ผู้ว่าฯนครพนม พร้อมวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม นายอำเภอท่าอุเทน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจรอยร้าว "พระธาตุโนนตาล" หวั่นไม่ปลอดภัย ห้ามสาธุชน ชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ กรมศิลปากรของบซ่อมแซม
หลังจากมีการพบรอยร้าวที่รอบองค์พระธาตุโนนตาล ตั้งอยู่ภายในวัดพระธาตุ หมู่ 9 บ้านธาตุ ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอำเภอท่าอุเทน โดยกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีอายุเก่าแก่กว่า 120 ปีภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และวัตถุโบราณไว้จำนวนมาก มีขนาดความสูง 36 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 7.50 เมตร ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้องค์พระธาตุเกิดรอยร้าว อาทิ ความชื้นที่สะสมอยู่ภายใน และอาจได้รับการกระทบกระเทือนจากรถบรรทุกหนัก เนื่องจากองค์พระธาตุตั้งอยู่ใกล้ถนนทางหลวงชนบท หมายเลข นพ.3014 ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.66 ที่ผ่านมา นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนางยุวดี มีบุญ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม นายปรีชา สอิ้งทอง นายอำเภอท่าอุเทน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ารอบองค์พระธาตุมีรอยร้าวจริงคาดเสื่อมสภาพตามกาลเวลา โดยจากการประสานกับนายธนภัทร จิตสุทธิผล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี ทำให้ทราบว่าเบื้องต้นได้ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจ และดำเนินการติดตั้งเหล็กแบนไว้รอบองค์พระธาตุ โดยใช้ลวดสลิงรัดรอบองค์พระธาตุ ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.66 ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันรอยร้าวที่อาจจะมีเพิ่มเติม เนื่องจากกังวลว่าหากมีฝนตกลงมา แล้วน้ำจะไหลซึมเข้าไปตามรอยร้าวสู่ด้านในของตัวองค์พระธาตุ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นพระธาตุโนนตาล ก็อาจจะมีการยุบตัวลงมาได้
ส่วนการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพ ด้านนอกองค์พระธาตุโนนตาล ไม่มีความเอียงยังคงตั้งตรงปกติ แต่กายภาพด้านในไม่สามารถประเมินได้ แต่ก็ได้มีการประสานไปยังกรมศิลปากร เพื่อขอการสนับสนุนวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ นำเครื่องมือเฉพาะทางมาตรวจสอบให้ละเอียดอีกครั้ง โดยทางวิศวกรจะมีการออกแบบและประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบูรณะ ให้กลับมามีความสมบูรณ์เช่นดังเดิม ซึ่งเบื้องต้นได้มีการทำเรื่องของบประมาณในปี 2568 มาใช้ในการซ่อมบำรุงตามสถานการณ์ปัจจุบันไว้แล้วเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นก็ได้มอบหมายให้นายอำเภอท่าอุเทนได้ประกาศแจ้งเตือนชาวบ้าน พุทธศาสนิกชน ห้ามเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตราย
สำหรับลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระธาตุโนนตาล เป็นเจดีย์ทรงมณฑป ยอดบัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนม ระยะก่อนที่จะมีการบูรณะในปี 2483 สร้างก่ออิฐถือปูนในผนังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประกอบด้วยห้องมณฑปซ้อนกัน 2 ชั้น ในตอนกลางแต่ละด้านของแต่ละชั้นเป็นซุ้มประตูเลียนแบบพระธาตุพนม บริเวณมุมส่วนมณฑปประดับปูนปั้นรูปบุคคลขี่พาหนะที่เป็นสัตว์ เหนือมณฑปเป็นฐานบัวทองไม้ลูกฟักในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ ที่แต่งลายปูนปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงกัน ตอนกลางแต่ละด่านจะเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ด้านหน้าปิดไว้ด้วยกระจกใสเหนือขึ้นไปเป็นชั้นบัวสี่เหลี่ยม ตกแต่งด้วยปูนปั้นลายดอก รอยสลับกับการประดับกระจกสีเหลี่ยม ปลียอดเป็นบัวสี่เหลี่ยมประดับยอดฉัตร
นอกจากนี้ด้านทิศเหนือองค์พระธาตุ ยังมีโบสถ์หรือที่ชาวอีสานเรียกสิมตั้งอยู่ ภายในมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนทาสีทอง ประทับนั่งปางมารวิชัย จำนวน 3 องค์ ประดิษฐาน ไว้ให้ทุกคนได้มากราบไหว้บูชา สำหรับเอกลักษณ์ของวัดพระธาตุโนนตาล คือพระธาตุเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางรูปแบบจากพระธาตุพนม และสิมทรงพื้นถิ่นอีสานในระยะปลายพุทธะศตวรรษที่ 25 ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 จากกรมศิลปากร - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี