ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2565 ในศึกชิงเก้าอี้ผู้นำเมืองหลวงของไทย “การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)” ซึ่งชาวกรุงต้องรอกันนานถึง 9 ปี นับจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งก่อนในปี 2556 กว่าจะได้มีโอกาสเข้าคูหาหย่อนบัตรลงคะแนน และเป็นไปตามคาดกับ “บุรุษสุดแกร่ง” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับชัยชนะอย่างขาดลอยกว่า 1.3 ล้านเสียง ด้วยกระแสแรงต่อเนื่อง
ไฮไลท์สำคัญจึงอยู่ที่ “ศึกชิงอันดับ 2” ซึ่งก็ “น่าสนใจ” ไม่น้อย เมื่อ “อาจารย์เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่แม้เพิ่งลงสนามการเมืองครั้งแรก อีกทั้งต้นสังกัดอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” ก็เพิ่งช็อกกับการเสียฐานเสียงในกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบไม่ได้เก้าอี้ สส. ในเมืองหลวงแม้แต่ที่นั่งเดียว เมื่อปี 2562 แต่กลับคว้าอันดับ 2 มาได้ โดยเฉพาะช่วงดึกที่การนับคะแนนสูสีกับ “ตัวตึงค่ายสีส้ม” อย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ที่โดดเด่นจากกระแสในโลกออนไลน์ ก่อนที่ อาจารย์เอ้ จะแซงขึ้นไปได้แบบฉิวเฉียด
ก่อนหน้าที่จะลงสนามการเมือง ชื่อของ อาจารย์เอ้-สุชัชวีร์ เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่แล้วผ่านสื่อต่างๆ แต่ในฐานะ “นักวิชาการ” จากตำแหน่งอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งในรายการ “แนวหน้าTalk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 ที่จิตกร บุษบา รับหน้าที่พิธีกรแทน บุญยอด สุขถิ่นไทย ซึ่งติดภารกิจอื่น อาจารย์เอ้ ได้บอกเล่าการตัดสินใจ ทั้งการเปลี่ยนสถานะจากนักวิชาการสู่การสวมบทบาทใหม่ในฐานะนักการเมือง และเหตุผลที่เลือกเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์
“ผมเชื่อมั่นว่าพรรคการเมืองที่ยังเป็นของประชาชน โดยประชาชน และทำเพื่อประชาชน หนึ่งในนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์ แล้วผู้ให้กำเนิดพรรคตั้งแต่ท่านควง อภัยวงศ์ ซึ่งจบวิศวะโยธาเหมือนกับผมเลยท่านจบที่เมืองลีออน (Lyon-ลียง) ฝรั่งเศส ก็ถือเป็นบุคคลต้นแบบ ไล่มาจนถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชที่ต่อสู้เรื่องเขาพระวิหาร นักเรียนอันดับ 1 นักกฎหมายอังกฤษ คือเป็นพรรคที่มีตำนาน สืบสวนตำนานการต่อสู้มายาวนาน ขึ้นบ้าง-ลงบ้าง
แต่กระนั้นก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์จะไม่หนีไปไหน แล้วก็ยังเป็นพรรคของประชาชน แล้วที่สำคัญ พรรคเขาเปิดโอกาสให้ผมมีโอกาสได้ทำงาน ตรงนี้สำคัญผมต้องขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่เพราะว่าเชื่อมั่นและเชื่อว่าภายใต้การสนับสนุนของประชาชน ภายใต้ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์วันหนึ่งประชาชนจะให้โอกาสเรายิ่งกว่าเดิม” อาจารย์เอ้กล่าว
สุชัชวีร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เล่าต่อไปว่า ได้รับมอบหมายงานหลายเรื่อง เช่น ปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ทำการของพรรคให้ดูร่มรื่นขึ้น ดูแลศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพรรค แต่หากถามว่าอยากทำอะไรมากที่สุดตั้งแต่แรก สำหรับตนคือ 2 เรื่องที่เป็นพื้นฐานมากๆ คือการศึกษาและสิ่งแวดล้อม เพราะการศึกษาหากไม่ดีก็แข่งสู้เขาไม่ได้ ก็ยากจนเหลื่อมล้ำเหมือนเดิม และสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะยากดีมีจน สูดอากาศเดียวกันมีสิทธิ์ตายเหมือนกัน แต่เมื่อมาทำงานการเมืองจริงๆ ก็ต้องถนัดทุกเรื่อง หากไม่ถนัดก็ต้องหาข้อมูล หรือหาคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมทีม
หากให้อธิบายรายละเอียด ต้องยอมรับว่า “เด็กของเราเมื่อเทียบช่วงวัยเท่ากันกับเด็กญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์แพ้ตั้งแต่ความสูง ทั้งที่รุ่นพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้เตี้ยกว่าพ่อแม่ของเด็กไทยด้วยซ้ำ ขณะที่ทางวิชาการก็เห็นชัดจากผลสอบ PISA ที่แพ้อย่างขาดลอย ไม่ว่าคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แม้กระทั่งทักษะการอ่าน อ่านภาษาไทยแท้ๆ ก็ยังได้คะแนนน้อยกว่าเขา” และนี่คือเหตุผลที่ตนมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องแรกที่ประเทศไทยต้องแก้
“เราต้องแข่งกับคนที่เขาเก่ง-เขาดี เราบอกเราอยากจะออกกำลังกาย เราไปวิ่งคนเดียวในสนามรอบสองรอบเราก็ไม่เอาแล้ว แวะร้านสะดวกซื้อกินขนมแล้ว แต่ถ้าเกิดเราวิ่งกับคนที่เขาเก่ง เขาเรียกหัวลากไงเขาก็ลากเราไป เราก็วิ่งเก่งขึ้น-ดีขึ้นใช่ไหม? เขาท่านอาหารอย่างไร เขาระมัดระวังสุขภาพร่างกายอย่างไร เราก็จะดีขึ้น ใครจะไปรู้วันหนึ่งเราอาจชนะเขาก็ได้ ดังนั้นประเทศไทยเลิกเถอะ สอนลูกสอนหลานให้แข่งกับตัวเอง
ก็สอนอย่างนี้ประเทศไทยถึงมาถึงจุดนี้ไง แทนที่จะสอนให้เราแข่งขันกับคนที่เขาเก่ง-เขาดี เพราะการแข่งขันเก่ง-ดีมันสำคัญ อย่าพูดเลยครับ ท่านดู! ถ้าเกิดไม่อยากแข่งขันทำไมต้องเชียร์บอลไทย ทำไมต้องเชียร์วอลเลย์บอล ทำไมต้องเชียร์ลิเวอร์พูล ทำไมต้องเชียร์อาร์เซน่อล แมนยูฯ มันเป็นการแข่งขันที่มันพัฒนามันเป็นการแข่งขันที่เป็นเรื่องดีๆ ประเทศไทยควรจะมองจุดนี้” อาจารย์เอ้ ฉายภาพความสำคัญของการแข่งขัน
เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่เห็นข่าวเด็กไทยไม่ได้รับอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ หรือข่าวทุจริตเงินอาหารกลางวันเด็ก สุชัชวีร์ กล่าวว่า รู้สึกเศร้าใจ เพราะในฐานะคนเป็นครูบาอาจารย์ เห็นว่าเด็กไทยควรได้รับการดูแลดีกว่านี้ และในฐานะคนเป็นพ่อ รู้ดีว่าเด็กต้องการอาหารครบ 5 หมู่ รวมถึงเด็กต้องการการเอาใจใส่และการเรียนรู้ตั้งแต่เยาว์วัย “ช่วงอายุ 0-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด” ซึ่งปัจจุบันเรายังดูแลจุดนี้น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับมาตรฐานของทวีปเอเชีย ยังไม่ต้องนับไปถึงมาตรฐานโลก
คำถามต่อมา “อะไรทำให้ทำให้ตัดสินใจทิ้งตำแหน่งสำคัญจากแวดวงอื่นเพื่อเข้ามาสู่แวดวงการเมืองทั้งที่ยังไม่มีตำแหน่งใดๆ เลยรองรับ?” อาจารย์เอ้ ตอบว่า “อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง” ตนได้ทุนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศจากภาษีของประชาชน และจากที่ได้สัมผัสกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก เห็นว่าคนประเทศนั้นไม่ได้เก่งไปกว่าคนไทย แต่บ้านเมืองเจริญกว่ามาก ผู้คนมีคุณภาพที่ดี และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำน้อย
เมื่อนำประสบการณ์จากต่างแดนกลับมาวิเคราะห์สังคมไทย พบว่า “ประเทศไทยขาดผู้นำที่มีความรู้และมีความทุ่มเทเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งเมื่อทางการเมืองไม่ได้ปิดกั้นก็จำเป็นต้องเข้ามาร่วมคลุกฝุ่น ร่วมเจ็บตัวไปกับเขา แต่สำหรับตนแล้วตั้งใจอุทิศตน เพราะชีวิตหนึ่งไม่รู้ว่าจะจากไปเมื่อใด แต่ความรู้ความสามารถและพลังที่ยังมีอยู่ในวัยนี้ ตนเห็นว่าน่าจะออกมาทำงานการเมืองเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
“เป็นอธิการบดี ผมก็บอกแล้วต้องทำ 1-2-3-4 การพัฒนายกระดับการศึกษา 1-2-3-4 อย่างไร เป็นนายกสภาวิศวกร นายกวิศวกรรมสถานฯ โอ้โห! มีตึกถล่มต้องแก้ปัญหาอย่างไร พูด พูด พูด ไม่มีใครทำ มันก็มีหนทางเดียวคือต้องมาคลุกกับเขาแล้วหวังว่าจะได้พลังจากประชาชน ให้ผมได้ใช้ความรู้ความสามารถในการเปลี่ยนแปลง บางทีมันก็เป็นข้อพิสูจน์นะ พิสูจน์ความอดทนของเราว่าเรามุ่งมั่นจริงไหม?เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่ลาออกจาก 21 ตำแหน่ง เท่าที่จำได้ เราอยู่ในจุด Comfort Zone (พื้นที่ปลอดภัย) นะ มันเป็นจุดที่ลงตัวของชีวิตมากเลย
แล้วสละมาเจอนู่นเจอนี่ เหนื่อยกายเหนื่อยใจทุกอย่าง ก็ยอมรับว่ามันเป็นข้อพิสูจน์ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ในชีวิต เรื่องของชนะ-ของแพ้มันเป็นเรื่องปกติ บางครั้งแพ้บ้างมันได้เรียนรู้ มันได้ลด Ego (อัตตา) ของเรา ได้เปิดหัวใจรับฟังคนมากขึ้น แล้วจะได้ไม่ต้องไปโทษนู่นโทษนี่ ผมเชื่อว่าเส้นทางการเมืองเป็นเส้นทางที่เรียนรู้ไปเรื่อยๆ บางครั้งเส้นชัยอาจสำคัญก็จริง แต่เส้นทางมันอาจมีคุณค่าไม่น้อยกว่าเส้นชัยก็ได้ วันนี้ ทุกวัน จะว่าแล้วเหนื่อยแค่ไหนแต่ผมก็มีความสุข” สุชัชวีร์ กล่าวถึงความตั้งใจมาทำงานการเมือง แม้จะยังไม่มีตำแหน่งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติก็ตาม
กลับไปที่เรื่อง “บทบาทของผู้ว่าฯ กทม.” ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนในเมืองกรุง อาจารย์เอ้ กล่าวถึงการทำงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ดำรงตำแหน่งใกล้ถึง 2 ปี หรือครึ่งทางของวาระ ว่า ปีแรกต้องให้โอกาส แต่ขึ้นปีที่ 2 ก็ต้องทำงานพิสูจน์แล้ว และตนก็มีสิทธิ์ในฐานะประชาชนประเมินและเสนอแนะการทำงาน ซึ่งก็ต้องบอกว่า 2 ปีมานี้ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ที่ดูจะมากขึ้นคือน้ำท่วมและอุบัติเหตุสาธารณะ
อย่างเหตุการณ์สะพานถล่มที่ลาดกระบัง เป็นเรื่องที่ตนรับไม่ได้เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งตนก็เคยเตือนไปแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการสรุปว่าสาเหตุเกิดจากอะไร รวมถึงนโยบายอื่นๆ ที่เคยสัญญาไว้ก็ยังไม่เห็น ซึ่งเรื่องอุบัติเหตุจากมนุษย์เป็นสิ่งที่ป้องกันได้หากเข้มงวดมาตรการความปลอดภัย ไม่ว่าสะพานถล่ม ของหล่น ถนนทรุด มันควรเป็นศูนย์ด้วยซ้ำหรือไม่ก็ต้องเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ หลายอย่างไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก มีประชาชนร้องเรียน ที่สำคัญเกิดขึ้นแล้วไม่มีคำตอบให้ประชาชน
แม้กระทั่งฝุ่น PM2.5 ที่บอกกันว่าเกิดจากการเผาทั้งภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะเห็นวาปัญหา PM2.5 ใน กทม.มีน้อย เพราะกรณีของ กทม. นั้นสาเหตุหลักมาจากรถยนต์ โดยเฉพาะรถบรรทุกควันดำ ซึ่งรถบรรทุกเหล่านี้จำนวนมากก็ขนวัสดุก่อสร้างไปตามพื้นที่ก่อสร้างใน กทม. ดังนั้นผู้ว่าฯ กทม. ต้องกวดขันให้ผู้รับผิดชอบไซต์งานไม่ให้มีรถบรรทุกควันดำ หากปล่อยปละละเลยก็ต้องใช้อำนาจเพิกถอนหรือชะลอการก่อสร้างออกไป แต่ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่มุ่งมั่นดุดันในการแก้ปัญหา
หรือแม้แต่เรื่องของหล่นจากโครงการก่อสร้างต่างๆ จนก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จริงอยู่ที่เจ้าภาพในการก่อสร้างอาจเป็นหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ กทม. เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่อย่าลืมว่า ทุกๆ การก่อสร้างใน กทม. ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ต้องมาขออนุญาต กทม. และเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว กทม. ก็ต้องตรวจรับงานด้วย เท่ากับ กทม. ได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นหาก กทม. เอาจริงเอาจังความเสี่ยงจะลดลงแน่นอน
“ถือว่าแนะนำในฐานะที่เป็นพลเมือง กทม. บ้านเราก็อยู่ พ่อแม่ลูกเราก็อยู่ ผมว่าการบริหารงานมันต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงไม่มีอะไรง่าย มันไม่ใช่แค่ออกไปทำกิจกรรม 1-2-3-4 แต่การเปลี่ยนแปลงก็คือการที่ต้องไปดูในรายละเอียด และรายละเอียดของ กทม. มันมีไม่กี่เรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ อันดับแรกคือเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน เพราะคนห่วงชีวิต ห่วงทรัพย์สิน ความปลอดภัย อันนี้ควรจะโฟกัสมากกว่านี้ ไม่ใช่เกิดเหตุหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้น” สุชัชวีร์ กล่าว
อาจารย์เอ้-สุชัชวีร์ กล่าวย้ำถึงการแก้ปัญหาของ กทม. ว่า เรื่องที่ 2 คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ต้องยอมรับว่า กทม.แย่ลงจริงๆ แล้วอย่าไปโทษภาพรวม เพราะ กทม. มีกฎหมายที่ให้สิทธิ์ในการจัดการ ดังนั้นในอีก 2 ปีที่เหลือ ตนขอเป็นกำลังใจให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำงานให้หนักแน่นขึ้นหน่อย!!!
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี