่อหน้าสื่อถึง 2 ครั้ง โดย “ครั้งแรก” เกิดเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 มูลเหตุเกิดจากการที่ตนเองไปยื่นเรื่องต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) กรณีบันทึกการแสดงสด “เดี่ยวไมโครโฟน” ของ โน้ส-อุดม แต้พานิช นักพูดชื่อดัง
ซึ่งต้องย้ำว่า “ตนเองไม่มีปัญหาอะไรกับการวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ประเด็นที่ตนติดใจคือ บันทึกการแสดงสดดังกล่าวที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ คำพูดบางส่วนของ โน้ส-อุดมมีเนื้อหาเหมือนสนับสนุนให้คนออกไปชุมนุมประท้วงบนท้องถนนซึ่งอาจเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น จึงเห็นว่าไม่ถูกต้อง” อีกทั้งระหว่างนั้นก็มีการจัดชุมนุมประท้วงมาตลอด ตนเองก็บอกว่าใครไปชุมนุมตนจะไปแจ้งความจับ นำไปสู่การที่อีกฝ่ายที่ไม่พอใจ แฝงตัวเข้ามาในกลุ่มผู้สื่อข่าว โดยทำทีเหมือนถืออุปกรณ์เตรียมจะสัมภาษณ์
“ทำตัวเป็นนักข่าว จี้ไมค์สัมภาษณ์ผม แต่ทำไมยืนอยู่ไกลๆแล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาใกล้ๆ ผมก็เริ่มผิดสังเกต พอมาถึงระยะชกเขาก็เอื้อมชกผมเลย ผมก็เลยไปปัดป้องได้ จริงๆ ถ้าผมจะสวนหรือเอานะ ไม่คณามือหรอก ไม่ได้คุยนะ เรามันเด็กแม่โจ้ เด็กเกษตร แต่ผมรู้อยู่แล้วว่าถ้าผมสวนหรือไปทำร้ายร่างกายเขา มันจะกลายเป็นเหตุทะเลาะวิวาทมันก็คือเสียหายทั้ง 2 ฝ่าย ตำรวจก็ปรับทั้งคู่ ผมก็เลยปกป้องตัวเองแต่ไม่ได้สวนกลับ ก็เลยกลายเป็นคดีทำร้ายร่างกาย” พี่ศรีเล่าวินาทีถูกทำร้ายโดยไม่ทันตั้งตัว
สำหรับคดีนี้ ศาลตัดสินจำคุกคู่กรณี 15 วัน โดยไม่รอลงอาญา แต่ล่าสุดคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ส่วน “ครั้งที่สอง” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2566 เมื่อ ศรีสุวรรณ เดินทางไปร้องเรียนกับ กกต. เรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย แล้วถูกคนบุกเข้ามาตบ ซึ่งตนเองเห็นว่านโยบายนี้จะส่งผลต่อการเงินการคลังของประเทศ เพราะต้องใช้งบประมาณถึง 5.6 แสนล้านบาท จึงอยากให้ กกต. ตรวจสอบว่านโยบายแบบนี้ใช้ได้หรือไม่ จึงไม่น่าจะต้องการโกรธกัน คดีนี้ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาและมีโทษปรับ โดยคดีนี้อีกฝ่ายไม่อุทธรณ์
กลับมาที่เรื่องการเมือง ล่าสุดนอกจากพรรคเพื่อไทยกับโครงการแจกเงินดิจิทัลแล้ว ยังมีคดีของ “พรรคก้าวไกล” ที่พยายามผลักดัน “ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)” แต่หากไปดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 52 ระบุว่า รัฐมีหน้าที่ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน และตามกฎหมายพรรคการเมืองก็กำหนดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เตือนพรรคการเมืองให้ยุติการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
อีกทั้ง รธน.60 มาตรา 49 ยังระบุให้บุคคลที่เห็นว่ามีการกระทำที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สามารถร้องเรียนให้อัยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่หากอัยการไม่ส่ง บุคคลนั้นก็สามารถไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็จะนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่ง กอ.รมน. เป็นหน่วยงานกลางที่ประสานกับทุกหน่วยงานเพื่อรกษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย
ทั้งนี้ ศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า “แนวคิดให้ยุบ กอ.รมน. มาจากการเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่?” โดยก่อนหน้านี้มีการจัดเสวนาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ที่บางช่วงมีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อประเด็น “การแบ่งแยกดินแดน” และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) คนหนึ่งของพรรคก้าวไกลไปร่วมอยู่ในงานด้วย
“ทำไมต้องเป็นศรีสุวรรณ? หลายคนอาจจะไม่กล้าก็ได้ คิดได้เหมือนผม อาจจะมากกว่าผมด้วยซ้ำไปแต่ไม่กล้าอีกอย่างทำไปแล้วกลัวจะถูกสวน กลัวถูกทัวร์ลง กลัวถูกฟ้องกลับอะไรประมาณนี้ แต่ผมไม่กลัวอยู่แล้ว เห็นไหมสมัยผมแย้งตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ชัชชาติ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ทัวร์มาลงเยอะแยะ ผมบอกจะไปสนใจอะไร
ทัวร์ก็แค่อยู่ในคอมพิวเตอร์ ผมไม่เปิดมือถืออ่าน พวกคุณมันจะเป็นทัวร์มาลงศรีสุวรรณได้อย่างไร ก็ผมไม่สนใจพวกคุณ แต่ไม่เคยมีมาเยี่ยมที่บ้าน บ้านผมเป็นหมู่บ้านจัดสรร มีรั้วมี รปภ. ดูแล ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับคนชื่อศรีสุวรรณเลยคุณมีความเห็นอย่างไร มีช่องทางอะไรคุณก็ไปดำเนินการ ก็เท่านั้นเอง นี่แหละคือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง”ศรีสุวรรณ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี