เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงกระแสการผุดโครงการ “สกายวอล์ก (Sky Walk) พื้นกระจก” หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบันนานาประเทศหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพราะเป็นกลไกเสริมสร้างรายได้และภาพลักษณ์ของประเทศ ขณะที่สกายวอล์กมีความเป็นมาดั้งเดิมเป็นแบบสะพานลอยฟ้าที่มุ่งอำนวยความสะดวกปลอดภัยแก่คนเดินเท้าไม่ต้องเผชิญกระแสจราจรหรือได้ชมวิวธรรมชาติ
โดยสกายวอล์กเริ่มต้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 พบได้ในหลายเมืองของอิตาลี ต่อมามีกระแสความนิยมสร้างพื้นเป็นกระจกใส ทั้งในแบบระเบียงอาคาร และ สะพานสกายวอล์ก เพื่อเพิ่มประสบการณ์แปลกใหม่และความสะดวกสบาย ลดความแออัดและเสียงรบกวนจากการจราจร รวมถึงให้นักท่องเที่ยวได้ชมทัศนยีภาพและสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนครองสถิติสกายวอล์กพื้นกระจกยาวที่สุดในโลก 430 เมตร
อย่างไรก็ตาม จากเหตุนักท่องเที่ยวตกสะพานพื้นกระจกของ The Geong ที่ระดับความสูงประมาณ 15 เมตร ในเขตป่าสนลิมปาคูวัส ในเมืองบันยูมาส ทางตอนใต้ของชวากลาง อินโดนีเซีย โดยพบว่ากระจกนิรภัยแผ่นใหญ่ที่มีความหนา 1 เซนติเมตร แตกร่วงลงไป 1 แผ่น ขณะเกิดเหตุมีเสียงดังคล้ายระเบิด ก่อนที่จะมีเสียงกระจกแตก ทำให้มีนักท่องเที่ยวร่วงลงเสียชีวิต 1 ราย เบื้องต้นสันนิษฐานว่าสาเหตุอาจเพราะกระจกบางเกินไป ต่ำกว่ามาตรฐานการใช้งาน คุณภาพของกระจกแข็งแรงไม่เพียงพอ ทำให้นักท่องเที่ยวร่วงลงไป ก็ได้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยขึ้น
ทั้งนี้ มีคำถามถึงการใช้กระจกมาทำพื้น ได้แก่ 1.กระจกสามารถนำมาทำเป็นพื้นอาคารที่ยื่นออกไปตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป หรือทำพื้นสะพานสกายวอล์กได้หรือไม่? โดยปกติแล้วเราสามารถนำกระจกมาทำเป็นพื้นในลักษณะโครงสร้างสูงจากพื้นราบเท่าไรก็ได้ เช่น พื้นอาคารที่ยื่นออกไปตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไป พื้นสะพานลอยฟ้าได้โดยสเปกของกระจกต้องได้รับข้อมูลทางการตลาดประมาณการผู้ใช้บริการ และการกำหนดจากการคำนวณทางวิศวกรรม ว่าพื้นกระจกนั้นต้อง ‘รับแรง หรือน้ำหนักบรรทุก’ เท่าใด ทั้งจำนวนคน เครื่องจักรที่ใช้บริการและบำรุงรักษาสถานที่ แรงลม
“โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเปิดรับทางลมประจำถิ่นหรือพายุ สัตว์ใหญ่ที่อาจเดินหลงเข้ามา ต้องวิเคราะห์ด้วยว่า ลักษณะของแรงเป็นแรงกระจาย (Distributed Load) เป็นแรงแบบจุด (Pointed Load) เมื่อประมวลข้อมูลแรงและลักษณะแรงที่กระทำกับกระจก วิศวกรจะคำนวณหาขนาดของโครงสร้างที่จะรับน้ำหนักกระจกแบบมั่นคงไม่สั่นไหว คำนวณความหนาของกระจกที่ต้องใช้” รศ.สุพจน์ กล่าว
รศ.สุพจน์ กล่าวต่อไปว่า คำถามต่อมา 2.มีความเสี่ยงอื่นๆ อะไรบ้างที่ควรเตรียมรองรับ? ในการปูพื้นกระจกจะรองรับด้วยประเก็น ซึ่งทำจากวัสดุคุณภาพสูงที่แข็งแกร่งแต่ยืดหยุ่น ยาด้วยวัสดุ Structural Silicone ในยุคที่เราเผชิญกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและอุณหภูมิความร้อนที่สุดขั้วจากภาวะโลกร้อน ก็ควรมี Facter Safety เผื่อสัดส่วนความปลอดภัย หรือการรับแรงที่ 2.5 เท่า ทั้งนี้ในพื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อผลกระทบจากแผ่นดินไหว ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำคู่มือการก่อสร้างในพื้นที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหว ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งจะระบุว่าจังหวัดใดต้องเผื่อเท่าได
3.ชนิดกระจกแบบไหนที่เหมาะใช้งาน? สำหรับผนังอาคารที่ปะทะความร้อนและรับแรง ราวกระจก บานประตูหน้าต่างที่มีฟิตติ้งจับ ขั้นต่ำควรเป็น “กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)” ซึ่งเป็นการนำกระจกธรรมดาไปผ่านการอบความร้อน 650 องศาเซลเซียสและเป่าลมแรงดันสูงให้เย็นลงทันที ทนต่อแรงกระทบมากกว่ากระจกธรรมดา 3 -5 เท่า ทนความร้อนได้สูง 290 องศา กรณีแตกหักก็จะแตกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพดและไม่มีคม อันตรายน้อยกว่า
ส่วนกระจกอีกแบบหนึ่งที่อบความร้อนสูงกว่า คือ “กระจก Heat-Strenghten Laminate Glass” ส่วนความหนาขึ้นอยู่กับแรงกระทำและช่วงห่างของโครงรองรับ ทั้งนี้ สำหรับชนิดกระจกในการทำพื้นสะพานสกายวอล์ค ควรใช้ “กระจกนิรภัยลามิเนต (Laminated Glass)” เป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น ซึ่งเกิดจากการนำกระจก 2 แผ่นขึ้นไปประกบเข้าหากันโดยมี “แผ่นฟิล์มนิรภัย” ที่นิยมใช้มี 2 แบบ
คือ ฟิล์ม PVB (Poly Vinyle Butyral) คั่นกลางยึดกระจกไว้ เหมือนใยแมงมุม ความหนาของฟิล์มนี้มีตั้งแต่ 0.38 ม.ม. จนถึง 1.52 ม.ม. หรือ ฟิล์มชนิด SGP (Sentry Glass Plus) คุณภาพแข็งแรงกว่า PVB 100 เท่า โดยมีจุดเด่น คือ หากแตก กระจกจะไม่ร่วง ยังเป็นแผ่นอยู่ มีความแข็งแรงมากขึ้น ไม่ว่าสิ่งใดตกกระทบ จะไม่สามารถผ่านทะลุได้ ทนต่อความเปียกชื้น มีความปลอดภัยสูงกว่า อายุการใช้งานยาวนาน
4.ปัจจัยการเสื่อมสภาพของกระจกสกายวอล์คมีอะไรบ้าง? อุณหภูมิ มีผลต่อการเสื่อมสภาพ หรือแตกร้าวของกระจกโดยตรง แต่ถ้าเลือกใช้ชนิดของ‘กระจกลามิเนต (Laminated Glass) และขนาดความหนาให้ถูกต้อง ก็สามารถต้านทานอุณหภูมิร้อนได้สูงมาก โดยแผ่นกระจกชิ้นล่างสามารถใช้ Tempered Laminate ส่วนแผ่นผิวบนใช้ ‘กระจก Heat-Strenghten Laminate Glass
“ข้อควรระวังคือ หลายโครงการเรียกช่างกระจกที่คุ้นเคยมาทำ เจ้าของโครงการควรใช้หลักวิศวกรรมนำทาง ให้วิศวกรด้านกระจกเป็นผู้คำนวณกระจก วิศวกรโครงสร้างคำนวณโครงสร้างวิศวกรโยธาคำนวณระบบฐานราก ต้องไม่กะเอาเอง ดูแลการติดตั้งกระจกให้เป็นไปอย่างมาตรฐาน ด้านความยาวทั้งหมดของโครงสร้างสะพานสกายวอล์ก ควรแบ่งเป็นช่วงๆเพื่อให้โครงสร้างให้เป็นอิสระกัน และนำมาชนต่อกัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยกรณีกระจกเสียหายจะได้ไม่ลุกลามเกี่ยวเนื่องกัน” รศ.สุพจน์ ระบุ
รองอธิการบดี สจล. ยังกล่าวอีกว่า มีอีกคำถามหนึ่งคือ 5.บริหารจัดการความปลอดภัยสกายวอล์กพื้นกระจก /บำรุงรักษา อย่างไร? ควรสร้างระบบควบคุมจำนวนคนที่จะเดินบนสกายวอส์กกระจกอย่างเข้มงวด ตามพิกัดรับน้ำหนักบรรทุกที่กำหนดไว้ อาจแบ่งกลุ่มผู้เข้าชมพื้นที่เป็นกลุ่มย่อย เช่น เมื่อกลุ่มแรกเดินเข้าไปครึ่งทาง ปล่อยกลุ่มที่สองตามไป จะช่วยกระจายน้ำหนัก ขณะที่ผู้เข้าชมให้งดใส่รองเท้าส้นสูง ส้นแหลม เดินบนพื้นกระจก ห้ามกระโดดโลดเต้นบนพื้นกระจก มีทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนและมีความรู้ความรู้ในตรวจสอบความปลอดภัย
“ระวังน้ำและน้ำมันบนพื้นกระจกที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุลื่นไถลได้ ตรวจดูแผ่นประเก็น ขอบกระจกให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ หลายอุปกรณ์ต้องเปลี่ยนตามอายุใช้งาน เช่น ซิลิโคน น็อตยึด ตรวจสอบระบบไฟฟ้าสม่ำเสมอ เพื่อให้ประสบการณ์ท่องเที่ยวไทย เปี่ยมด้วยความสนุกประทับใจพร้อมความมั่นใจและปลอดภัยแก่ผู้มาเยือน” รศ.สุพจน์ กล่าวในตอนท้าย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี