จากริกธรรมกับพระเท้าเปล่า..."อานันทโพธิ์" ต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก โดย : พระชายกลาง อภิญาโณ
“ต้นอานันทโพธิ์” ณ วัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน) เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ชมพูทวีป เป็นต้นดั้งเดิม โดยเป็นต้นโพธิ์ที่ได้ปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล ที่ประตูหน้าวัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน) (ปลูกจากเมล็ดของ “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้) โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงเรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก ที่ยังคงยืนต้นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน มีอายุกว่า 2560 ปี และชาวพุทธนับถือว่ามีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เป็นอันดับสองรองจาก “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้
พุทธคยาในสมัยพุทธกาล หลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และประทับเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถา แต่เมื่อคราวพระอานนท์ได้มายังพุทธคยาเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับตรัสรู้ กลับไปปลูก ณ วัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน) ตามความปรารภของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จไปประทับที่อื่น
ประวัติความเป็นมาของ “ต้นอานันทโพธิ์” จากหนังสือปูชาวัลลิยะ ของสมาคมมหาโพธิ์ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย ได้กล่าวไว้มีใจความสำคัญว่า... “แม้ว่าพระเชตวันมหาวิหาร จะเป็นที่ยังความสะดวกและความสงบให้เกิดได้ ยิ่งกว่าสถานที่แห่งใดๆ อันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า แต่พระองค์ได้ประทับพักตลอดปีไม่ แต่ละปีพระพุทธองค์ทรงประทับพัก เพียง 3 เดือนในพรรษาเท่านั้น ส่วนอีก 9 เดือนของปีนอกฤดูฝนพระองค์เสด็จจาริกออกไปแสดงธรรมในคามนิคมชนบทและหัวเมืองอื่น
เมื่อพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปสู่ที่อื่นประมาณปีละ 9 เดือน ชาวนครสาวัตถีผู้เลื่อมใสในพระธรรม ใคร่จะทูลเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิจ ไม่ปรารถนาให้พระองค์เสด็จไปประทับแห่งใดๆ จึงพากันเกิดความเดือดร้อนใจ ปรึกษากันว่า จะทำไฉนหนอ จึงจะทูลเชิญพระองค์ให้ประทับอยู่ตลอดปีได้เมื่อพระองค์ต้องเสด็จไป ก็ทำให้เกิดความอ้างว้างใจจะหาสิ่งใดของพระองค์ให้ปรากฏอยู่เป็นเครื่องระลึกแทนองค์พระพุทธเจ้าได้
ความนั้นทราบถึงพระอานนท์เถระ พุทธอุปัฏฐาก เป็นต้น จึงนำกราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณา เพื่อจะยังมหาชนให้สมปรารถนา จึงรับสั่งให้นำผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) ที่ตำบลพุทธคยา มาปลูกไว้ที่หน้าวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ จักได้เป็นที่บูชากราบไหว้ของคนทั้งปวง
ครั้งนั้นพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกฝ่ายซ้าย ทราบความประสงค์ของพระพุทธเจ้า จึงทูลอาสาแสดงฤทธิ์ โดยเหาะไปในอากาศถึงตำบลพุทธคยา นำเอาผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) กลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ได้ในวันเดียวกันนั้น
ครั้นนำผลสุขแห่งโพธิ์ (เมล็ด) มาแล้ว ก็มีการปรึกษากันว่า ผู้ใดจักสมควรเป็นผู้ปลูก เบื้องต้นชาวเมืองและพระสงฆ์พร้อมใจกันถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์ผู้ครองกรุงสาวัตถี ให้ทรงเป็นผู้ปลูก แต่ทรงปฏิเสธ โดยบอกว่าฐานะกษัตริย์ย่อมไม่มั่นคงถาวร ทายาทที่จะมาภายหลังจะให้ความคุ้มครอง บำรุงรักษาต้นโพธิ์ต่อไปนี้ได้หรือไม่ก็ไม่ทราบได้ จึงควรยกเกียรตินี้ให้แก่คนอื่น
ในที่สุดก็ได้ตกลงให้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้ปลูก เพราะด้วยคิดกันว่า ต้นโพธิ์จะอยู่ภายในที่สาคัญของท่านอย่างหนึ่ง และท่านมีบริวารข้าทาสหญิงชายมาก คงสืบตระกูลช่วยกันรักษาต้นโพธิ์ ต่อๆกันไปได้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อปลูกเสร็จก็ได้มีการฉลองต้นโพธิ์ และพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จประทับนั่งอยู่ภายใต้ต้นโพธิ์ 1 ราตรี
ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองก็พากันกราบไว้ต้นโพธิ์เสมือนเครื่องระลึกแทนพระพุทธเจ้า ที่เรียกชื่อว่า อานันทโพธิ์ นั้นเป็นเพราะว่าพระอานนท์เป็นผู้จัดการดูแลเรื่องการปลูกและรดน้ำจนต้นโพธิ์เจริญเติบโตนั่นเอง
อานันทโพธิ์ต้นนี้ยังคงยืนต้นอยู่ ภายในวัดเชตวันมหาวิหาร (วัดพระเชตวัน) เมืองสาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ตราบเท่าถึงปัจจุบันนี้
(ขอขอบคุณ:เว๊บไซต์ chaicatawan,ลานธรรมจักร)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี