“รูมาตอยด์” หรือ “โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)” เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติจนไปทำลายเยื่อบุข้อ ทำให้เกิดภาวะอักเสบบวมตามข้อต่อต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวดบริเวณข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อเข่าและข้อเท้า อาการฝืดตึงไม่สามารถขยับข้อต่อบริเวณนั้นได้สะดวก (เช่น การกำมือ) โดยเฉพาะในช่วงตื่นนอนตอนเช้า และหากปล่อยไว้นานไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ถึงขั้นพิการได้
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มูลนิธิรักษ์ข้อแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี และชมรมผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ จัดงาน “เสวนาประสาคนไข้และคุณหมอรูมาตอยด์ เรื่อ อยู่อย่างไม่ทุกข์และสุขด้วยกำลังใจ” ที่ห้องประชุมชั้น 11 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา รพ.ราชวิถี โดยมี ผศ.นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์ ประธานชมรมผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดารานักร้อง - นักแสดงชื่อดัง รวมถึงยังเป็นนักกีฬากอล์ฟ อ่ำ - อัมรินทร์ นิติพน บอกเล่าประสบการณ์ใช้ชีวิตอยู่กับโรครูมาตอยด์ อีกทั้งตอนแรกที่เริ่มมีอาการยังเข้าใจว่าเป็น “โรคเกาต์ (Gout)” ซึ่งเป็นเพราะคนในครอบครัวเป็น จึงเข้าใจว่าตนก็คงเป็นด้วยเหตุทางกรรมพันธุ์ ทำให้ยังไม่ไปพบแพทย์ แต่ใช้วิธีดูแลตนเองตามที่ศึกษาหาความรู้มา เช่น การงดกิน “ของแสลง” หมายถึงอาหารที่ทำให้โรคกำเริบขึ้น อาทิ ไก่ เครื่องในสัตว์ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น แม้กระทั่งเข้าใจว่าเป็นอาการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ แต่ถึงจะหยุดเล่นไปก็ยังมีอาการปวดทิ่มข้อลงเข่า – ลงเท้า
“ไปหาหมอ เสร็จแล้วมันไม่หาย หมอให้ทานยาแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น อาการมันเริ่มหนักขึ้นๆ เราก็ยังคิดว่าเราเป็นเกาต์ เราจะรักษาตัวเองด้วยการไม่กินยาและลดพวกของแสลงอย่างเดียว มุ่งไปทางรักษาตัวเอง เราก็มุ่งไปตรงนั้นแต่มันก็หนักขึ้นๆ หนักจนขยับไม่ได้ ตื่นมาเพราะความปวด หลับไปเพราะว่าความปวดมาก บางคืนถึงขนาดรุ่งสางยกมือไหว้ท่วมอกตัวเองที่นอนอยู่ บอกว่าเจ้ากรรมนายเวรขอปล่อยข้าฯ ไปเถอะ อย่าอาฆาตอะไรกันเลยคิดแบบนั้นเพราะเราชาวพุทธ มีโรคเวรโรคกรรมเจ้ากรรมนายเวรอะไรมา” อ่ำ - อัมรินทร์ เล่าถึงความทรมานจากอาการป่วย
ดาราดังท่านนี้ เล่าต่อไปว่า เวลานั้นสภาพจิตใจคิดไปว่าตนคงใกล้ตายแล้ว แต่ต่อมาก็รู้สึกอยากมีชีวิตอยู่ต่อเพราะมีอะไรหลายอย่างที่ยังอยากทำ เริ่มทำความเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและให้กำลังใจตนเอง พร้อมไปกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการงดกินของแสลง เลิกสูบบุหรี่ ดื่มให้น้อยลงและพักผ่อนให้มากขึ้น รวมถึงค่อยๆ ฟื้นฟูร่างกาย เริ่มตั้งแต่การเดิน “ในวันแรกที่กลับมาเดินได้ครบ 1 กิโลเมตร วันนั้นดีใจมาก” จากนั้นก็เริ่มวิ่งเหยาะๆ ได้ ร่างกายค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ จากที่เคยมือตึงก็กลับมากำมือได้
แต่แล้วก็ทำให้ได้รู้ว่า “อาการที่เป็นอยู่ไม่ใช่เกาต์..แต่เป็นรูมาตอยด์” โดยเริ่มจากการที่ชมรมผู้ป่วยโรคเกาต์เชิญไปเล่าประสบการณ์และวิธีการดูแลสุขภาพ จากนั้นก็มีแพทย์มาตรวจ เมื่อทราบผลวินิจฉัยก็เครียดไม่น้อยเพราะรู้ว่าโรครูมาตอยด์น่ากลัวกว่าโรคเกาต์ และเมื่อไปตรวจที่อีกโรงพยาบาลหนึ่งก็ได้รับการยืนยันว่าป่วยเป็นโรครูมาตอยด์จริงๆ แต่ก็ยอมรับว่าตนเป็นคนไข้ที่ไม่ดีนัก เพราะไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นว่าอาการดีขึ้นใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทุกอย่างก็หยุดยาเอง แต่จนถึงปัจจุบันผ่านมาหลายปีแล้วก็ไม่มีอาการแบบรุนแรงกำเริบขึ้นอีก
“วันนี้มันอาจจะสงบลงเหมือนกับภูเขาไฟที่มันระเบิดตูมไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว แล้วมันค่อยๆ สงบลง เราใช้ชีวิตปกติได้ก็เอาแล้ว แต่ถ้ามันมีวิธีการที่มันจะนิ่งมากกว่านี้ ตอนนี้ตีกอล์ฟอยู่ ซ้อมไปเยอะๆ ตื่นเช้ามามีอาการตึงแต่มันก็จะลงเร็ว ก็จะคลายเร็วหน่อย ก็พอได้ทราบว่ามีตัวยาอะไรดีๆ และมีผลข้างเคียงที่จะไปทำร้ายอวัยวะส่วนต่างๆ ข้างในมันน้อยลง ผ่านการทดสอบการวิจัยมาเป็นอย่างดี คิดว่าคงต้องกลับมาให้มันรู้เรื่องอีกที” อ่ำ - อัมรินทร์ กล่าว
ด้าน พ.อ.พญ.รศ.สุมาภา ชัยอำนวย หัวหน้าแผนกโรคข้อและรูมาติสซั่ม กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วิเคราะห์กรณีของ อ่ำ – อัมรินทร์ ว่า “ไม่ใช่ผู้ป่วยรูมาตอยด์ทุกคนที่ต้องได้รับยา” โดยจะมีการประเมินจาก 4 ด้าน คือ 1.การบวมของข้อ 2.อาการเจ็บปวดตามข้อ 3.ค่าอักเสบ (เช่น ค่า ESR , ค่า CRP ซึ่งได้จากการตรวจเลือด) และ 4.ความรู้สึกของคนไข้ (ความทุกข์ที่ผู้ป่วยรู้สึกเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรครูมาตอยด์ เช่น ปวดเล็กๆ น้อยๆ พอทนได้ หรือปวดมากจนทนไม่ได้) หากประเมินแล้วเข้าเกณฑ์โรคกำเริบก็จะวินิจฉัยให้ผู้ป่วยรักษาด้วยยา
“ยามีข้อมูลมาแล้วว่าถ้าเราทานมันจะลดการพิการ ซึ่งความพิการเขาดูจากภาพถ่ายเอกซเรย์ ว่าโรครูมาตอยด์มันจะทำให้ข้อแคบ ข้อติดและกระดูกกร่อน พอมันกร่อนไปเรื่อยๆ ก็จะเริ่มเอียงบิดๆ เบี้ยวๆ ยาต้องมีการศึกษามาแล้วว่ามันสามารถช่วยไม่ใช่แค่แก้ปวด ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ยารักษาโรคแต่เป็นยาตามอาการ แต่ถ้ายาที่เราถือว่ารักษาโรคได้มันจะต้องสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงทางเอกซเรย์
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเอกซ์เรย์ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่หากเกิดขึ้นแล้วมันจะไม่ย้อนกลับ ถ้าเราคิดว่าปล่อยให้มันเป็นแล้วเกิดบิดเบี้ยวไปแล้วมันไม่กลับคืน คุณอ่ำอาจจะไมได้บวมเยอะแล้วก็ทำให้เกิดค่าอักเสบและยังมีความรู้สึกดี ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องกินยาได้ แต่คืออย่างน้อยเรามีหลักการว่าเราจะตามห่างๆ 6 เดือน หรือปีละครั้งก็ได้ ก็ควรพบหมอตรวจบ้าง” พ.อ.พญ.รศ.สุมาภา กล่าว
พ.อ.พญ.รศ.สุมาภา กล่าวย้ำว่า หากเทียบกับเมื่อ 30 ปีก่อน ผู้ป่วยรูมาตอยด์ในปัจจุบันถือว่าดีกว่ามากเพราะในอดีตมียาที่ใช้รักษาเพียง 1 - 2 ตัวเท่านั้น ในขณะที่ ณ ปี 2566 มียาให้ใช้มากขึ้นและยามีความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนั้นสำหรับกรณีประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ “ยารักษาโรครูมาตอยด์ถูกบรรจุเข้าอยู่ในทุกสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย” ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อมูลยังพบว่าอัตราการตายของผู้ป่วยรูมาตอยด์ใกล้เตียงกับของคนปกติมากขึ้น ไม่ได้อายุสั้นเสียชีวิตเร็ว ดังนั้น ขอให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและติดตามดูอาการ
อนึ่ง ปัจจุบันยังไม่มีการระบุชัดว่าอะไรคือสาเหตุของโรครูมาตอยด์ แต่สำหรับ “การลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรครูมาตอยด์” พ.อ.พญ.รศ.สุมาภา แนะนำว่า 1.งดสูบบุหรี่ เพราะมีผลการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลง Genetic ทำให้ยีนสร้างโปรตีนในลักษณะที่ผิดปกติไป และนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงป่วยแล้ว การสูบบุหรี่ยังทำให้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย (บุหรี่ไฟฟ้าก็ต้องงดสูบเช่นกันหากมีสารแบบเดียวกับบุหรี่มวน เช่น นิโคติน ทาร์)
กับ 2.ดูแลสุขภาพช่องปาก เพราะมีข้อค้นพบว่า ภาวะเหงือกอักเสบเป็นเหมือนมีการอักเสบอยู่ในร่างกายตลอดเวลา และเม็ดเลือดขาวก็ถูกกระตุ้นตลอดเวลา ขณะที่เชื้อแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดเหงือกอักเสบไปเปลี่ยนแปลงโปรตีน ทำให้ร่างกายเห็นข้อเป็นโปรตีนที่ทำให้เหมือนเป็นรูมาตอยด์ ทั้งนี้“รูมาตอยด์เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งผู้ป่วยจะใช้ยาเพื่อกดภูมิ จึงต้องระวังเชื้อโรคลงปอดง่ายขึ้น” จึงต้องรักษาแนวปฏิบัติสุขอนามัยที่คุ้นเคย เช่น สวมหน้ากากปิดปาก - จมูก ล้างมือให้สะอาด และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี