“Thailand 4.0” ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกด้วยเทคโนโลยีจากเดิมที่เน้นขายวัตถุดิบโดยเฉพาะสินค้าเกษตร เปลี่ยนผ่านการผลิตสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ปรับทักษะแรงงานทุกช่วงวัย (Upskill&Reskill) ให้สอดคล้องกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Disruption) เศรษฐกิจรักษ์โลก (BCG) ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ 101 Public Policy Think Tank และ เว็บไซต์สื่อความรู้
สร้างสรรค์ The101.world เปิดวงเสวนา “เทคโนโลยีใหม่ประเทศไทยเปลี่ยน?” ชวนผู้เกี่ยวข้องกับแวดวงเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลายท่านร่วมเป็นวิทยากร อาทิ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (ThailandFuture) ฉายภาพ “มุมมองนักลงทุน” เมื่อจะมองอนาคตประเทศ จะมองจาก 2 เรื่อง คือ 1.ตลาดหุ้น กับ 2.เด็กและเยาวชน ซึ่งต้องบอกว่าปัจจุบันไทยสะบักสะบอมทั้งคู่
“ถามว่าปัญหาคืออะไร?” คำตอบคือ “คนทั่วไปมองไม่ออกว่าประเทศจะโตด้วยอะไร?” อย่างเรื่องของเด็กและเยาวชน ล่าสุดคือการสอบ PISA ที่แม้จะไม่ได้วัดทุกอย่างแต่วัดหลายอย่างแล้วไม่ได้ดี แล้วยังเจอเรื่องเทคโนโลยีเข้ามา ดังนั้นโจทย์หลักคือ 1.จะทำอย่างไรเราจึงจะโตได้ในสถานการณ์แบบนี้ และ 2.จะแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมมากขึ้นได้อย่างไร “สถานการณ์ที่ไม่อยากให้เจอ คือประเทศไทยนอกจากจะไม่โตแล้วยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นอีก” เพราะจะนำมาซึ่งสารพัดปัญหา เช่น สุขภาพทั้งกายและจิต สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
“ถ้ามองในมุมเทคโนโลยี เป็นเรื่องดิสรัปชั่นกับอัตราการโตของเรา ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องแรงงาน อันนี้อาจจะตั้งแต่ตอนที่เราเป็นเด็ก เข้าสู่ตลาดแรงงาน เสร็จแล้วก็มาทำงานไม่ว่าจะเป็น Sector (ภาคส่วน)ไหนก็ตาม กระบวนการนี้ผมมีความกังวลมากว่ามันไม่สอดรับกับคลื่นลูกใหม่นี้หรือเปล่า? ต้องบอกว่าไม่ได้เป็นปัญหาเพิ่งเกิดปีที่แล้ว ที่ Chat GPT (แชทบอทระบบปัญญาประดิษฐ์-AI) มาปุ๊บทุกคนบอกประเทศไทยมีปัญหาแรงงาน มีตั้งนานแล้ว
ผมว่าดีแล้วที่มันมา มันทำให้เราตื่นรู้ขึ้นว่ามันไม่โอเคที่เอาเด็กๆ อยู่ในโรงเรียนแล้วเรียนแบบ Fix (ตายตัว) มากๆ พอจะถึงตอนจะทำงาน เชื่อไหม? ผมไปพูดเรื่อง
เอไอ ที่แตกตื่นที่สุดคืองานที่เกี่ยวกับ HR (ฝ่ายบุคคล-ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์) พี่ๆ HR นั่งฟังกันเป็นพันๆ คน แล้วเขาก็กังวลมากว่าทำอย่างไรดี เพราะใจหนึ่งก็ต้องตอบโจทย์ CEO อีกใจหนึ่งก็ต้องตอบโจทย์พนักงานที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่างานจะเป็นอย่างไร” ณภัทร กล่าว
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย กล่าวว่า เมื่อมองประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(อาเซียน) พบ 3 ชาติแรกที่ลงทุนด้านสตาร์ทอัพ คือสิงคโปร์ อินโดนีเซียและเวียดนาม ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 4 อีกทั้งช่องว่างระหว่างเวียดนามกับไทยในการลงทุนด้านสตาร์ทอัพยังห่างกันพอสมควร และจากประสบการณ์ไปลงพื้นที่ในเวียดนาม ได้สอบถามนักลงทุนว่ามองเห็นอะไรในเวียดนาม กลับเจอย้อนถามกลับมาว่าแล้วประเทศไทยมีอะไร
ซึ่งในฐานะที่เป็นคนไทยได้ยินแล้วก็อึ้งอยู่ไม่น้อย โดยนักลงทุนที่ไปเวียดนามส่วนใหญ่มาจากเกาหลีใต้ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า “คนเวียดนามดูมีใจฝักใฝ่ STEM (วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-วิศวกรรมศาสตร์-คณิตศาสตร์) ชัดเจนกว่าเมื่อเทียบกับคนไทย” ขณะที่ข้อสังเกตเกี่ยวกับคนมีความสามารถสูงของไทย เมื่อเรียนจบแล้วนิยมเลือกทำงานในองค์กรขนาดใหญ่มากกว่าจะทำสตาร์ทอัพ เมื่อเทียบกับคนเวียดนามหรืออินโดนีเซีย
“การจะเป็นยูนิคอร์นได้ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่ามันคือพันล้านเหรียญยูเอสดอลลาร์ ทีนี้ประเทศไทยมันติดกับดักที่ว่าเราก็ไม่ได้ใหญ่เหมือนอินโดฯ ในเชิงของตลาด ในเชิงของขนาดตลาดมันก็ไม่ได้เล็กแต่มันก็ไม่ได้ใหญ่แต่เวลาเราจะคิดที่จะโตไประดับซีรี่ส์บี ซีรี่ส์ซี หรือดีขึ้นไป มันต้องคิดระดับภูมิภาค ซึ่งการที่จะขยายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใหญ่แบบแกร็บ (Grab) มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นมันก็มีความท้าทายมันอยู่ ทีนี้กลุ่มที่เป็น Growth Stage (ขั้นเจริญเติบโต) จริงๆ นักลงทุนมีเยอะที่จะลงทุนได้ มีเม็ดเงินจะลงทุน แต่ขังไม่ค่อยเห็นศักยภาพสตาร์ทอัพที่มีโอกาสจะไปสู่ภูมิภาคได้” อรนุช กล่าว
พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี นักวิจัย และนักศึกษาปริญญาเอก MIT Media Lab กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่คนยุคปัจจุบันคุ้นเคย ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มาจากการสั่งสมความรู้อย่างต่อเนื่อง อย่างในสหรัฐอเมริกา มีการสะสมองค์ความรู้กันมานานถึง 30 ปี ซึ่งยุคนั้น AI ยังไม่ใช่คำที่อยู่ในกระแสหลัก หรือแม้กระทั่ง “ซอฟต์พาวเวอร์ทางเทคโนโลยี” อย่างการสร้างภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ (Sci-Fi) ดึงดูดให้คนอยากไปสหรัฐฯ เพราะเห็นจากภาพยนตร์ดังอย่างสตาร์วอร์ส(Star Wars) หรือสตาร์เทร็ค (Star Trek)
ซึ่ง “วัฒนธรรมเทคโนโลยี (Tech Culture)” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยดึงดูดคนมีความสามารถเข้าประเทศ หรือสร้างคนมีความสามารถ หรือสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการที่เมื่อวันหนึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมา ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเชิงพาณิชย์ (Commercialize)ได้อย่างรวดเร็ว อย่าง AI ที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ก็กลายเป็นกระแสหลักที่คนทั่วไปคุ้นเคยแล้ว ในความเป็นจริงมีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่การศึกษาในกองทัพและมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึง 30 ปี
“ประเด็นแรก การที่ไทยจะมองเรื่องของนโยบายการวิจัยในอนาคต มันไม่ใช่แค่มองอะไรที่แบบว่าลงวันนี้แล้วพรุ่งนี้ได้ แบบว่าวันนี้ลงไปสัก 10 ล้านพรุ่งนี้จะได้ Chat GPT อันนี้เป็นภาพที่ถ้าคนมองแบบนี้อาจจะไม่ได้เห็นความซับซ้อนที่มันอยู่เบื้องหลังตรงนี้ ประเด็นที่สอง คิดว่าน่าสนใจเหมือนกัน พอเราพูดถึงวิจัย ที่ MIT เราบอกว่าเมื่อไรก็ตามที่สามารถเขียนได้ว่านี่คือเทรนด์อะไร เทรนด์พวกนี้มันล้าสมัยแล้ว หมายความว่าวันนี้เราเพิ่งมาตื่นเต้นเรื่อง AI กัน AI มันเป็นหัวข้อที่เขาวิจัยมา 30 ปีแล้ว วาระตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของ AI อีกต่อไป” พัทน์ กล่าว
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งข้อสังเกตว่า “แม้ประเทศไทย
จะให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ แต่มักเน้นไปทางด้านวิจัยประยุกต์ (Applied Research)” ตัวอย่างง่ายๆ คือตั้งแต่วัยเรียน เด็กที่หัวดีจะได้รับคำแนะนำให้เรียนต่อเพื่อเป็นแพทย์หรือไม่ก็วิศวกร จะไม่มีการแนะนำให้ไปเรียนอย่างด้านฟิสิกส์ของอนุภาค (Particle Physics) ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะเรียนจบแล้วก็ไม่รู้จะไปต่ออย่างไรให้ชีวิตก้าวหน้า
“Applied Research (วิจัยประยุกต์) แข็งแกร่งในประเทศไทยถ้าอยู่ใน Field (พื้นที่) ที่ไปได้ ฉะนั้นลักษณะการลงทุนทั้งหมดรวมถึงวิจัยด้วยจะเป็นปลายน้ำเป็นหลัก ด้านหนึ่งก็ดีเพราะทำให้เห็น Outcome (ผลลัพธ์) เร็ว อะไรก็ควิกวินไปหมด แต่ข้อเสียคือที่ผ่านมาเราเน้นปลายน้ำอย่างเดียว เราขาดการลงทุนในต้นน้ำอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นเราก็จะหยิบยืมเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากชาติอื่นทั้งสิ้น พอเราใช้ทุนที่มาผลิตเป็นปลายน้ำไปหมดแล้ว เราก็จะพบว่าไม่มีต้นน้ำเป็นแหล่งทุนที่จะช่วยต่อยอด มันก็ทำให้เกิดช่องว่างมหาศาลมาก” ศ.นพ.มานพ กล่าว
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่น อีกประเทศ
ที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยี ว่า เคยมีการเปรียบเทียบห้วงเวลา 20 ปี ระหว่างทศวรรษที่ 1990 กับ 2010 ซึ่ง Research Academic Paper (บทความวิชาการวิจัย) Science PatentKnowledge (สิทธิบัตรด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์) มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ แต่พอไปดูสิทธิบัตรที่ต่อยอดจากงานวิจัยกลับพบมากขึ้น หมายความว่า ภาคเอกชนมีขีดความสามารถในการนำความรู้พื้นฐานไปใช้ในเชิงพาณิชย์
“ดังนั้นถ้ามองด้วยกระบวนท่าแบบญี่ปุ่น รัฐจะทำอย่างไรให้บริษัทต้องมีขีดความสามารถในการล้วงเอาความรู้ใน Academic Paper ไปส่งเสริมธุรกิจให้มากขึ้น แล้วนักวิจัยไม่ต้องกังวล อาจจะหากลไกให้เขาได้เจอกัน แล้วบริษัทมาล้วงเอาความรู้ไป ผมยกตัวอย่างเร็วๆ มันอาจจะไม่ได้เป็นทางออกเดียว แต่มันมีกระบวนท่ามาตรฐานบางอย่างที่เราเรียนรู้ได้จากอเมริกา จากญี่ปุ่น หลายๆ อย่างที่จะตอบคำถามที่เราทิ้งไว้เหล่านี้” แบ๊งค์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี