ผ่อนรถไม่ไหวอย่าฝืน! ทนายชี้ช่องหากรีบคืนโดยไม่ผิดนัดชำระค่างวด ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง
“หนี้ครัวเรือน” หนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทย และหนึ่งในนั้นคือ “หนี้ผ่อนรถ” ที่ดูจะน่าเป็นห่วงไม่น้อย ดังข้อมูลลของ “เครดิตบูโร” บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่พบว่า ณ สิ้นปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 13.6-13.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ขณะที่ “หนี้เสีย (NPL)” ค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 และในส่วนของหนี้เสียเรื่องการผ่อนรถ จะอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อีกด้านหนึ่ง โลกออนไลน์มีการแชร์คลิปวีดีโอ อ้างถึงทนายความคนดัง “เกิดผล แก้วเกิด” เนื้อหาระบุว่า “ทนายเกิดผล เปิดฎีกา ผ่อนรถไม่ไหว คืนไฟแนนซ์ ไม่ต้องจ่ายเงินส่วนต่าง” ซึ่งหลายคนผ่อนรถไม่ไหว ถูกไฟแนนซ์ยึดรถไม่พอยังต้องส่งเงินต่อในส่วนต่าง
อย่างไรก็ตาม หากผู้เช่าซื้อนำรถไปคืนให้ไฟแนนซ์ แม้จะมีการทำหนังสือสัญญาระบุให้ผู้เช่าซื้อต้องชดใช้ส่วนต่างค่าขาดราคา แต่เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ผิดนัดชำระเงินค่างวด ก็ถือว่าผู้เช่าซื้อแสดงเจตนาเลิกสัญญา โดยอ้างถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 จึงไม่มีหนี้เรื่องค่าขาดราคาที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดแต่อย่างใด อีกทั้งยังอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1203/2565
สำหรับ ป.แพ่งฯ ม.573 นั้นระบุว่า “ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง”
“ทนายคลายทุกข์” เดชา กิตติวิทยานันท์ เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 1203/2565 บนเว็บไซต์ decha.com ในบทความ “ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาโดยการคืนรถ ขณะที่ไม่มีหนี้ใดๆค้างต่อผู้ให้เช่าซื้อ ไม่ต้องรับผิดในค่าส่วนต่าง” เนื้อหาดังนี้
“ขณะจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโจทก์ และโจทก์รับคืนไม่ปรากฏว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาข้อใดหรือมีหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 เพราะการแสดงเจตนาคืนรถที่จะถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 ที่ระบุว่า “ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดๆเสียก็ได้โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถยนต์...และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที...” ต้องปรากฏว่าจำเลยยังคงมีหนี้หรือเงินที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ในขณะที่ส่งมอบรถคืนโจทก์เมื่อจำเลยไม่มีเงินหรือหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการส่างมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 573 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาเช่าซื้อตามสัญญาจากจำเลย
แม้จำเลยตกลงรับผิดในบรรดาหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญาให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 ตามหนังสือแสดงเจตนาคืนรถของจำเลยก็ตาม แต่หนังสือแสดงเจตนาคืนรถมิใช่สัญญาเช่าซื้อ เป็นเพียงหลักฐานการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนและจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรับรองต่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่า หากโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายได้เงินไม่พอชำระหนี้คงค้างตามสัญญา จำเลยจะยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์ ซึ่งหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์ ซึ่งหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดค่าขาดราคาตามเอกสารนั้นไม่ เพราะเป็นการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่ทั้งที่ไม่มีเนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่มีมูลหนี้ค่าขาดราคาต่อกัน จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้”
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายเกิดผล แก้วเกิด ซึ่งได้รับการอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
- เมื่อชำระค่าเช่าซื้อไม่ไหวแล้วนำรถไปส่งคืนไฟแนนซ์ แบบนี้หมายความว่าอย่างไร? คือเมื่อรู้ตัวว่าจะผ่อนไม่ไหวให้รีบนำไปคืนทันที อย่าปล่อยค้างแม้แต่งวดเดียวใช่หรือไม่? (หรือขาดได้แต่ห้ามเกิน 3 งวด เพราะจะเข้าสู่ช่วงที่ไฟแนนซ์จะติดตามยึดรถ)
ทนายเกิดผล : “กรณีส่งคืนรถยนต์ ที่เช่าซื้อ โดยไม่ต้องรับผิด สำหรับส่วนต่างเฉพาะกรณีที่ไม่ผิดนัด หรือค้างค่างวด แม้แต่งวดเดียว เลยครับ”
- มีการอ้างถึง ป.แพ่งฯ ม.573 ที่บอกว่า “ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง” ถามต่อว่า หากผู้เช่าซื้อทำเช่นนั้น ไฟแนนซ์มีสิทธิ์ที่จะไม่รับรถคืนหรือไม่? เพราะทุกครั้งที่มีการผ่อนรถ ไฟแนนซ์มักคิดยอดรวมดอกเบี้ยให้แล้ว (และผลประโยชน์หลักของไฟแนนซ์ก็คือเรื่องนี้ ถ้ารับคืนก็เท่ากับไฟแนนซ์อาจขาดทุนหรือไม่?)
ทนายเกิดผล : ในกรณีที่เช่าซื้อซื้อขอยกเลิกสัญญาและส่งมอบรถคืน แต่ที่ไฟแนนซ์ปฏิเสธ รับรถคืน ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่ใช่ความผิดของ ผู้เช่าซื้อ
“แต่ผู้เช่าซื้อควรจะต้องมีหนังสือบอกกล่าว แจ้งไปยังผู้ให้เช่าซื้อ ให้ถูกต้อง และหากผู้เช่าซื้อ นำรถไปคืนแล้ว ไฟแนนซ์ไม่ยอมรับรถคืน ผู้เช่าซื้อสามารถนำรถไปวางที่สำนักงานทรัพย์ ของกรมบังคับคดีได้ภายหลังจาก วางทรัพย์ไว้แล้ว ก็ไม่ต้องรับผิด ต่อไป” ทนายเกิดผล กล่าว
นอกจากทนายเกิดผลแล้ว ทางด้าน กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังระบุไว้ในบทความ “คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ? ตอนที่ 8 : คืนรถให้ไฟแนนซ์ไม่เสียค่าส่วนต่าง (จริงหรือ?)” แนะนำวิธีคืนรถไว้ดังนี้
“ก่อนคืนก็ควรทำรถให้สะอาดสวยงาม ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ รวมถึงเลขไมล์รถ เพื่อจะเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าเราได้คืนรถสภาพที่สวยงามใช้งานได้ดี และรวบรวมใบเสร็จค่างวดที่เราเคยชำระมาโดยเฉพาะ 2 งวดล่าสุดก่อนคืนรถ เมื่อไฟแนนซ์ฟ้องมาเราต้องยื่นคำให้การต่อสู้ โดยใช้เอกสารหลักฐานที่บอกไว้มาสู้ เราก็จะไม่เสียค่าส่วนต่างแม้แต่บาทเดียว”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี