“โลกร้อน” , “โลกรวน” เป็นถ้อยคำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ “ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)” เมื่อบรรยากาศของสิ่งแวดล้อมโลกไม่เหมือนเดิม ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้น ฤดูกาลที่ไม่ได้มาตามวัน-เวลาอย่างที่คุ้นเคยส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ผืนดินหลายแห่งอาจจมสู่ก้นบาดาลเพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยแล้งที่ทำให้การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรทำได้น้อยลง นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหาร หรือแม้แต่อากาศที่อุ่นขึ้นยังเอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุง สัตว์พาหะนำโรคติดต่อ
สาเหตุของสภาพอากาศแปรปรวนเช่นนี้มาจากกิจกรรมของมนุษย์ในระยะเวลาเพียง 2 ศตวรรษนับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและสารเคมีหลายชนิดถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองการผลิตสำหรับสร้างความมั่งคั่งและความสะดวกสบาย แต่ก็แลกมาด้วยการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ขึ้นไปทำให้ชั้นบรรยากาศเสียสมดุลด้วยการเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้มากกว่าจะปล่อยออกไปอย่างเหมาะสม
จากสิ่งที่เกิดขึ้น ประชาคมโลกจึงเห็นตรงกันว่า “ถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติต้องลด ละ เลิก กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง” โดยในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ในปี 2564 นานาชาติได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า จะทำให้ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)” ภายในปี 2050 (2593) ขณะที่ประเทศไทย ตั้งเป้าหมายเดียวกันนี้ไว้ในปี 2065 (2608)
ขณะเดียวกัน ในแวดวงเศรษฐกิจยังมีการพูดถึง “เศรษฐกิจ BCG” ที่มาจาก 3 คำ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Economy) ทรัพยากรทุกชนิดถูกคาดหวังให้ใช้อย่างคุ้มค่าไม่ปล่อยทิ้งเป็นขยะโดยง่าย ตลอดจนใช้วัตถุดิบและพลังงานจากธรรมชาติ หรือ “พลังงานทดแทน” ไม่ว่าแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน มีความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้พลังงานทดแทนถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 เกียรติภูมิ สิริพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสมาร์ท ได้มาบอกเล่าในรายการถึง “สมาร์ท ไฮบริด เพาเวอร์ (Smart Hybrid Power)” เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้ใช้พลังงานทางเลือกได้อย่างคุ้มค่าตลอด 24 ชั่วโมง ว่า สมาร์ท ไฮบริด เพาเวอร์ เป็นพลังงานทางเลือกที่น่าจะเหมาะกับผู้ใช้ไฟฟ้าในทุกระดับ
เป็นการผสมผสานระหว่างการใช้พลังงานทางเลือกกับเทคโนโลยีกักเก็บและดัดแปลงให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติแล้วการซื้อไฟฟ้าต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงไม่ว่าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน แต่พลังงานฟรีที่ตนจะอธิบายต่อไป คือพลังงานจากธรรมชาติเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานไฮโดร ผสมผสานกับเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน โดยเก็บพลังงานในช่วงกลางวันแล้วนำมาใช้ในตอนกลางคืน
อาทิ แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ซึ่งเมื่อรับแสงอาทิตย์แล้วต้องนำมาเก็บในแบตเตอรี่ โดยเทคโนโลยีของตนได้ออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละพื้นที่ ผสมผสานระหว่างแบตเตอรี่กับระบบไฮโดรซึ่งก็คือระบบสูบกลับ กล่าวคือ พลังงานแสงอาทิตย์โดยทั่วไปใช้ได้ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงพีคของแสงแดด แต่เราจะใช้จุดนั้นมาสูบน้ำ ไม่ว่าน้ำบาดาลหรือน้ำผิวดินแล้วนำไปไว้ด้านบน จากนั้นตอนกลางคืนก็ปล่อยน้ำออกมาเพื่อปั่นมอเตอร์
โดยมอเตอร์นั้นกลางวันทำหน้าที่เป็นเครื่องสูบน้ำ แต่กลางคืนหากปล่อยน้ำให้ปั่นแบบกลับทิศก็จะกลายเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) โดยมีแบตเตอรี่เป็นตัวช่วย ซึ่งการเลือกแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ก็จะได้ราคาที่ไม่แพง “สามารถใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นอยู่อาศัย เกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงเมืองใหญ่” มีการออกแบบไว้ตั้งแต่ 1 กิโลวัตต์ 5 กิโลวัตต์ 10 กิโลวัตต์ 1,000 กิโลวัตต์ นี่คือ 1 เมกะวัตต์ แล้วเกิน 1,000 กิโลวัตต์ ก็คือเกิน 1 เมกะวัตต์ 5 เมกะวัตต์ 10 เมกะวัตต์ เช่น บ้านปกติใช้ 3-5 กิโลวัตต์ ถ้าบ้านหลังใหญ่หรือหอพักอาจจะ 10-20 กิโลวัตต์
สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์อย่างเหมาะสม เช่น หากอยู่ในเมืองไม่ต้องใช้น้ำเพราะสามารถใช้แบตเตอรี่และพลังงานแสงอาทิตย์ได้ แต่หากเป็นต่างจังหวัดสามารถใช้ผสมผสานกันทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เพราะต่างจังหวัดมีแหล่งน้ำ โดยช่วงพีคของพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 10.00-14.00 น. หากอยู่ในพื้นที่เกาะที่มีกระแสลมแรงก็สามารถติดตั้งกังหันลมเพื่อใช้แทนพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ขณะที่แบตเตอรี่สามารถประยุกต์ใช้เวลาไหนก็ได้
ส่วน “คำถามเรื่องราคา” หากเทียบกับการวางระบบพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเดียว เฉลี่ยอยู่ที่เมกะวัตต์ละ 25-30 ล้านบาท หรือกิโลวัตต์ละ 25,000-30,000 บาท แต่เมื่อดูการใช้ไฟฟ้าที่ใช้ได้เพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน เช่น ลงทุน 30 ล้าน ใช้ไฟฟ้าได้ 4 ชั่วโมง แต่ 1 วันมี 24 ชั่วโมง เอา 6 คูณเข้าไป ก็ต้องลงทุน 180 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ เพื่อให้ใช้ไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง แต่ต้นทุนของ สมาร์ท ไฮบริด เพาเวอร์ จะไม่ถึง 100 ล้านบาท หรือ 1 กิโลวัตต์ ในราคาไม่ถึง 1 แสนบาท ในสเกลที่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ใช้เวลา 5 ปีก็สามารถคืนทุน
ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์จะมีอายุการใช้งาน 25-30 ปี หากทำให้คืนทุนได้ในระบะเวลาไม่เกิน10 ปี ก็คือว่าคุ้มแล้ว ขณะที่ตนพยายามหาเทคโนโลยีที่คืนทุนได้ในเวลาไม่เกิน 5 ปี เพราะต้องการออกแบบให้คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจด้วย โดย สมาร์ท ไฮบริด เพาเวอร์ จดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 เลขรับ 2301004486 โดยตนตรวจสอบแล้วยังไม่มีใครมาจดสิทธิบัตรในเรื่องนี้ ตนยืนยันว่าเทคโนโลยีนี้ใช้งานได้จริง จากผลการนำร่องไปแล้ว 2 โครงการ
และขั้นตอนการจดสิทธิบัตรก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอธิบายขั้นตอนในเชิงเทคนิคอย่างละเอียดกับคณะผู้กลั่นกรอง อย่างตนก็ต้องใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้ากับวิศวกรรมเครื่องกลที่เรียนมาในการตอบคำถาม โดยตนเป็นนักเรียนทุน ก.พ. ได้ไปเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา จึงสำนึกว่าทุนนี้มาจากเงินภาษีของประชาชน ทำให้อยากนำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้
“ผมเรียน ป.ตรี 3 ใบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เรียนวิศวะไฟฟ้ากับวิศวะเครื่องกล แล้วอีกใบหนึ่งคือบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค 3 ปริญญา แล้วก็สอบชิงทุน ป.โท ที่ ก.พ. ก็จะให้ลิสต์รายชื่อมหาวิทยาลัย ผมก็เลือกที่ MIT ไปเรียนโท หลักสูตรเขา 2 ปี แต่ผมเร่งจบปีครึ่งเพื่อจะได้กลับมารับใช้ประเทศชาติให้เร็วขึ้น กลับมาต้องใช้ทุน 3 เท่า สปอนเซอร์ตอนนั้นมีหลายที่จะมีแบงก์ชาติ แบงก์กรุงไทย กระทรวงการคลังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผมได้สปอนเซอร์คือธนาคารกรุงไทย ก็เลยกลับไปที่กรุงไทย” เกียรติภูมิ กล่าว
เกียรติภูมิกล่าวต่อไปว่า การทำงานที่ธนาคารกรุงไทย ทำให้ตนได้ความรู้เรื่องการเงินเพิ่มเติม เมื่อทำงานอยู่ 4 ปีจนใช้ทุนครบ ยังมีโอกาสได้ไปทำงานกับสถาบันการเงินหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ เช่น โกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ (The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงการเงินรวม 15 ปี ก่อนออกมาทำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก สั่งสมประสบการณ์ด้านนี้อีกประมาณ 20 ปี
โดยมีตัวอย่าง เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.กระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกที่สามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าได้ หรือโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.บุรีรัมย์, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ.นครราชสีมา จ.ลพบุรี จ.เพชรบุรี, โรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องอธิบายด้วยว่า คำว่าพลังงานฟรีในความหมายของตนนั้นหมายถึงไม่ต้องเสียเชื้อเพลิงแต่ในตอนต้นก็ต้องมีเงินลงทุนด้วย อย่างใน2 โครงการนำร่อง ตนได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งของรัฐ ซึ่งใช้จริงเพียงร้อยละ 30 ยังเหลือทุนอีกร้อยละ 70 ให้ส่งคืนได้อีก
ต่อคำถามที่ว่า “คนอยากปรับเปลี่ยนแต่จะทำอย่างไรเรื่องการหาเงินลงทุน” ประเด็นนี้ตนเชื่อว่า สถาบันการเงินทุกแห่งพร้อมปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Loan) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งจะยิ่งช่วยให้คืนทุนได้เร็วขึ้น ปัจจุบัน สมาร์ท ไฮบริดเพาเวอร์ มีตัวแทนอยู่ประมาณ 20 จังหวัด โดยอยู่ในช่วงสื่อสารเพราะโครงการนำร่องเพิ่งแล้วเสร็จ และใครที่สนใจอยากทำก็สามารถติดต่อมาที่ตนได้ พร้อมให้ความรู้และการออกแบบการติดตั้งที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
“ถ้าบ้านเล็กๆ 3 กิโลวัตต์ก็ได้แล้ว 3 แสนก็อยู่แล้ว ถ้าสมมุติว่าเป็นโรงงานใหญ่ๆ อาจจะ1 เมกะวัตต์ ก็หลักล้าน มันอยู่ที่สเกล มันได้หมด เพราะการที่เพิ่มกำลังการผลิตก็ไม่ได้มีผลกับเรื่องต้นทุนกับเรื่องการคืนทุน กลับคืนทุนเร็วขึ้นด้วยซ้ำ จริงๆ การไฟฟ้าสนับสนุนด้วยซ้ำให้ทำ เขาแค่มีข้อกำหนดว่าอุปกรณ์จะต้อง Compatible (เข้ากันได้) หรือเข้ากับอุปกรณ์ของการไฟฟ้าได้ ฉะนั้นเขาจะมีการกำหนดว่ามาตรฐานของอุปกรณ์จะต้องมีอยู่ในลิสต์ของการไฟฟ้าที่ใช้ได้ เราก็เลือกตรงนั้น ซึ่งมีให้เลือก
เยอะแยะเลย เวลา Sync (เชื่อมโยง) เข้าระบบมันจะมีการเข้ากันได้ของอุปกรณ์ เราก็ใช้ประสบการณ์ตรงนั้นเลือกอุปกรณ์ได้ ไม่มีปัญหา” เกียรติภูมิ ระบุ
ขณะที่ข้อกังวลเรื่องเพลิงไหม้แผงโซลาร์เซลล์ เกียรติภูมิ แนะนำให้ใช้ความระมัดระวังในการติดตั้ง เช่น การจ้างผู้ติดตั้งที่อาจไม่มีความรู้เพียงพอโดยเห็นแก่ค่าจ้างที่ถูก หากเป็นไปได้เมื่อต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตนก็อยากให้ปรึกษากับการไฟฟ้าก่อน อย่างที่ตนทำไม่ว่าโครงการใดล้วนต้องใช้อุปกรณ์ตามที่การไฟฟ้ากำหนดทั้งสิ้น เพราะมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการติดตั้งสายดินเพื่อลดความเสี่ยงเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
สำหรับผู้สนใจอยากใช้เทคโนโลยี สมาร์ท ไฮบริด เพาเวอร์ สิ่งที่โครงการจะพิจารณาคือ เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้า ขนาดพื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงดูทำเลที่ตั้งด้วยว่าอยู่ใกล้สถานที่ที่มีความอ่อนไหว (อาทิ วัด โรงเรียน) หรือไม่ในกรณีเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่หากเป็นโครงการเล็กๆ สามารถติดตั้งได้เลยพร้อมกับรายงานไปยังการไฟฟ้าให้ทราบ “ระบบนี้ยังเหมาะกับพื้นที่ที่ไม่สามารถปักเสาสำหรับลากแนวสายไฟฟ้าได้” อย่างตนก็พยายามค้นหาพื้นที่ที่ปรากฏในข่าวว่าไม่มีไฟฟ้าใช้ และเข้าไปสร้างโครงการให้พวกเขา
ในช่วงท้ายของการสนทนา เกียรติภูมิ ยังเล่าถึงการทำพรรคไทยสมาร์ท ว่า ที่มาที่ไปมาจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ย้อนไปในปี 2562 หัวหน้าพรรคในขณะนั้นคือ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เชิญตนไปเป็นรองหัวหน้าพรรค เวลานั้นพรรคมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 6 คน แต่ต่อมาคุณมิ่งขวัญไม่ได้เดินต่อในทางการเมือง ทำให้ตนหันมาทำพรรคไทยสมาร์ท แต่ก็ยึดแนวคิดของคุณมิ่งขวัญ เรื่องทำอย่างไรจะสร้างรายได้ให้คนไทยโดยต่อยอดความรู้ของตนเรื่องเทคโนโลยีและพลังงานเข้าไป
“พอสร้างรายได้เศรษฐกิจก็ดีขึ้น เราเน้นเรื่องการสร้างรายได้เพราะว่าเราไม่อยากให้กู้เงินเยอะ เราคิดอย่างนั้นเพราะถ้าเกิดกู้หนี้มามันมีภาระ มีดอกเบี้ย แล้วถ้าเราสร้างความสมาร์ทให้ประชาชน เขาสร้างรายได้เองมันก็ไม่ต้องมีภาระ แล้วมันได้ยั่งยืนด้วย” หัวหน้าพรรคไทยสมาร์ท กล่าว
หมายเหตุ :สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00 น. !!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี