เปิดเบื้องหลังโรงพยาบาลขุนยวม โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซิ่งรถมาพบกันคนละครึ่งทางช่วยเด็ก 5 ขวบดื่มไซยาไนด์จนเด็กปลอดภัย
เป็นที่ชื่นชมและพูดถึงจำนวนมาก กรณีโรงพยาบาลขุนยวมและโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กอายุ 5 ขวบที่ได้รับพิษไซยาไนด์จากการดื่มน้ำยาล้างเครื่องเงิน ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วและประสานงานฝ่ายต่างๆ จนทำให้การรักษาทันท่วงทีจนเด็กปลอดภัย
เด็กอายุ 5 ขวบ เพศหญิงที่ป่วยจากการดื่มน้ำยาแช่เครื่องเงิน ซึ่งเป็นสารไซยาไนด์ ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาการขณะนี้ดีขึ้นตามลำดับ สามารถกินข้าวได้และพูดโต้ตอบได้
แพทย์หญิงพาณิพร มณีวัฒนพร นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลขุนยวม แพทย์เจ้าของไข้ ระบุว่าเด็กมาด้วยอาการหมดสติ จากการดื่มน้ำยาล้างเครื่องเงินและญาติได้นำยี่ห้อของน้ำยาดังกล่าวมาให้ดูจึงหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีสารไซยาไนด์เป็นส่วนผสม จึงติดต่อศูนย์พิษวิทยาของโรงพยาบาลรามาธิบดีและแนะนำว่ามียาต้านพิษที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จึงได้ประสานนำคนไข้กับยามาพบกันคนละครึ่งทางจึงสามารถช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยได้
เภสัชกร ทรงศักดิ์ กุณฑลกิติเดช เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลศรีสังวาลแม่ฮ่องสอน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า สำหรับยาต้านพิษไซยาไนด์ จะต้องขอเบิกไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. มาเก็บรักษาไว้ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดเพื่อไว้ใช้ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีพิษเกิดจากไซยาไนด์ หลังจากรับมาก็จะมีการตรวจสอบในเรื่องการหมดอายุการเสื่อมสภาพยาเพื่อให้พร้อมใช้ตลอดเวลา จากนั้นก็นำไปเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิปกติเหมือนยาปกติทั่วไป เพราะจะต้องมีสต๊อกไว้สำหรับช่วยชีวิตฉุกเฉิน
ที่จริงเราใช้ 2 อย่าง คือ โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) และโซเดียม ไทโอซัลเฟต" (Sodium thiosulfate) ก็จะมีสต๊อกไว้อย่างละ 10 ขวด การนำออกไปใช้จะต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางที่สั่งใช้ เพราะทั้ง 2 รายการเป็นยาในบัญชียาหลัก บัญชี จ.(2) สั่งใช้โดยแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยปกติยาเฉพาะ บางชนิด ไม่สามารถเก็บไว้ได้ตามโรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมือง เมื่อเกิดกรณีจะต้องใช้ยาต้านพิษ หรือยาที่มีเฉพาะ เหมือนกรณีนี้ก็ต้องรีบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัด หรือ พบกันครึ่งทางเพื่อดูแลรักษาให้ทันท่วงที
สำหรับยาที่ใช้ในการแก้พิษไซยาไนด์ คือโซเดียม ไทโอซัลเฟต ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุว่า โซเดียม ไทโอซัลเฟต ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาให้ sulfur group แก้ไซยาไนด์ ที่ถูกดึงออกมาจากไซโทโครม เพื่อเปลี่ยนไซยาไนด์ ให้เป็นไทโอไซยาเนต ซึ่งเป็นพิษน้อยกว่าแล้วถูกขับออกทางไต เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ใช้ร่วมกับไนไตรท์ ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์ใช้ร่วมกับ nitrite ในผู้ป่วยที่เกิดภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์
สำหรับโซเดียม ไทโอซัลเฟต เป็นหนึ่งในตัวยาในโครงการของยาต้านพิษของศูนย์พิษวิทยา ซึ่งการสั่งซื้อยาต้องผ่านทางสภากาชาดไทย ยาที่สั่งมาจะเป็นยาที่พร้อมใช้สำหรับบุคลากรแพทย์ และมีสต็อกยาเพียงพอที่ส่งให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศสำหรับไทย คณะกรรมการอาหารและยา ได้บรรจุให้ยาโซเดียม ไทโอซัลเฟต อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นยาแก้พิษไซยาไนด์ และใช้เป็นยาทาเพื่อรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนัง การใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี