ผู้ว่าฯกาญจนบุรียัน 'สกายวอล์ค' แข็งแรงทนทาน ขอให้นักท่องเที่ยวมั่นใจ
จากรณีเมื่อวันที่ 7 ม.ค.67 ที่ผ่านมา มีผู้ออกมาเขียนข้อความเกี่ยวกับสกายวอล์ค แต่ไม่ทราบที่มาว่าผู้เขียนนั้นเป็นใคร ซึ่งได้สร้างความกังวลใจให้ผู้คนได้ไม่น้อยโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว โดยระบุว่า "ผมเรียนจบวิศวกรรมอากาศยาน ตอนเรียนวัสดุศาสตร์ (Structural Matterial) จำได้ว่ากระจกเป็นวัสดุที่อาศัยแรงตึงผิว จึงรับแรงกดได้ไม่ดี รับได้แต่แรงเฉือน ในเครื่องบิน ส่วนที่เป็นกระจกจึงต้องอยู่ในตำแหน่งลู่ลมเท่านั้น อีกอย่างเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น โมเลกุลของกระจกขยายตัว แรงตึงผิวจะลดลง แม้ว่ากระจกจะหนา และรับแรงกดได้ระดับนึง ก็อาจแตกได้ เมืองไทยที่มีอากาศร้อนจึงไม่น่าจะไปสร้างสะพานกระจกไว้กลางแจ้ง
ผมเคยขึ้นมาสองแห่ง แห่งแรกที่จังหวัดเลย ตอนนั้นหน้าหนาวไม่ค่อยหวาดเสียวเท่าไหร่ แห่งที่สองที่กาญจนบุรี แห่งนี้เจออากาศร้อนจัด ขึ้นไปแล้วเสียวมาก คนก็เยอะ ยิ่งได้ยินเสียงกระจกลั่นยิ่งหวาดเสียว รีบลงแทบไม่ทัน พอมีข่าวว่าเกิดเหตุกระจกพื้นสกายวอล์คแตกที่อินโดนีเซียเมื่อเร็วๆนี้ ผมเลยตั้งใจว่าจะไม่ขึ้นสะพานกระจกที่ไหนอีกแล้ว บางท่านอาจไม่คิดว่า เหตุการณ์มันจะเกิดขึ้นกับตัว บางคนก็ชอบเสี่ยง ชอบผจญภัยและคลั่งไคล้ในความตื่นเต้น หวังว่าบทความนี้ คงจะให้ข้อคิดและเป็นประโยชน์บ้างต่ออีกหลายท่านที่คิดจะไปเดินชมวิวบนสกายวอล์คพื้นกระจกนะครับ" นั้น
วันนี้ (8 ม.ค.67) ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ออกมากล่าวถึงความแข็งแรงของสกายวอล์คจังหวัดกาญจนบุรีว่า ตนขอสร้างความเชื่อมั่นว่าสกายวอล์คจังหวัดกาญจนบุรีได้มาตรฐานเพราะใช้กระจกนิรภัยฮีทสเตร็งท์ หนา 8 มิลลิเมตรจำนวน 3 ชั้นโดยยึดกระจกแต่ละชั้นด้วยฟิล์มนิรภัยที่ช่วยในการยึดติดกระจกและรับแรงต่างๆ ซึ่งต่างจากกระจกที่เป็นข่าวในต่างประเทศจึงทำให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นยังคงมีฟิล์มนิรภัยและกระจกอีกสองชั้นรองรับอยู่ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโดยฉับพลันไม่มีผล ทำให้กระจกแตกร้าวหรือลั่นได้
โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาญจนบุรี ชี้แจงแล้วว่าจังหวัดกาญจนบุรีได้ออกแบบสกายวอล์คโดยใช้กระจกนิรภัยฮีทสเตร็งท์หนา 8 มิลลิเมตรจำนวน 3 ชั้น โดยยึดกระจกแต่ละชั้นด้วยฟิล์มนิรภัยที่ช่วยในการยึดติดกระจกและรับแรงต่างๆ ซึ่งต่างจากกระจกที่เป็นข่าวในต่างประเทศที่คาดว่าจะใช้กระจกเท็มเปอร์ หนา 10 มิลลิเมตรเพียงแผ่นเดียว ซึ่งกระจกประเภทนี้จะแตกเป็นเม็ดข้าวโพด กระจกจะแตกแล้วหลุดเป็นเม็ดร่วงลงพื้นได้ ซึ่งต่างจากของสกายวอล์คจังหวัดกาญจนบุรีที่เป็นกระจก 3 ชั้นพร้อมฟิล์มนิรภัย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันทำให้กระจกชั้นบนแตกร้าว ก็ยังคงมีฟิล์มนิรภัยและกระจกอีกสองชั้นรองรับอยู่
กระจกนิรภัยฮีทสเตร็งท์ เป็นการผลิตกระจกที่อุณหภูมิ 600 ถึง 800 องศาเซลเซียส ความร้อนปกติในอากาศที่ความสูงประมาณ 12 เมตร จากระดับพื้นซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วถือว่าน้อยมาก (อุณหภูมิความร้อนสะสมประมาณ 50 องศาเซลเซียส) ไม่มีผลต่อกระจก การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโดยฉับพลันไม่มีผล ทำให้กระจกแตกร้าวหรือลั่นได้คล้ายกระจกรถยนต์
นอกจากนี้ยังได้ออกแบบให้กระจกวางอยู่บนนอตั่นเทปซึ่งเป็นวัสดุคล้ายโฟมวางไว้โดยรอบเพื่อช่วยลดแรงกระแทกและการขยายตัวของวัสดุจากความร้อน จากเหล็กโครงสร้างถึงตัวกระจก แล้วทำการยาแนวด้วยซิลิโคลน เกรด A เพื่อป้องกันการขยายตัวของเหล็กโครงสร้างที่อาจมีส่งผลกระทบกับกระจกนิรภัย จึงมั่นใจได้ว่ากระจกสกายวอล์คจังหวัดกาญจนบุรี จะสามารถทนความร้อนได้เป็นอย่างดี ไม่ลั่นและแตกด้วยความร้อนอย่างที่เป็นข่าวและตามที่เราเคยแจ้งให้ทราบไปแล้วว่าเราได้ทำการทดสอบน้ำหนักการรับแรงของกระจกนิรภัยดังกล่าวที่ 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร กระจกนิรภัยยังสามารถรับน้ำหนักได้ดี
"แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดกาญจนบุรีขอให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมบรรยากาศบนสกายวอล์ค ปฏิบัติตามกฎที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามใส่รองเท้าส้นสูง ห้ามพกของที่มีโลหะหรือสิ่งที่มีคมที่เสี่ยงต่อการตกหล่นใส่กระจกสกายวอล์ค รวมถึงให้ยืนกระจายกัน ไม่จับเป็นกลุ่มที่หนาแน่นจนเกินไปและปฎิบัติตามนโยบายความปลอดภัยของเทศบาลเมืองกาญจนบุรี ก็จะทำให้การเที่ยวชมสกายวอล์คปลอดภัย" - 003
ภาพจากโยธาฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี