“จุดมุ่งหวังเรานะ มันอาจจะไม่ต้องมีสายไหมต้องรอดได้ไหม? หรือไม่ต้องมีน้องกันจอมพลังได้ไหม? คือขอให้กระบวนการทางกฎหมายที่มันมีอยู่ในบ้านเมืองเรามันเดินหน้าไป มันเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนอย่างแท้จริง นั่นคือเราหวังนะ ทำไมในต่างประเทศเขาไม่ต้องมีอย่างพวกผม?”
เอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจ “สายไหมต้องรอด” กล่าวในรายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์”ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 ว่าด้วยการทำงานของ “ภาคประชาสังคม” หลากหลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งนอกจากเพจสายไหมต้องรอดแล้ว ยังมีอีกหลายบุคคลหรือหลายกลุ่ม เช่น กัน จอมพลัง, มูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี ฯลฯ
จนราวกับว่า “ประชาชนเชื่อมั่นในภาคประชาสังคมเสียยิ่งกว่าภาครัฐ” ซึ่ง เอกภพ มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีใจที่อยากจะช่วยเหลือประชาชนก่อนเป็นลำดับแรก” อย่ามองว่ามาทำงานโดยหวังเพียงได้รับเงินเดือนในวันสิ้นเดือนไปเลี้ยงดูครอบครัว เพราะหากคิดแค่นั้นก็จะไม่มีใจช่วยเหลือประชาชน ในขณะที่พวกตนมาทำงานตรงนี้ไม่มีเงินเดือนแต่มีใจ ผลงานจึงออกมาดี
ที่มาที่ไปของเพจสายไหมต้องรอด ต้องย้อนไปในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังรุนแรง ซึ่งด้วยความเป็นโรคอุบัติใหม่ทุกคน
ก็สับสนกันไปหมดด้านข้อมูล ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรด้านสาธารณสุขอย่างแพทย์-พยาบาล เอกภพ เล่าว่า ในเวลานั้น ตนกับเพื่อนๆ ราว 7-8 คน ที่อยู่เขตสายไหม กรุงเทพฯ ด้วยกัน เห็นว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ประกอบกับรู้จักคนมาก จึงก่อตั้งกลุ่มสายไหมต้องรอดขึ้นมา เป็นศูนย์ประสานสำหรับผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยโควิด-19 แล้วพวกตนก็ช่วยประสานหาเตียงหรือประสานกับแพทย์ให้
จากจุดเริ่มต้นที่เขตสายไหม การทำงานของกลุ่มสายไหมต้องรอด ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นทำให้มีผู้ประสบภัยจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากพื้นที่อื่นๆ ขอความช่วยเหลือเข้ามามากขึ้น เริ่มจากเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ขยายออกไปยังจังหวัดปริมณฑลที่อยู่ติดกันเช่น สมุทรปราการ และไกลออกไปถึง จ.พระนครศรีอยุธยา รวมถึงครอบคลุมกลุ่มจังหวัดในภาคกลาง
“ไม่เคยเป็นจิตอาสามูลนิธิเลย ผมทำงานทางการเมือง เป็นผู้ช่วย สส. อยู่ในส่วนของงานการเมืองมาโดยตลอด ตอนนั้นเป็นผู้ช่วย สส. ของพี่ป๊อป-อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตอนนี้อยู่ไทยสร้างไทย เรื่องอาสากู้ภัยตรงนี้ไม่เคยมีความรู้ด้วยซ้ำ เพียงแต่เราเห็นว่าพอมันเกิดวิกฤตชาวบ้านเขาโทรหาพี่ป๊อปโทรหาเรา เราก็ว่าจะทำอย่างไรดี เราไม่รู้เรื่องโควิด ก็เลยตั้งกลุ่มสายไหมต้องรอดขึ้นมา เพื่อนๆ ของผมส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ เจ้าของโรงแรม เจ้าของธุรกิจในพื้นที่ที่สนิทสนมด้วยกัน เล่นด้วยกัน โตด้วยกัน บางคนรู้จักตอนเรียน บางคนรู้จักตอนโต” เอกภพ กล่าว
เอกภพ เล่าต่อไปว่า ในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีผู้อาสาเข้ามาช่วยทำงานมากกว่า 100 คน แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็แยกย้ายกันไป ปัจจุบันทีมงานเพจสายไหมต้องรอดมีประมาณ 20 คน และอาจเป็นเพจเดียวที่ไม่มีเงินเดือนให้ทีมงาน เพราะแต่ละคนฐานะดีกว่าตนเสียอีก จุดเริ่มต้นก็มาจากกลุ่มเพื่อนที่ชอบรวมกลุ่มไปกินดื่มสังสรรค์ตามร้านต่างๆทุกสุดสัปดาห์ แต่ช่วงโควิดเมื่อสถานที่เหล่านั้นถูกปิด ก็เริ่มพูดคุยกันว่าเอาเงินที่เคยใช้ตรงนั้นมาลงกองกลางร่วมกันซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย
และต้องบอกว่า “การได้ช่วยเหลือคนเป็นสิ่งที่ยึดโยงกลุ่มเข้าด้วยกัน” ด้วยเหตุว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ลองคิดว่าหากวันหนึ่งมีคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 แล้วหาที่รักษาไม่ได้จะทำอย่างไร แต่เมื่อมาทำแล้วก็รู้ช่องทางว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นจะต้องไปต่ออย่างไร อีกทั้ง “เป็นการทำแบบจิตอาสาจริงๆ เพราะเป็นเพจที่ไม่ได้เปิดรับบริจาคเงิน” แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนก็ตาม อย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีผู้สอบถามขอเลขบัญชีธนาคารเข้ามาเป็นจำนวนมาก หากเปิดรับบริจาคตั้งแต่ช่วงนั้นคาดว่าน่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่าหลักร้อยล้านบาท
แต่หลังจากหารือกันในกลุ่ม ก็ได้ข้อสรุปว่า หากประชาชนคนใดอยากสนับสนุนการทำงานของสายไหมต้องรอด ขอให้ช่วยบริจาคเข้ามาในรูปข้าวสาร-อาหารแห้ง ยารักษาโรค ชุด PPE แล้วทางเพจจะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ อีกทั้งในกลุ่มยังมองว่า “การรับเงินบริจาคเท่ากับต้องแบกความหวังของคนทั้งประเทศ” จึงกลายเป็นให้คนในกลุ่มลงขันกันตามความพร้อม เดือนละ 3,000 บาทบ้าง 5,000 บาทบ้าง รวมกันได้ 1 เดือนก็ประมาณ 5 หมื่นบาท เพราะค่าใช้จ่ายหลักๆ คือค่าน้ำมันรถรับ-ส่งผู้ป่วย ส่วนแรงกายไม่มีใครคิดอะไรเพราะทุกคนฐานะดีอยู่แล้ว
“พอจะหมดโควิด คิดในใจรอดแล้ว มันเหนื่อย! บางวันแทบไม่ได้นอน ผมจะเล่าเคสหนึ่งช่วงโควิดที่มันติดใจผมอยู่จนปัจจุบันนี้ปกติพวกเราใช้ชีวิตประจำวัน พอสักห้าทุ่มเที่ยงคืน โทรศัพท์เราก็ชาร์จแบตฯ ปิดเสียงปิดสั่นแล้วก็นอน ตื่นมา 7-8 โมง เราก็เปิดเสียงเปิดสั่นของเราปกติ ปรากฎว่าช่วงโควิดมีสายหนึ่งโทรหาผมตอนประมาณตี 4 โทร5-7 ครั้ง แต่เราก็หลับ ปรากฏว่าเช้ามา 7 โมงกว่าเราตื่นมาก็โทรกลับไปสักเกือบ 8 โมง เขาบอกไม่ทันแล้ว พ่อเสียแล้ว เราก็ตกใจ
เขาบอกว่าตอนที่โทรหาคือพ่อไม่ไหวจะโทรให้มาช่วยหน่อย ให้รถพยาบาลมารับหน่อยแต่ว่ามันติดต่อใครไม่ได้เลย แล้วพ่อเพิ่งมาเสียตอนเช้า เราก็ห่อเหี่ยวนะ กลายเป็นว่าไม่น่าปิดเสียงปิดสั่นเลย ถ้าเราเปิดเสียงเปิดสั่นไว้พ่อเขาอาจจะรอดก็ได้ ก็เลยกลายเป็นว่าปัจจุบันนี้ผมจะเปิดสั่นไว้ตลอด นอนก็เปิดนะเพราะบางทีเราสะดุ้งตื่นมารับได้เราก็จะรับไป ถ้าไม่ไหวจริงก็จะเป็นตอนเช้า แต่มันก็จะมีเบอร์สำรองอีกหลายเบอร์ที่เขาสามารถโทรหาได้ นี่ก็เป็นช่วงปฐมบทที่ช่วงโควิดหนักมาก” เอกภพ เล่าเหตุการณ์สะเทือนใจในการช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิด-19 ระบาด
แม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่สังคมไทยก็ยังมีปัญหาและมีผู้ได้รับความเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ท้ายที่สุดแล้วทีมงานเพจสายไหมต้องรอดจึงไม่ได้สลายตัวกันไปตามที่คิดไว้แต่แรก แต่ยังคงประสานให้ความช่วยเหลือ และยังคงยึดมั่นจุดยืนที่จะไม่เปิดรับบริจาคเช่นเดิม เอกภพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเฉลี่ย 200-300 เรื่อง บางวันมีไปถึง 400 เรื่องในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นการขอคำแนะนำ เช่น เรื่องที่ดิน เรื่องการถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะมีสายด่วนให้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
แต่หากเป็นกรณีที่หนักจริงๆ อย่างล่าสุดเรื่อง “แก๊งทรายทอง” แก๊งอันธพาลของกลุ่มวัยรุ่นใน จ.นนทบุรี สมาชิกอายุ 12-18 ปี ก่อเหตุรุมทำร้ายเด็กชายอายุ 13 ปี บาดเจ็บสาหัส แม่ของเด็กชายมาร้องเรียนกับเพจสายไหมต้องรอด เพราะนอกจากไปแจ้งความกับตำรวจแต่คดีไม่คืบหน้าแล้ว ยังถูกแก๊งนี้ข่มขู่ว่าจะเผาบ้านอีกต่างหาก พอไปบอกตำรวจก็ถูกบอกปัดว่าอีกฝ่ายเป็นเด็กจะให้ไปทำอะไร และเมื่อลงพื้นที่ไปสอบถามชาวบ้าน ก็พบว่าแก๊งนี้เป็นปัญหากว่าที่คิด มีคนถูกปาระเบิดใส่บ้านเพราะไปเตือนว่าอย่าส่งเสียงดัง และมีการทำอาวุธปืนโดยศึกษาจากอินเตอร์เนต
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องขอบคุณผู้กำกับการ สภ.รัตนาธิเบศร์ หน่วยงานตำรวจที่รับผิดชอบท้องที่ดังกล่าว เพราะหลังประสานแล้วก็รีบดำเนินการอย่างรวดเร็วแม้จะเพิ่งย้ายมาประจำการได้เพียง 1 เดือน ซึ่งก็ตามที่เห็นในข่าว มีการจับกุมสมาชิกแก๊งและมีผู้เสียหายไปให้ข้อมูลกับตำรวจเป็นจำนวนมาก โดยแก๊งดังกล่าว
ในเบื้องต้นทราบว่าผู้ที่ร่วมก่อเหตุทำร้ายเด็กอายุ 13 ปี มีประมาณ 7-8 คน แต่แก๊งนี้มีสมาชิกทั้งหมดหลักร้อยคน
ถึงกระนั้น สำหรับตนแล้ว “มิจฉาชีพต้มตุ๋นหลอกลวง” เป็นภัยที่ตนเป็นห่วงอย่างมากเพราะเหมือน “คลื่นใต้น้ำ” ไม่ค่อยเป็นข่าว แต่ตนขอฝากเตือนประชาชนไว้ “อย่าเชื่อเพียงเพราะเขาบอกให้เชื่อ” หลายคนพลาดไปถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว อย่างมีกรณีหนึ่งที่ตนเห็นว่าน่าสงสารมาก หญิงคนหนึ่งอายุราว 56-57 ปี ทำงานมาเกือบ 30 ปี ขยันทำงานเก็บเงิน จนต่อมาพ่อของหญิงคนนี้เสียชีวิต ขณะที่เจ้าตัวเก็บเงินได้ประมาณ8 แสนบาท จึงตั้งใจจะเดินทางกลับภูมิลำเนาไปดูแลแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และใช้เงินก้อนนี้เริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ที่บ้าน
“มันมีมิจฉาชีพ ผมไม่รู้มันเอาข้อมูลมาจากไหน มีข้อมูลของประกันสังคม เคยทำงานเป็นลูกจ้างใช่ไหม? มันจะมีคืนเงินประกันสังคมให้ ขอแอดไลน์หน่อย กดเข้าลิงก์อันนี้ด้วยความที่พี่เขาเพิ่งลาออกจริงๆ จังหวะมันใช่ เหมือนเจ้าหน้าที่ขายข้อมูลให้มิจฉาชีพหรือเปล่าไม่รู้ แต่พอมันได้ข้อมูล พูดตรงเป๊ะ เขาก็หลงเชื่อแอดไลน์แล้วก็กดลิงก์ พอกดลิงก์เท่านั้นมันเข้าควบคุมโทรศัพท์ โอนเงินไปหมดบัญชีเลย 8 แสนกว่า หมดตัวจากเก็บมา 30 ปี
โทรมาหาผมร้องไห้ตลอดเวลา เข้าใจความรู้สึกของเขา เก็บเงินมา 30 ปี กลับมาอยู่กับแม่เพื่อเอาเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตมาดูแลแม่ ผมก็ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เขาไปแจ้งความดำเนินคดี แต่สิ่งที่จะทำได้ก็คือเอาเจ้าของบัญชีม้ามาดำเนินคดีแล้วก็ดูว่ามีเงินเหลือไหม? มากน้อยเท่าไรก็ต้องว่ากันไป แต่ก็ต้องเร่งดำเนินการให้เขา บัญชีม้าก็ติดคุก ผมพูดเลยคนที่เอาบัญชีม้าไปขายให้พวกมิจฉาชีพ ติดคุกแน่นอน เดี๋ยวนี้ศาลท่านไม่เมตตา ท่านมองว่าคุณเป็นต้นกำเนิดของปัญหาอาชญากรรมของประเทศไทย สมรู้ร่วมคิด” เอกภพ ระบุ
ยังมีกรณี “ความรุนแรงในครอบครัวเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด” ชายชราอายุ 72 ปี ถูกลูกชายวัย 39 ปี ทำร้ายร่างกาย ผู้เป็นพ่อประกอบอาชีพขายของชำเล็กๆ น้อยๆ ขณะที่ลูกชายติดยาเสพติดชอบมาขอเงิน หากไม่ให้ก็ลงไม้ลงมือทำร้ายบ้าง ขโมยของในร้านไปขายบ้าง ผู้เป็นพ่อทนกับสภาพนี้มาเป็นสิบปี เพราะแม้จะแจ้งความ ตำรวจจับลูกชายไปเข้ารับการบำบัดยาเสพติด แต่เมื่อออกมาก็กลับมาเสพแล้วก็วนเข้าวงจรเดิมๆ
เรื่องนี้เกิดขึ้นในท้องที่ของ สน.วัดพระยาไกรเอกภพ เล่าว่า ได้ประสานไปยังผู้กำกับการ และแนะนำว่า พนักงานสอบสวนต้องให้ข้อมูลกับศาลว่าบุคคลคนนี้ก่อเหตุซ้ำซากไม่เกรงกลัวกฎหมาย นำไปสู่การจับกุม ฝากขัง สืบสวนว่าได้กระทำผิดมาแล้วกี่ครั้งต่างกรรมต่างวาระคุณพ่อท่านนี้ก็โทรศัพท์มาขอบคุณตน บอกว่ารู้สึกโล่งใจ ไม่ต้องทุกข์ทรมานอีกแล้ว
“วันนี้สังคมบ้านเรามันต้องขับเคลื่อนด้วยการสื่อสาร ขับเคลื่อนด้วยพลังโซเชียลอย่างนี้ แต่ผมหวังว่าสิ่งที่เราทำวันนี้อาจเป็นตัวจุดกระตุ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งท่านมีเงินเดือนกินกันอย่างนี้ ให้มาทำงานอย่างจริงจัง ช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง วันหนึ่งผมหวังว่าผมตื่นมาแล้วไม่มีคนมาร้องเรียนผมเลย เพราะระบบที่มันมีอยู่มันดี มันลงตัวแล้ว มุ่งหวังอย่างนั้นจริงๆ นะ” เอกภพ กล่าว
แต่ถึงจะมีภาพลักษณ์เหมือน “ฮีโร่” ผู้ผดุงความยุติธรรม ก็ใช่ว่าจะไม่มีกรณีที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มสายไหมต้องรอดขัดกับกระแสอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม เพราะ “การทำสิ่งที่ถูกต้องอาจไม่ใช่เรื่องถูกใจคนเสมอไป” เอกภพ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งตนไปช่วยคนชื่อลุงต้อมสืบเนื่องจากมีประชาชนแจ้งเข้ามา บอกว่านอนอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ตามลำตัวมีแผลเหวอะหวะก็มีชาวบ้านไปถามลุงว่าโดนอะไรมา ลุงต้อมบอกถูกราดน้ำก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ ใส่ เพราะไปขอกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้านแล้วร้านไม่ให้กินแล้วสาดน้ำร้อนไล่
เบื้องต้นเมื่อสอบถามชาวบ้านในละแวกนั้น ทราบข้อมูลว่า ลุงต้อมเป็นคนขี้เมา ชอบเดินไปขอเงินบ้าง ขออาหารบ้าง แต่ไม่เคยทำร้ายใคร อีกอย่างเป็นคนใช้งานง่าย ให้ 20 บาท ช่วยกวาดพื้นหรือเก็บร้านก็ทำ กระทั่งวันเกิดเหตุลุงต้อมในสภาพเมาสุรา ไปขออาหารที่ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งปกติทางร้านก็ให้กิน แต่วันนั้นไม่รู้เกิดอะไรขึ้นทางร้านเหมือนโมโหและพยายามไล่ และเมื่อลุงต้อมไม่ไป จึงคว้ากระบวยที่มีน้ำก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ อยู่สาดใส่จนเป็นแผล ลุงต้อมก็วิ่งหนีแล้วก็มานอนซมอยู่ 2 วัน ทำให้แผลเน่า
ซึ่งหลังจากให้ทีมงานพาลุงต้อมไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ก็คิดว่าจุดยืนของตนคือไม่ควรมีใครใช้ความรุนแรงทำร้ายกันเอง หากเห็นว่าอีกฝ่ายมาระราน วิธีที่ถูกต้องคือการแจ้งความไม่ใช่ลงมือทำร้ายอีกฝ่ายเอง ตนจึงพาลุงต้อมไปแจ้งความเอาผิดร้านก๋วยเตี๋ยว ผลคือเมื่อเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าว ความเห็นบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่กลับด่าทอตน บอกว่าลุงต้อมไประรานเขาก่อนก็สมควรแล้วทำไมต้องไปช่วย นี่คือสังคมไทยกำลังป่วยทางความคิดหรือไม่
“มีสายโทรศัพท์สายหนึ่งที่ทำให้ผมมีกำลังใจมากเลย ผมต้องขอบคุณคุณป้าสายนี้มาก คุณป้าโทรศัพท์สายตรงมาจากอเมริกา แล้วก็บอกว่า คุณเอก! พอจะมีเลขบัญชีเบอร์ติดต่อ หรืออะไรที่เกี่ยวกับลุงคนที่ถูกราดน้ำร้อนไหม? ป้าโทรมาจากอเมริกา เราก็ตกใจ แล้วคุณป้าดูข่าวอย่างไร? ป้าบอกดูข่าวจากยูทูบตลอด ติดตามข่าวที่ประเทศไทย ป้า บอกว่าสิ่งที่คุณเอกทำคือสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเรื่องนี้เกิดที่อเมริกา ร้านก๋วยเตี๋ยวต้องถูกจับตั้งแต่วันแรก มันจะไม่เกิดเหตุการณ์อะไรแบบนี้เลย เพราะคนเราเป็นคนเท่ากัน เขาไม่ใช่สัตว์ สัตว์ก็ยังไม่มีสิทธิ์ทำเขา” เอกภพ กล่าว
เอกภพ ยังเล่าอีกว่า การคุยกับคุณป้าท่านนี้ ทำให้ตนรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่บางทีคนไทยจะมองอีกมุมหนึ่ง เช่น มองเป็นคนบ้า คนเมา ทำไปเถอะไม่เป็นอะไร ตนถามกลับว่าถ้าอีกฝ่ายรวย 100 ล้าน จะกล้าทำแบบเดียวกันหรือไม่ ตนเห็นว่าที่กล้าทำเพราะเห็นอีกฝ่ายยากจนหรือไม่มีทางสู้ แต่ตนต้องการทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะยากดีมีจนกฎหมายก็ต้องคุ้มครอง
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี