มข.วิจัย “กากต้นเฉาก๊วย” ผุดผลิตภัณฑ์ชีวมวลหนุนภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อยอดจนนำไปสู่การสร้างขยะหรือของเสียให้มีมูลค่าเพิ่ม จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอัดเม็ด และตัวดูดซับสารปนเปื้อนได้สำเร็จ ยกระดับจาก Zero waste ให้กลายเป็น Waste to value ได้สำเร็จ”
มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ภายใต้การอำนวยการของ รศ.นพ.ชาญชัยพาน ทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รายงานถึงสถานการณ์ ท่ามกลางความพยายามในการจัดการกับของเสียหรือขยะจากภาคอุตสาหกรรม นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่เพียงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้โจทย์ปัญหา Zero waste แต่ยังต่อยอดจนนำไปสู่การสร้างขยะหรือของเสียให้มีมูลค่า หรือ Waste to value ซึ่งเป็นเทรนด์ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกในขณะนี้ รศ.ดร.ยุวรัตน์ เงินเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ น.ส.ฉัตรลดา ไชยวงค์ นักศึกษาปริญญาโท และทีมนักศึกษาปริญญาตรี จึงได้จับมือกับเฉาก๊วยแบรนด์ดังอย่าง “เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง” นำกากต้นเฉาก๊วยซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการผลิตที่ถูกฝังกลบทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ปีละหลายพันตันมาเพิ่มมูลค่าจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงอัดเม็ด
รศ.ดร.ยุวรัตน์ เงินเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “ทีมวิจัยของเรานับเป็นที่แรกของโลกที่นำกากต้นเฉาก๊วยมาสร้างเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ดและตัวดูดซับสารปนเปื้อนได้สำเร็จ มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานได้จริง ยกระดับจาก Zero waste ให้กลายเป็น Waste to value ได้สำเร็จ”ด้วยคุณสมบัติของกากต้นเฉาก๊วยที่ให้ค่าความร้อนที่สูงอยู่แล้ว การนำมาแปรรูปเป็น “เชื้อเพลิงอัดเม็ด” จะยิ่งช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บ รวมทั้งลดต้นทุนการขนส่ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็มีความแข็งแรงทนทานมาก และไม่ต้องใช้ตัวประสานในการอัดเม็ด จึงทำให้ลดต้นทุนในการผลิตต่างจากชีวมวลชนิดอื่น ทั้งยังมีคุณลักษณะเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (มอก.) ไม่เพียงเชื้อเพลิงอัดเม็ด รศ.ดร. ยุวรัตน์ ยังชวนทำความรู้จักกับถ่านชีวภาพ (Biochar) และถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) หรือชื่อที่หลายคนคุ้นเคย คือ ชาร์โคล ซึ่งเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
โดยทีมวิจัยได้นำกากต้นเฉาก๊วยมาผ่านกระบวนการสร้างรูพรุนด้วยการให้ความร้อนและสารเคมี เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวของวัสดุให้มีคุณสมบัติในการดูดซับ ก่อนจะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้าน wastewater treatment โดยดูดซับไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และดูดซับสีย้อมเมทิลีนบลู (Methylene Blue Dye) ซึ่งเป็นสีย้อมที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เพื่อลดมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม “ประสิทธิภาพของถ่านชีวภาพจากกากต้นเฉาก๊วยนั้นดียิ่งกว่าถ่านชีวภาพจากซังข้าวโพดหรือเมล็ดทานตะวันด้วย รวมถึงถ่านกัมมันต์จากวัสดุชีวมวลอีกหลาย ๆ ชนิด”
ทั้งนี้ รศ. ดร. ยุวรัตน์ กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า ผลงานวิจัยที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพืชเฉาก๊วยที่ไม่น้อยไปกว่าชีวมวลชนิดอื่น ๆ โดยหลังจากนี้ ทีมวิจัยจะยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกากต้นเฉาก๊วยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำขี้เถ้าที่เหลือภายหลังการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงอัดเม็ดจากกากต้นเฉาก๊วยมาทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น อาจนำมาสร้างเป็นอิฐบล็อกจากขี้เถ้ากาก ซึ่งต้องบูรณาการการทำงานกับคณะหรือสาขาอื่น ๆ เพื่อนำองค์ความรู้มาร่วมกันต่อยอดต่อไป ไม่ให้งานวิจัยหยุดอยู่เพียงบนหิ้งเท่านั้น - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี