ผ่านพ้นไปแล้วกับ “การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก(รับหลักการ)” ระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติ เห็นด้วย (รับหลักการ) 311 ต่อ 177 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 0 จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 490 คน ซึ่งหลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.งบฯ 2567 จำนวน 72 คน โดยกำหนดแปรญัตติ 30 วัน
รายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2567 อันเป็นช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จุติ ไกรฤกษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มาให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
ไล่ตั้งแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า“งบประมาณ ปี 2567 ไม่ตรงปก” เรื่องนี้ยอมรับว่าเป็นความจริง แต่หากเป็นคนที่เข้าใจเรื่องงบประมาณ จะเข้าใจว่ามีการเลือกตั้งในเดือนพ.ค. 2566 และกว่าจะตั้งรัฐบาลกันได้ก็คือเดือนก.ย. 2566 โดยปีงบประมาณนั้นจะเริ่มนับตั้งแต่เดือนตุลาคม-กันยายน สำหรับปีงบฯ 2567 นั้นก็คือวันที่ 1 ต.ค. 2566 ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567
ดังนั้นคาดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 น่าจะผ่านจนถึงขั้นลงพระปรมาภิไธย ภายในเดือน เม.ย. 2567 และเงินจะออกมาในเดือนพ.ค. 2567 แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปีงบประมาณ 2567 อีกแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การบริหารประเทศหยุดชะงัก ก็จะมีกลไกให้ใช้งบประมาณปีเดิมไปก่อนในส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ โครงการที่ระบุภาระผูกพันงบประมาณต่อเนื่อง เป็นต้น
ดังนั้นคำที่กล่าวว่าไม่ตรงปกจึงเป็นความจริงอยู่ครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งงบประมาณถูกใช้ล่วงหน้าไปแล้ว 7 เดือน และการจะบอกว่าให้นำ 7 เดือนนั้นมาเป็นนโยบายรัฐบาลใหม่คงเป็นไปได้ยาก เรื่องนี้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องพูดความจริง ว่าเมื่อเป็นอย่างนั้นคนที่เคยเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณ ก็จะเข้าใจดี ว่างบประมาณที่ใช้ไปพลางก่อน ณ วันนี้ จะใช้ไปจนถึงเดือนเมษายน หลังจากนั้นก็จะเป็นงบประมาณส่วนที่เหลือ และจริงๆจะใช้เงินไม่ทันเสียด้วยซ้ำไป เพราะงบประมาณที่ต้องนำมาใช้ประมูลอะไรต่างๆ มันต้องมาเริ่มต้น
“แผนงานมีแล้ว แผนงานใหม่แต่สภาฯ ยังไม่อนุมัติ เขาประกาศเตรียมรอไว้ได้แต่ต้องเริ่มต้นวันที่ลงพระปรมาภิไธย ใช้ก่อนไม่ได้ ใช้ไปพลางก่อนคิดได้แค่เงินเดือน-เบี้ยประชุม ถ้าจะตำหนิรัฐบาลว่าไม่ตรงปก ผมคิดว่างบประมาณปี 2568 รัฐบาลต้องรับผิดชอบ 100% เต็มๆ เพราะว่าเป็นงบที่รัฐบาลมีเวลาทำเอง ทีนี้ตามตารางที่อยากจะกราบเรียนพี่น้องประชาชนก็คือว่าเมื่องบประมาณเราจบแล้วเมื่อเมษา พฤษภาหรือมิถุนา งบฯ ใหม่จะเข้าทันที เป็นงบฯ 2568 ดังนั้น มันจะต่อเนื่อง ที่เคยอภิปรายไว้วันนี้ค้างไว้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งไปดู 2568 ว่าจะตรงหรือไม่ตรงปก วันนั้นวิจารณ์ได้เต็มที่เลย” จุติ กล่าว
จุติ กล่าวต่อไปว่า จากประสบการณ์ที่เคยร่วมเป็น กมธ. งบประมาณ จะดูที่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ ต้องถามว่าวันนี้ประชาชนได้อะไรจากงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่าที่ดูก็มีทั้งแง่ที่สมหวังและผิดหวัง “อย่างในด้านบวกหรือสมหวัง” ที่ตนเห็นว่าทำได้ดี ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยกับตนก็ได้ คือ “งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม” เพราะต้องบอกว่าเขาบริหารงานได้ดี เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เข้ามาแล้วไม่เขย่าให้ป่วน
อย่างเรื่องยกเลิกทหารเกณฑ์ก็มีความชัดเจนว่าต้องการให้มียอดสมัครใจให้ครบจะได้ไม่ต้องเกณฑ์ ขณะที่สิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วก็ไม่ได้ยกเลิก เช่น การฝึกอาชีพ ซึ่งเมื่อทหารเกณฑ์ปลดประจำการแล้วก็อาจขับรถได้ ใช้คอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีเป็นหรือมีทักษะด้านงานช่าง ประการต่อมา สโมสรกอล์ฟของทหารที่มีคำถามว่ามีไว้เพื่ออะไรปัจจุบันมีการทำมาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sport Tourism) มีการส่งเสริมแคดดี้มืออาชีพ นำโค้ชมาทำเรื่องกีฬา เพราะวันนี้กีฬาเป็นธุรกิจบันเทิง
หรือเรื่องการลดตำแหน่งระดับชั้นยศนายพล ตนก็คิดว่าทำได้ดี รวมถึงการลดภาระการพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ เพราะสามารถผลิตอาวุธปืนและกระสุนที่จำเป็นได้เอง อย่างน้อยร้อยละ 70-80 ส่วนเรื่อง “การจัดซื้อเรือดำน้ำ” ตนขอสวนกระแสที่มีการพูดกันมากเรื่องเรือดำน้ำไม่มีความ
จำเป็น หรือโลกเขาเลิกรบกันแล้ว ขอให้ดูสถานการณ์ปัจจุบัน พื้นที่ทะเลแดงหรือทะเลดำ ต้องใช้เรือหรือไม่
กับอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดกัน คือ “การส่งออกสินค้าของไทยร้อยละ 80-90 ส่งออกทางเรือ แล้วเราจะไม่คุ้มครองทรัพย์สินของคนไทยหรือ มีเรือดำน้ำอย่างน้อยก็มีอำนาจต่อรองทางทะเล” ซึ่งการที่ประเทศไทยไม่มีเรือดำน้ำทำให้อำนาจต่อรองทางทะเลอยู่ในอันดับร้อยกว่าๆ ในขณะที่เมียนมาหรือเวียดนามอยู่ในอันดับสูงกว่า ประมาณอันดับที่ 50-60 เพราะมีเรือดำน้ำ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ อย่างวันนี้มีข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทในทะเลเรื่องแหล่งก๊าซ 3 ล้านล้านบาท แล้วบอกเรือดำน้ำราคาเท่าไร
และไม่ได้หมายความว่ามีแล้วต้องไปรบโดยตรง “ลองนึกถึงการมีปืนติดไว้ที่บ้าน ถามว่าโจรขโมยจะกล้าบุกบ้านหรือไม่” ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ตลอดเวลา เรือดำน้ำมีหลักอยู่ตรงนี้ ส่วนเรื่องงบประมาณด้านความมั่นคง ที่เห็นวันนี้ให้ความสำคัญ ตนก็ต้องบอกว่าเป็นไปตามยุคสมัย หากมองเรื่องภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นการเมืองที่บังคับให้เลือกข้างในเวทีต่างประเทศ อย่างปัจจุบันกับเมื่อ 3 ปีก่อนต้องบอกว่าสถานการณ์ต่างกันมาก
“วันนี้ปะทุแล้วคือที่ตะวันออกกลาง ปะทุแล้วอยู่ที่ชายขอบยุโรป วันนี้ทะเลจีนใต้ วันนี้ไต้หวันมีปัญหา ฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องทำการทูตให้ดีๆ ความมั่นคงอำนาจต่อรองมาจากปากกระบอกปืน หลักการนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง ท่านลองเทียบได้ ญี่ปุ่นเคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกทำไมญี่ปุ่นไม่ทรงพลัง เพราะญี่ปุ่นไม่มีกองทัพเหมือนกับสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญเพราะเป็นความมั่นคงของประเทศ ถ้าประเทศไม่มีความมั่นคงแล้วอย่างอื่นก็ไม่มีใครมา” จุติ ระบุ
กระทรวงต่อมาที่เห็นว่าจัดงบประมาณได้ดี คือ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)” เพราะขยายโอกาสให้ประชาชน เช่น การที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์รักษาพยาบาล หรือติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ด้วยการยื่นบัตรประชาชนเพียงใบเดียวแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีให้ประหยัดเวลาในการทำธุรกิจด้วยการจดทะเบียนบริษัททางออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง เป็นต้น ซึ่งแม้งบประมาณปี 2567 กระทรวงนี้จะไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่งบฯ เท่าที่ได้ก็ถูกนำไปจัดสรในส่วนที่เป็นประโยชน์
อีกกระทรวงหนึ่งที่ต้องชมคือ “กระทรวงมหาดไทย” ซึ่ง จุติ กล่าวว่า ตนก็ต้องให้เครดิตเจ้ากระทรวงคนปัจจุบันอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ทำงานอย่างแข็งขัน เช่น ออกตระเวนตรวจสถานบันเทิงกลางดึกแล้วพบทั้งการปล่อยให้เยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายอนุญาตเข้าไปใช้บริการ หรือแอบจำหน่ายยาเสพติด เพราะหากเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติยังถูกบั่นทอนแล้วประเทศไทยจะไปแข่งขันกับใครได้โดยประเด็นที่จะสื่อคือ หากรัฐมนตรีและข้าราชการตั้งใจทำงานแม้จะไม่ได้งบประมาณเพิ่มผลลัพธ์เชิงบวกก็จะเกิดกับประชาชน
รวมถึง “กระทรวงพลังงาน” ที่แม้จะได้รับจัดสรรงบประมาณน้อย ตนก็ต้องให้เครดิตเจ้ากระทรวง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งอาจมีคนมองว่าตนเชียร์เพราะอยู่พรรคการเมืองเดียวกัน แต่ก็มีข้อเท็จจริงอยู่ เพราะน่าจะเป็นกระทรวงเดียวในเวลานี้ที่มีปันผลคืนให้ประชาชน เช่น การตรึงค่าไฟฟ้าให้กับผู้มีรายได้น้อย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ปีละ 2,370 บาท รวมถึงการไม่ขึ้นค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน แต่เมื่อเป็นเครดิตกระทรวงพลังงานก็ต้องเป็นเครดิตของรัฐบาลด้วยที่รับผิดชอบในส่วนนี้เอง ยอมขาดรายได้จากภาษีแต่ดีกว่าให้ประชาชนค่าครองชีพสูงขึ้น
มาถึง “หน่วยงานที่เห็นการจัดสรรงบประมาณแล้วมีข้อกังวล” อาทิ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” โดย จุติ ระบุว่า เป็นหน่วยงานที่ “ไม่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น” ซึ่งในยุครัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ริเริ่มทำไว้ในส่วนของ “เด็กตกสำรวจ” ไม่มีเงินเรียนหนังสือ ก็ได้เงินจาก กสศ. ช่วยเหลือ โดยมีถึง 3 ล้านคนยังไปต่อได้ทั้งๆ ที่ชีวิตไปต่อไม่ได้ เรื่องนี้ก็ต้องชี้ให้เห็นว่า การจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเป็นอย่างไร
เช่นเดียวกับ “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” ครั้งนี้ได้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านบาท ต้องบอกว่าเป็นงบฯ ทางผ่าน เช่น เงินเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ โดยในส่วนของกระทรวงจริงๆ แล้วได้งบฯ เพียง 1,900 ล้านบาท ในการดูแลคน77 จังหวัดตลอดทั้ง 12 เดือน ส่วนคำถามว่าเหตุใดไม่มีการของบประมาณเพิ่ม ตนก็ต้องฝาก กมธ. งบประมาณ ว่างบในส่วนที่สามารถตัดได้แล้วจะส่งมาให้ พม. ไปช่วยเหลือคนจนเพิ่มขึ้นได้หรือไม่
“ถ้าท่านจำได้ตอนโควิด มีเด็กที่ไม่สามารถเรียนต่อได้ 4 แสนคน ตอนนั้นเด็กกลับเข้ามาประมาณ 2 แสนกว่าคน ท่านนายกฯพล.อ.ประยุทธ์ ก็บอกว่าให้ครูไปเยี่ยมบ้านเลยคนที่ไม่กลับ เอากลับคืนมาให้หมด ก็กลับมาได้ประมาณแสนคน ก็ยังขาดอีกแสนกว่าคนที่ยังไม่กลับเข้ามา คนพวกนี้ไม่ใช่ไม่มีเงินค่าเทอมนะ ไม่มีเงินไปเรียนหนังสือ มันขนาดนั้นแล้ววันนี้สิ่งที่หลายคนไม่ได้ดูสถิติ เด็กที่เกิดจากพ่อแม่อยู่คนละแห่ง ฝากเลี้ยง 4.8 ล้านคนสังคมไทยต้องการความช่วยเหลือตรงนี้
ฉะนั้นรัฐบาลต้องดูตัวเลขอันนี้แล้วก็ไปช่วยเขาให้เยอะๆ ให้เขาเดินต่อไปได้ วันนี้บางบ้านมีลูก 3-4 คน ยายกับตาเลี้ยง 1,600 จากเงินเบี้ยผู้สูงอายุ แล้วพ่อแม่เคยส่งมาให้เดือนละ 3,000 เหลือ 1,000 เพราะว่ารายได้ไม่พอ เด็กพวกนี้ต้องการความช่วยเหลือ กระทรวงอย่าง พม. น่าจะต้องให้เขาเพิ่ม แล้วกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา น่าจะให้เขาเพิ่ม ก็ฝากกรรมาธิการงบประมาณไปว่าถ้าเผื่อทำ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. กล่าว
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้านที่ว่า “รัฐบาลไม่ใส่งบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการทำประชามติ แบบนี้ไม่จริงใจหรือไม่?” ตนมองว่าก็สามารถ
พูดได้หากพูดด้วยสมมุติฐานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลบอกว่าจะแก้ปัญหาปากท้อง เช่น ในส่วนของ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ที่ครั้งนี้ได้งบประมาณเพิ่ม 3 พันล้านบาทสำหรับการสร้างอาชีพในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หรืองบฯ พัฒนาฝีมือแรงงาน ก็มีการพูดคุยถึงการฝึกอาชีพที่ตรงกับตลาดแรงงาน สามารถใช้เทคโนโลยีได้
ซึ่งหากถึงเวลาต้องทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ รัฐบาลก็จะต้องหางบประมาณมาให้ได้ เรื่องนี้ไม่ต่างกับช่วงใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งที่จะมีคำถามว่าเหตุใดยังไม่มีงบประมาณสำหรับจัดการเลือกตั้ง แต่พอถึงเวลาก็หางบฯ ส่วนนี้มาจนได้ อนึ่ง ตนเชื่อว่าในปี 2567 นี้งบประมาณจะใช้ไม่ทัน จะมีงบฯ เหลือจ่ายเยอะ อย่างที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่าน่าจะใช้งบฯ ได้เพียงร้อยละ 70
อย่างไรก็ตาม เงินที่เหลือจ่ายไม่ต้องส่งคืนคลัง แต่หน่วยงานต้องไปดูว่ามีแผนเดิมที่วางไว้มีอะไรต้องใช้งบประมาณบ้าง เช่น แผนเดิมมีเงินช่วยเหลือเด็ก คนชรา คนพิการติดเตียง จำนวน 10,000 ราย แล้วมีงบประมาณเหลือสำหรับเพิ่มการช่วยเหลือได้อีก 1,000 คนก็สามารถนำไปใส่เพิ่มให้เป็นการช่วยเหลือจำนวน 11,000 รายได้ แต่หมายถึงงบประมาณเดิมในหน่วยงานเดิม ซึ่งเป็นงบฯ ที่เบิกจ่ายไม่ทันหรืองบประมาณสำหรับซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน หากเบิกจ่ายไม่ทันหรือประมูลแล้วยังมีงบฯ เหลือ ก็นำมาทำแบบเดียวกันให้ประชาชนรายอื่นๆ เพิ่มได้
อีกประเด็นร้อนๆ อย่างนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือการแจกเงินดิจิทัลคนละ1 หมื่นบาท เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในร่างกฎหมายงบประมาณ แต่จะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.เงินกู้5 แสนล้านบาท แต่ในมุมมองทางการเมืองตนเห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายงบประมาณ มากกว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลก็พยายามอภิปรายปูพื้นเพื่อปฏิเสธการกู้เงินดังกล่าวไว้แล้วว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตอย่างที่รัฐบาลอ้างถึงและการจัดงบประมาณก็ไม่ได้จัดในลักษณะเพื่อแก้ไขวิกฤต ดังนั้น จึงกู้เงินไม่ได้เพราะผิดเงื่อนไข
“งบประมาณทุกคนตั้งเรื่องขอกัน6 ล้านล้าน เขาต้องตัดให้เหลือ 3.48 ล้านล้านฉะนั้นก็ไม่ใช่โจทย์ง่าย ผมถึงได้เรียนว่าไม่ว่าใคร-พรรคไหนเป็นรัฐบาลต้องมีคนผิดหวัง” จุติ กล่าว
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00 น.!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี