สำรวจทักษะสำหรับ “บุคลากร-องค์กร” ที่สำคัญแห่งอนาคตปี 2567 เมื่อ Generative AI เข้าสู่หนึ่งในชีวิตการทำงาน และเกิดสภาวะการแข่งขันระหว่าง “คนธรรมดาๆ กับ คนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็น” เราจะต้องเติมเต็ม ทักษะ และ ความสามารถทางด้านไหนบ้างและอย่างไร? ถึงจะอยู่รอดและเติบโตให้หน้าที่การงานอย่างมีศักยภาพ
โดยว่ากันว่าในปีสองปีนี้มีความผันผวนและไม่แน่นอนมากที่สุดในรอบหลายๆปีที่ผ่านมา จากการเข้ามาของ AI ที่ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งผู้ที่ไม่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ก็คือผู้ที่รอเวลาล่มจม แล้วจะล้มแบบลุกไม่ขึ้นอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จึงพุดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านศาสตร์การเรียนรู้ ที่มีประสบการณ์ ได้แก่ 1.อ.พิไลพรรณ นวานุช ผู้ช่วยอธิการบดี สายงานทรัพยากรบุคคล DPU 2.ผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU 3.คุณวนะชัย รัศมีพลังสันติ Head of Mandala Academy AI บริษัทเทคฯ ชั้นนำในประเทศไทย เพื่อตรวจสอบความพร้อมในสมรรถนะ “คุณต้องหยุดและเติมสิ่งไหน” ถึงจะนำไปสู่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ…
AI คือปีกพาพนักงานบิน
คุณวนะชัย จาก Mandala ระบุว่า สถานการณ์ของ Generative AI ปี 2566 ที่ผ่านได้ถูกยกระดับให้เข้าถึงการใช้งานระดับบุคคลมากขึ้น หลังจากถูกใช้อย่างแพร่หลายในระดับอุตสาหกรรมขั้นสูง เฉกเช่นเดียวกับแต่ก่อนที่อุตสาหกรรมโรงงานเริ่มใช้โรบอท และ ระบบออโตเมติกมากขึ้น ในการมาทดแทนงานที่มีรูปแบบการทำงานซ้ำๆ และมีรูปแบบชัดเจน แล้วสุดท้ายหุ่นยนต์ก็เข้ามาสู่บ้านเรือนของเรา เป็นของที่ทุกคนเข้าถึงได้ ‘ความกังวล’ แสนคลาสสิกที่หลายคนจับตามองจึงเปลี่ยนจาก ‘AI’ แย่งงาน ‘คน’ เป็น ‘คนที่เก่งกว่ากับคนธรรมดา’ ที่แก่งแย่งงานกันเอง โดยมีทักษะตัดสินอยู่ที่ทักษะการใช้ AI ชี้วัด
“ทุกวันนี้ AI มันไม่สามารถแทนที่คนได้ ฉะนั้นคนจะแข่งกับคนกันเอง คนธรรมดาจะแข่งกับคนที่ใช้มันเป็น เนื่องจากมันกินข้อมูลเป็นอาหาร เทคโนโลยีและระบบต่างๆ ของมันจึงเกิดจากผู้ใช้งาน ซึ่งปี 2567 การที่เราใช้เป็นจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นและครอบคลุม เกิดประสิทธิภาพการทำงานหลายๆ อย่าง เช่น Productivity หรือ Production สูงขึ้น บริษัทจึงมองหาคนที่มีทักษะทางด้านนี้ค่อนข้างเยอะ”
นอกจากนี้ยังเกิดสภาวะ ‘Transversal Competencies’ หรือสมรรถนะข้ามสายงานที่มากขึ้น อาทิ คนถ่ายรูปต้องทำอาร์ตเวิร์กได้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ มองหาในตัวของบุคลากรใหม่ และปรับลดคนเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน ที่เรียกว่าระบบลีน (LEAN)
อดีตเด็กยุค Analog สู่ Digital กระทั่ง Generative AI กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญในการปรับตัวสำหรับคนทำงาน ณ เวลานี้ที่ดีที่สุดก็คือ การมี ‘Growth Mindset’ สกิลเพื่อกระโดดเข้าสู่วงจรใหม่ๆ และก้าวได้ทันกับกระแส โดยการริเริ่มหัดทำความรู้จักและใช้โปรแกรมต่างๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นกลวิธีที่ไม่ต่างจากประเทศจีนที่ข้ามยุคมือถือสู่ยุคสมาร์ตโฟน ก่อนกลายเป็นเจ้าตลาดเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของโลก
“ดูอาจจะเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ง่าย เพราะตลอดปีสองปีนี้เราได้ยินคำว่าต้องใช้ AI จนเราเบลอ และเราไม่รู้จะเริ่มมันจากตรงจุดไหน? ให้เราทดลองง่ายๆ ถามตัวเองก่อนเราอยากให้มันช่วยงานเราจุดไหน ยกตัวอย่าง เปิด YouTube ตำราชั้นดีที่ดูแค่คลิปก็ทำได้ และพิมพ์ระบุว่า AI ช่วยทำรูป จากนั้นเลือกคลิปหนึ่งในนั้นและทำตามขั้นตอน 1-2-3 ในงานของเรา และสะกดรอยไปเรื่อยๆ เราจะสะสมองค์ความรู้และความชำนาญ”
แต่อย่างไรก็ตาม Hard-Skills ในเชิง Technical ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต จากการที่หน่วยงานในประเทศไทยสามารถสร้างเครื่องมือ Social Listening และ Monitoring Tools อาทิ Mandala AI ทำให้เกิดการเข้าถึงในวงกว้างขึ้นด้วยผลของราคาที่ย่อมเยา แต่ทั้งหมดจะเกิดประสิทธิภาพขึ้นได้ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของพนักงานเป็นหลัก
“พฤติกรรมมนุษย์โดยธรรมชาติจะค่อยๆ พาตัวเราย้อนไปถึงที่มาของมัน และเกิดทักษะ T-shaped คือ ทั้งรอบรู้และรู้ลึกในงานของตน และยังมีความสามารถหรือความรู้ในเรื่องอื่นๆ อีกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอันนี้เป็นทักษะที่บริษัทมองหาและหากเราทำได้ก็จะสร้างแต้มต่อให้กับบุคคลนั้น เพราะหลังที่เราค้นข้อมูลมากขึ้นตัวระบบอัลกอริทึมทั้ง Facebook Tiktok และ X (ทวิตเตอร์) จะเปิดให้เราเห็นเยอะขึ้น เราก็จะทั้งตามไปข้างหน้าทันและเดินย้อนกลับไปเพิ่มพื้นฐานพร้อมๆ กันได้” คุณวนะชัย เผย คือ ‘Tools’ ที่มองไม่เห็นแต่ทรงพลัง
ไม่ต่างไปจาก อาจารย์พิไลพรรณ ผู้ช่วยอธิการบดี DPU ที่มองว่า ‘Soft Skills’ เป็นทักษะตัวแปรที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและการใช้ ‘Hard Skills’ ให้ถูกต้อง เมื่อปัญญาประดิษฐ์เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับการทำงานปี 2567 ดังนั้นองค์กรต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรพัฒนาตนเองสู่ความเชี่ยวชาญ และสามารถตอบโจทย์องค์กรในภาพใหญ่ได้ตรงด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เป็น แต่ยังต้องประกอบด้วยการชี้นำอย่าง ‘เข้าอก-เข้าใจ’ กันและกันในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เนื่องจากบริบทของประเทศไทยเป็นกลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นผู้สร้าง จึงต้องมีเครื่องมือเพิ่มเติมคู่ขนานไปกับการใช้เทคโนโลยี เช่น ‘Sentiment analysis’ เป็นแกนนำทักษะเพิ่มจากวงจรทักษะเดิมๆ ที่พูดกันมานานในการพัฒนาบุคลากร เช่น 1.Analytical Thinking 2.Digital Literacy 3.Interpersonal Skill ฯลฯ ที่ World Economic Forum (WEF) ประกาศ หรือการที่ ผู้บริหารระดับโลกอย่าง Satya Nadella มองว่า Empathy เป็นทักษะที่สำคัญอันดับหนึ่งในชีวิตการทำงาน ก็เพื่อประกอบการทำงานคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีในโหมดต่างๆ
“Sentiment Analysis คล้ายๆ กับ Empathy แต่ Sentiment analysis คือ อีกขั้นที่มากกว่าการเข้าใจ แต่เป็นการวิเคราะห์ความรู้สึกนึกคิดไปด้วย ที่เป็นคุณสมบัติ ที่ AI อาจยังทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ ทุกวันนี้เราไม่ต้องเจอหน้ากัน แต่เราก็สื่อสารกันแบบ Two way ได้ โดยใช้ การพิมพ์พูดคุยกันมากขึ้น เราสามารถที่จะมีสัมพันธ์ที่ดีเกิดขึ้นได้แม้การไม่พบหน้ากัน แม้เพียงเห็นกันทางออนไลน์ การวิเคราะห์ความรู้สึกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดขึ้นเรื่อยๆ ในยุคเทคโนโลยี Future Workforce ในยุค 2567 นี้ ต้องการปลูกฝังให้เกิด Strategic Planning หรือ วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนในองค์กร รวมถึงความสามารถในการเผชิญวิกฤต หรือ สถานการณ์ในความไม่แน่นอน อย่างรับมือกับมันได้ ยังคงมีพลังในการสร้าง Engagement กับสิ่งที่ต้องทำ หรือกับการใช้ชีวิตที่เหมาะสมได้ ขณะนี้ AI เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่ยังอาจไปไม่ถึงเมื่อมนุษย์เจอวิกฤตหรือเจอการเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์ต้องมี Empathic Skill หรือมีทักษะ Sentiment Analysis
“อีกมุมที่เห็นต่างในส่วนของ WEF ธนาคารโลก เพราะประเทศไทยเราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือ ผู้สร้างเทคโนโลยี ดังนั้นเมื่อโครงสร้างพื้นฐานต่างกัน กระบวนการจัดวางตำแหน่งการเรียนรู้ก็เลยต่างกัน แต่ยังอยู่ในลูปเก่าที่มี เช่น Digital Literacy วิธีทำให้เราไม่ตกเป็นทาส วิธีทำให้เราใช้ในทางที่เป็นประโยชน์กับเรา การ Utilize เทคโนโลยีที่มี เราก็ต้องมีทักษะการวิเคราะห์ผสมเข้าไป สังเกตดูรอบๆ แถวประเทศบ้านเราแก๊งคอลเซ็นเตอร์เต็มไปหมด แปลว่า คนยังขาดการเลือกพิจารณา และกระโจนลงไปในบ่อเทคโนโลยีอย่างสุดตัวและสุดโต่ง ดังนั้น Soft Skill จึงน่าจะเป็นจุดเน้นของเรามากกว่า Hard Skill”
ในมุมมองผู้นำทรัพยากรบุคคลในองค์กรขนาดใหญ่มองว่า Soft Skills มีความสำคัญถึง 70% ขณะที่ Hard Skills อยู่ที่ 30% จากการที่เทคโนโลยีรุดหน้าไปเรื่อยซึ่งจะส่งผลให้คนตามโดยอัตโนมัติ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งดีกรี ‘ความจำเป็น’ ให้ทุกคนใช้งานเอไอเหมือนการสแกน QR Code การใช้สื่อ Social Media กันแบบคุ้นชินและทุกคนต้องใช้
“คนไทยเก่งและเราไม่ได้ตกเทรนด์เทคโนโลยีมาก ทุกวันนี้หาคนทำงานโปรแกรมเมอร์ไม่ยาก แต่ลองหานักออกแบบ UX/UI กลับยากมากกว่า เพราะเราเรียนโปรแกรมมาเราก็ทำได้ แต่จุดสำคัญอย่างที่บอกจะทำอย่างไรให้มันถูก-ดี และเหมาะสม ทำให้คนประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่ากัน และเป็น Tools ที่มองไม่เห็นแต่ทรงพลัง และเมื่อคนขยับในส่วนขององค์กรต้องขยับตาม โดยการ Training เนื้อหาที่เหมือนกันให้เหมาะกับบริบทแต่ละช่วงเจนฯ ซึ่งมีจุดที่สำคัญอยู่ที่การสร้างให้เกิด Sharing Experiences เพราะทุกคนเท่ากัน อายุมากก็สามารถเรียนรู้จากอายุน้อยได้ และแต่ละคนมีวิธีการของตัวเอง การนำรูปแบบที่หลากหลายคนมารวมกันก็ทำให้เกิดโซลูชันใหม่ที่จะก่อให้มี Scenario สำหรับเขาเฉพาะ ถ้าทำแบบนี้แล้วผลบวกธรรมดากับบวกและบวก ซึ่งจะเป็น Powerful mindset ในองค์กรที่ผลักดันสู่ความสำเร็จ” คือการยกระดับชีวิต
ขณะที่ด้าน ผศ.ดร.วลัยพร คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ DPU ให้ความคิดเห็นฝั่ง ‘ข้าราชการ’ สอดคล้องต้องกันในเรื่องของ ‘Soft Skills’ ที่ไม่เพียงเข้ามาเป็นทักษะที่สำคัญในปัจจุบันหรืออนาคตควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการยกระดับระบบงานของราชการยุคดิจิทัลทั้งโครงสร้าง กระบวนการและพฤติกรรมในการทำงานสมัยใหม่ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย
โดยทักษะเทคโนโลยี Hard Skills ของ Generative AI ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ออกแบบเองได้ ในส่วนของภาครัฐแต่ละหน่วยงานใช้ Hard skill มาก-น้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและหน้าที่ของกระทรวง เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเรื่องนี้ก็กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) หน่วยงานเช่น GISDA หรือEDDA หรือ DEPA หรือ NT หรือ สดช. หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ฯลฯ จะพบว่ามีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีมาก
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล DGA หรือ Digital Government Agency ทำหน้าที่ในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้สามารถเป็นบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัล เพื่อรองรับการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน เป็นต้น ซึ่งภาครัฐปัจจุบัน มีพรบ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีแอปพลิเคชัน เช่น แอปฯ ทางรัฐ ที่มีการให้บริการของรัฐมากกว่า 40 บริการ มี TPMAP กระทรวงอุดมศึกษาฯ และ THAIQM ของกระทรวงมหาดไทย ที่ใช้ป้อนข้อมูลความต้องการ ความจำเป็น ความเดือดร้อนของประชาชนรายบุคคล รายพื้นที่ รายจังหวัด กำลังคนราชการจึงต้องมีทักษะ Digital Literacy
“ปัจจุบันภาครัฐยกระดับในการเป็นรัฐบาลที่ตอบโจทย์ Technology disruption การทำให้ประชาชน Engagement ผ่านดิจิทัล มีระบบ Open Data ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม การทำงานได้ดี สามารถใช้ Hardware ได้ มิใช่คำตอบในงานภาครัฐเท่านั้น แต่การใช้เป็น ใช้ได้ แต่ต้องตรงกับความต้องการ ตรงกับคนที่ใช้ ตรงกับทรัพยากรที่มีอยู่ และดำเนินการภายใต้ข้อกฎหมายที่แตกต่างด้วย ดังนั้นการทำงานภาครัฐปัจจุบันจึงเป็นการทำงานร่วมกันของ Hard skill และ soft skill
“Soft Skills คือศิลปะ ของการเอาใจใส่ การเห็นใจ การให้ความช่วยเหลือสนับสนุน การให้บริการ ในการทำงานบริการภาครัฐ และบริการสาธารณะที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน หรือกล่าวได้ว่า รู้จักเลือกใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี ให้เป็นประโยชน์ต่อภารกิจภาครัฐ”
คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์เสริมอีกว่า ‘ความต้องการ’ ของประชาชนเต็มไปด้วยความหลากหลายและแตกต่าง กล่าวคือ อาชีพ ความสนใจ อายุ เพศ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมหรือความเดือดร้อนจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญข้าราชการยุคใหม่นอกจาก Hard skill แล้วยังต้องมี Empathy, Analytical Thinking, Design Thinking ฯลฯ ซึ่งเป็น Soft skill นอกจากนี้ ยังมี Adaptability ทักษะการปรับตัว Cognitive Flexibility ทักษะยืดหยุ่นในการนำแนวคิดต่างๆ มาสลับปรับให้เหมาะสมและเชื่อมโยงไปด้วยกัน
ขณะที่เรื่อง Leadership ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยทางคณะฯ ได้วางเป้าหมาย 3 ปี โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานและกระทรวง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล เพื่อพัฒนาให้นักศึกษามีทักษะ Digital Literacy ในแต่ละแพลตฟอร์ม มีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและพัฒนาต่อยอดเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างเสริมความเป็นผู้นำและพัฒนากำลังคนที่มีความพร้อมให้เป็นกำลังคนภาครัฐในอนาคต และสามารถพัฒนาตนรองรับ AI และ Generative AI ได้อย่างเหมาะสม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี