“รุ่น” หรือ “เจเนอเรชั่น (Generation)” เป็นการแบ่งประชากรเป็นกลุ่มตามช่วงปีที่เกิด ซึ่งปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ “เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer)” เกิดปี 2489-2507 , “เจ็นเอ็กซ์ (Gen X)” เกิดปี 2518-2519, “เจ็นวาย (Gen Y)” เกิดปี 2520-2537 และ “เจ็นแซด-เจ็นซี (Gen Z)”เกิดปี 2538-2552 นอกจากนั้นยังมีอีก 2 กลุ่ม (หรือ 2 ช่วงวัย)คือ “ไซเลนท์เจ็น (Silent Gen)” เกิดก่อนปี 2489 กับ“เจ็นอัลฟ่า (Gen Alpha)” เกิดหลังปี 2552 แต่ 2 กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก และไม่ได้อยู่ในกำลังแรงงานหลักในยุคปัจจุบัน
“การแบ่งรุ่นหรือช่วงวัยแบบนี้สำคัญอย่างไร?” เพราะคนที่เกิดและเติบโตมาในแต่ละยุคสมัยนั้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน จึงส่งผลต่อวิธีคิด ค่านิยม แนวทางการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไปด้วย การเข้าใจคนแต่ละช่วงวัยทำให้ลดปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” และสามารถทำงานรวมถึงใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างราบรื่น เช่น เบบี้บูมเมอร์ จะให้ความสำคัญกับการรักษาระเบียบวินัย จารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในค่านิยม ขยัน ประหยัด อดทน และจงรักภักดี จึงไม่นิยมเปลี่ยนงานบ่อยๆ ได้งานทำที่ใดก็จะทุ่มเททำงานให้กับที่นั่นจนเกษียณอายุ,
เจ็นเอ็กซ์ แม้จะยังให้ความสำคัญกับขยัน ประหยัด อดทน คล้ายกับเบบี้บูมเมอร์ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือคนเจ็นเอ็กซ์เริ่มให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว (Work-Life Balance) จึงดูเหมือนไม่ได้ทุ่มเทถวายชีวิตเพื่อองค์กรมากเท่ากับเบบี้บูมเมอร์, เจ็นวาย เป็นคนรุ่นที่เติบโตมาในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคอนาล็อกไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งแม้เทคโนโลยีอย่างโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์จะเริ่มออกมาตั้งแต่ยุคเจ็นเอ็กซ์ แต่การแพร่หลายอย่างกว้างขวางมาเริ่มในช่วงเจ็นวาย โดยเฉพาะอินเตอร์เนต เทคโนโลยีที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ คนเจ็นวายมักถูกคนรุ่นก่อนหน้ามองว่าเห็นแก่ตนเองเป็นหลัก เช่น ต้องการทราบความชัดเจนเรื่องผลตอบแทนและความก้าวหน้าตั้งแต่วันสมัครงาน ไม่ค่อยอดทน พร้อมจะลาออกจากองค์กรเดิมไปหางานใหม่ได้ง่ายๆ แต่คนเจ็นวายจะโดดเด่นเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างคล่องแคล่ว ทำอะไรหลายๆ อย่างได้ในคราวเดียวกัน และมีความคิดสร้างสรรค์
ขณะที่ เจ็นซี-เจ็นแซด ด้วยความที่เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนามาถึงขั้นที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันได้เต็มที่ เช่น อินเตอร์เนตความเร็วสูงและไร้สายซึ่งเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ทำให้ถูกเรียกว่าเป็นคนรุ่นที่มีทักษะดิจิทัลติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (Native Digital) เพราะใช้เทคโนโลยีได้คล่องแคล่วเสียยิ่งกว่าเจ็นวาย อีกทั้งการโตมากับอินเตอร์เนตทำให้รับข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวาง จึงยอมรับความแตกต่างได้มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่ก็ถูกมองว่ามีข้อเสียเรื่องไม่อดทน รอไม่ได้ และอยากทำงานเฉพาะแต่ที่ตนเองพอใจเท่านั้น เป็นต้น
ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 ในการแถลงข่าว“10 อาชีพเด่น อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่” โดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) มีการเปิดเผย 10 อาชีพมาแรงของคน Gen Z ประจำปี 2567 ประกอบด้วย 1.วิศวกรความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Network Security) หรือเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคความปลอดภัย 2.แพทย์ ด้านศัลยกรรม ด้านผิวหนัง 3.นักกายภาพบำบัด, นักจิตวิทยา และทันตแพทย์
4.นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) หรือนักออกแบบข้อมูล 5.ยูทูบเบอร์, ติ๊กต็อกเกอร์, อินฟลูเอนเซอร์, สตรีมเมอร์และพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 6.ดารา นักแสดง นักร้อง, นักการตลาดออนไลน์, นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 7.นักวิเคราะห์การเงิน ที่ปรึกษาการเงิน และนักวางแผนทางการเงิน 8.ผู้ประกอบการ (ธุรกิจส่วนตัว) 9.ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ กฎหมาย และ 10.ติวเตอร์ และหมอดู
รายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 ชยงการ ภมรมาศ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร วิเคราะห์ความน่าสนใจว่าเหตุใดแต่ละอาชีพถึงเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ไล่ตั้งแต่ “วิศวกรความปลอดภัยทางไซเบอร์” ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นอาชีพที่มีความต้องการในตลาดแรงงานเป็นอย่างมากอีกทั้งมีค่าตอบแทนสูง แต่ก็ต้องบอกกับผู้ที่สนใจสายงานนี้ไว้ก่อนเลยว่าเรียนยากมาก จึงทำให้ผลิตบุคลากรออกมาได้ไม่มากนัก,
“นักวิเคราะห์ข้อมูล” หรือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพราะยุคนี้ข้อมูลคือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง สามารถนำไปพยากรณ์หรือคาดการณ์อะไรๆ ได้มากมาย, “แพทย์ด้านศัลยกรรมผิวหนัง” ต้องยอมรับว่าคนยุคนี้สนใจดูแลตนเองมากขึ้น ขณะเดียวกันด้วยความที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ซึ่งแม้จะอายุมากขึ้นแต่หลายคนก็ไม่อยากให้ตนเองดูชราภาพไปมากนัก อีกทั้งวงการแพทย์ไทยก็มีชื่อเสียงด้านงานศัลยกรรม มีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้บริการ จึงเป็นอีกอาชีพที่มีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน,
“นักกายภาพบำบัด” ภาวะสังคมสูงวัยทำให้ต้องการการดูแลร่างกายมากขึ้น, “นักจิตวิทยา” เพราะสภาพสังคมปัจจุบันเอื้อต่อการเกิดความเครียดและซึมเศร้าได้กับคนทุกวัย“อินฟลูเอนเซอร์ พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ นักการตลาดออนไลน์” แน่นอนว่าปัจจุบันโลกออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการหารายได้ เช่น ที่ประเทศจีน บางคนไลฟ์สดขายของครั้งหนึ่งทำรายได้สูงถึงหลักล้าน, “ดารา นักแสดง นักร้อง” ระยะหลังๆ ก็สามารถสร้างหรือโปรโมทผลงานของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับค่ายสังกัดอย่างในอดีต,
“เราลองย้อนสมัยผมเด็กๆ แล้วกันนะ นางงามมีไม่กี่ค่ายแล้วแต่ละคนเราท่องจำชื่อได้หมดเลย เขาดังมาก แต่ยุคนี้เดี๋ยวนี้ โอ้โห! คนดังบนอินเตอร์เนตเยอะไปหมด เซเลบฯเต็มไปหมดเลย นางงามก็ยังมีอยู่นะแต่ว่าหลายค่ายเยอะขึ้น แล้วขณะเดียวกันมีคนที่ไม่ต้องไปผ่านวงการประกวดด้วยแต่คนรู้จัก คนฟอลโลว์ตามกันเยอะแยะมากมายจนผมเองก็ยังตามไม่ทัน เพราะว่าเยอะมาก” อาจารย์ชยงการ กล่าว
อาจารย์ชยงการ ฉายภาพต่อไปยัง “นักพัฒนาซอฟต์แวร์”ว่าเป็นอีกอาชีพที่สำคัญมากในยุคนี้ และมองว่าหากคนไทยให้ความสนใจจะสร้างมูลค่าได้มาก เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ที่แตกต่างจากรถยนต์สมัยก่อน (รถยนต์เครื่องสันดาปภายใน-ICE) เพราะมีชิ้นส่วนน้อยกว่า โดย EV คันหนึ่งจะมีชิ้นส่วนหลักๆ คือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ แต่ระบบการทำงานต่างๆ ในรถล้วนใช้ซอฟต์แวร์ควบคุม ,
“นักวิเคราะห์การเงิน” หากย้อนไปเมื่อราว 40 ปีก่อน ใครได้ทำงานเป็นพนักงานธนาคารจะดูโก้ดูเท่มาก และผู้ที่เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์การเงินก็มักจะมุ่งไปสู่การเป็น “นายแบงก์” เพราะเป็นอาชีพที่มีความต้องการในตลาดแรงงานสูงและมีรายได้ดีแต่ปัจจุบันสาขาและพนักงานธนาคารค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์การเงินยังเป็นอาชีพที่จำเป็นแม้ในยุคนี้จากหลายปัจจัย
เช่น คนอายุยืนมากขึ้นจึงต้องวางแผนการเงิน อาทิ ปัจจุบันอายุเกษียณจากวัยทำงานกำหนดไว้ 60 ปี แต่อายุขัยเฉลี่ยคนเราอยู่ที่ 80 ปี ก็ต้องคิดไว้ล่วงหน้าว่าอีก 20 ปีที่เหลือจะอยู่อย่างไร นอกจากนั้น ค่านิยมของคนรุ่นใหม่ยังไม่เน้นการทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์) แต่ต้องการสมดุลในชีวิตระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน รวมถึงต้องการหารายได้แบบใช้เงินให้ทำงาน (Passive Income)
“วันก่อนคุยกับลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัย เป็นชาวต่างชาติ ไม่เอ่ยชื่อประเทศแล้วกันนะ แต่ทางเอเชียตะวันออก เขาบอกเขาอยากย้ายมาอยู่เมืองไทย ผมถามว่าทำไม? เขาบอกว่าอยู่ที่นั่นแล้วเขาเครียด มาอยู่บ้านเราชีวิตมันเหมือนสบายกว่า แล้วเขารู้สึกว่าชีวิตเขาสมดุล คือเหมือนกับไม่เครียดจนเกินไปผมเลยแนะนำให้ไปเที่ยวภาคเหนือด้วย จะได้เอ็นจอยกับอากาศ-บ้านเมือง” อาจารย์ชยงการ ยกตัวอย่าง
นอกจากนั้นยังมี “ธุรกิจส่วนตัว” คนรุ่นใหม่ชอบการเป็นนายตนเอง อีกทั้งการทำธุรกิจยังมีโอกาสผลตอบแทนสูง และไม่ต้องถูกกำหนดเวลาทำงานตายตัว อย่างที่คนสมัยก่อนมีสำนวน “ไนน์ทูไฟว์ (9 to 5)” หมายถึงเข้างาน 9 โมงเช้า และเลิกงาน 5 โมงเย็น (หรืออาจเป็น 08.30-16.30 น. ก็ได้ แต่เวลาจะแน่นอนตายตัว), “ที่ปรึกษากฎหมาย” ระยะหลังๆ จะเห็น “ทนายความ” มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามพัฒนาการของสังคมที่แต่ละคนเริ่มรู้จักรักษาสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น
สุดท้ายคือ “หมอดู” ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นอาชีพที่แปลกที่สุดในกลุ่ม 10 อาชีพมาแรงในสายตาคนรุ่นใหม่ข้างต้น แต่เรื่องนี้อาจารย์ชยงการ กล่าวว่า สามารถอธิบายได้จากการมองดูชีวิตประจำวันของเรา เดี๋ยวนี้เปิดสื่อสังคมออนไลน์ชอบเลื่อนไปดูเนื้อหาเกี่ยวกับการดูดวง ราศีนั้นจะเป็นอย่างไร วิธีการใส่สีประจำวันให้ดีเด่นในเรื่องใด ซึ่งต้องบอกว่า หมอดูเป็นอาชีพที่อยู่คู่โลกมาทุกยุค
อย่างสมัยโบราณจะทำสงครามยังต้องดูฤกษ์ยาม หรือจะจัดงานแต่งงานก็ยังต้องดูฤกษ์ยาม แต่หากให้ตนวิเคราะห์แบบเศรษฐศาสตร์ นั่นก็เพราะชีวิตคนเราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน จึงต้องการที่พึ่งทางใจมาช่วยนำทางชีวิต อย่างไรก็ตาม ศาสตร์ของหมอดูนั้นใกล้เคียงกับการใช้หลักสถิติ เช่น การดูโหงวเฮ้ง อาจเก็บข้อมูลกันมาตั้งแต่อดีตว่าคนหน้าตาแบบนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร ถึงกระนั้นก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง
“ผมมองว่าอาชีพหมอดูมันคงตอบในเรื่องของโลกปัจจุบันที่เราเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า วูกา (VUCA) โลกที่มันผันผวน พลิกผัน ซับซ้อน หาความแน่นอนไม่ค่อยได้ ดังนั้นวิธีคิดในท้ายที่สุดอาจต้องไปหลักพึ่งพิงที่มาตรฐานที่สุดคือหาหมอดูแล้วกัน ซึ่งน่าสนใจนะ เราคงได้สังเกตว่าเรื่องนี้ธุรกิจใหญ่ๆ เขาก็เชื่อนะ ฮวงจุ้ย ซินแสต่างๆ” อาจารย์ชยงการ กล่าว
กับคำถามสุดท้าย “หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์..คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวมาก-น้อยเพียงใด? และอย่างไรบ้าง?” อาจารย์ชยงการให้ข้อคิดว่า “ทักษะที่จะอยู่รอดในโลกยุควูกานั้นสำคัญมาก” เช่น ในยุคสมัยก่อนหน้านี้ คนจำนวนมากทำงานเพียงอาชีพเดียวไปจนถึงวัยเกษียณ แม้จะเปลี่ยนองค์กรต้นสังกัด ออกจากที่นี่ไปทำที่นั่นแต่ก็ยังอยู่ในอาชีพเดิม แต่ในยุคใหม่มีผลการศึกษาพบว่า ในช่วงชีวิตการทำงานของคนคนหนึ่งอาจต้องเปลี่ยนการทำงานได้แบบหลายอาชีพ อีกทั้งยังคาดการณ์ไม่ได้ด้วยเพราะอาชีพใหม่ๆ จะเกิดขึ้นตามโลกที่เปลี่ยนไป
เช่น หากเทียบระหว่าง 30 ปีก่อนกับปัจจุบัน เราจะเห็นอาชีพที่ไม่เคยพบมาก่อนเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะอาชีพที่มากับยุคออนไลน์ ดังนั้นการศึกษาจึงไม่มีคำว่าสิ้นสุดเพราะทำงานไปเดี๋ยวก็ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อีก “ทักษะที่จำเป็นของยุคนี้จึงหมายถึงการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเรียนในชั้นเรียนเสมอไป แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะหาข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าโลกมีอะไรเปลี่ยนไป และตนเองจะแสวงหาหนทางพัฒนาทักษะ (Upskill-Reskill) ให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปนั้นได้อย่างไร
ทักษะที่จำเป็นประการต่อมาคือ “ล้มแล้วลุกไว” เพราะในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชีวิตจะต้องเผชิญกับความผิดหวัง เข้าใจว่าเป็นธรรมดาที่ชีวิตจะไม่ได้ประสบความสำเร็จไปทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อไม่สำเร็จแล้วจะปรับตัวอย่างไร “แต่ทักษะนี้หาเรียนไม่ได้..ต้องฝึกเอง” ซึ่งน่าสังเกตว่า คนที่เรียนหนังสือเก่งจำนวนมากก็ไม่ค่อยมีทักษะนี้ เพราะชีวิตวัยเรียนสอบได้เกรดเฉลี่ยสูงๆ มาตลอด แทบไม่เคยต้องรู้สึกผิดหวัง ในทางกลับกันเด็กกลุ่มที่เรียนไม่เก่งกลับมีทักษะการเอาตัวรอดในชีวิตสูง
“เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้บอกให้ไม่เรียนหนังสือนะ เรียนหนังสือได้แต่ต้องมีทักษะใหม่ๆ พวกนี้ เรียนรู้ตลอดเวลา ล้มแล้วลุกไว พวกนี้ผมว่าจำเป็นมาก” อาจารย์ชยงการ ฝากทิ้งท้าย
หมายเหตุ :สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
“วูกา (VUCA)” คืออะไร? : คำว่า วูกา (VUCA) มาจากอักษรตัวหน้าของ 4 คำในภาษาอังกฤษ คือ “V-Volatility” หรือความผันผวน หมายถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว , “U-Uncertainty” หรือความไม่แน่นอน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงยังยากในการคาดเดา , “C- Complexity” หรือความซับซ้อน หมายถึงในสถานการณ์หนึ่งอาจมีหลากหลายปัจจัยเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน จึงเป็นเรื่องยากสำหรับการวิเคราะห์หรือตัดสินใจ และ “A-Ambiguity” หรือความคลุมเครือ หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน
ผู้ที่เริ่มอธิบายแนวคิดเรื่องวูกา คือ วอร์เรน เบนนิส (Warren Bennis) และ เบิร์ท นานัส (Burt Nanus) 2 นักวิชาการชาวอเมริกัน และได้รับความสนใจจากแวดวงการทหารมาก่อนแวดวงธุรกิจ โดยกองทัพสหรัฐอเมริกาได้เริ่มใช้คำนี้ในปี 2530 อันเป็นช่วงท้ายของยุคสงครามเย็น (Cold War) เพื่ออธิบายการมองเห็นเค้าลางของกระแสโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณี “9/11” หรือการก่อวินาศกรรมอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในเมืองนิวยอร์กของสหรัฐฯ โดยใช้เครื่องบินโดยสารพุ่งชนจนอาคารพังถล่มลงมา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี