ย้อนไปในปี 2527 หรือเมื่อ 40 ปีก่อน อันเป็นปีที่ภาพยนตร์ “วัยระเริง” ผลงานกำกับของ “เปี๊ยก โปสเตอร์” สมบูรณ์สุข นิยมศิริ เนื้อหาสะท้อนชีวิต “วัยรุ่น-วัยเรียน” พร้อมกับตั้งคำถามถึงระบบการศึกษา (ซึ่งก็ยังเป็นคำถามที่ปัจจุบันก็ยังไม่ล้าสมัยคือแต่ละคนมีความชอบ-ความถนัดที่หลากหลาย แต่กลับถูกตีกรอบและให้คุณค่ากับการเรียนเพียงไม่กี่วิชา) ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้ หนุ่ย-อำพล ลำพูน เริ่มที่เป็นที่รู้จัก ก่อนจะไปโด่งดังในภาพยนตร์สะท้อนปัญหายาเสพติดอย่าง “น้ำพุ” ที่เข้าฉายในปีเดียวกัน และในฐานะ “ร็อกมือขวา” นักร้องนำแห่งวงไมโคร
รายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ซึ่งก็ไม่บ่อยครั้งที่พิธีกรประจำรายการทั้ง 2 ท่าน อย่าง บุญยอด สุขถิ่นไทย และจิตกร บุษบา จะมาดำเนินรายการพร้อมกัน โดยในตอนดังกล่าว มี๋-วรรษมน วัฒโรดม อดีตดาราดังซึ่งได้รับบทนำประกบคู่ หนุ่ย-อำพล ทั้งในวัยระเริงและน้ำพุ ได้มาบอกเล่าถึงชีวิตหลังออกจากวงการบันเทิง ในฐานะ “นักธุรกิจหญิงชาวไทยผู้บุกเบิกกิจการสปาในประเทศแอฟริกาใต้” ตั้งแต่เมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน ในยุคที่ทวีปแอฟริกายังไม่เป็นรู้จักของคนไทยมากนัก
แต่ก่อนจะไปถึงบทบาทของการเป็นนักธุรกิจ มี๋-วรรษมน ขอเล่าย้อนความหลังในช่วงที่ภาพยนตร์ วัยระเริง กำลังถ่ายทำ ว่า ในช่วงนั้น หนุ่ย-อำพล กำลังเริ่มฟอร์มวงไมโคร ก่อนที่ทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของไทย จะมาชวนไปเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด หลังจากภาพยนตร์เข้าฉาย ส่วนที่ตนเองใช้ชื่อโดยเขียนว่า “มี๋” ยอมรับว่าเป็นการสะกดที่ผิดอักขระแต่ก็เพื่อให้ถูกจดจำได้ง่าย ในช่วงที่ออกอัลบั้มเพลง “มี๋เองแหละ” ในปี 2531
“จริงๆ แล้วถ้าพูดนี่เป็นคนโชคดี เพราะว่าผู้กำกับที่เราเล่นหนังดังทุกคน เราเล่นเรื่องแรกกับเรื่องที่สองกับคุณหนุ่ย เรื่องแรกคุณเปี๊ยกโปสเตอร์ (วัยระเริง) ก็ตำนาน คุณยุทธนา มุกดาสนิท (น้ำพุ) ก็ตำนาน” วรรษมน กล่าว
ขณะที่จุดเริ่มต้นของการไปแอฟริกาใต้ วรรษมน เล่าว่า มาจากการไปเที่ยวเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะที่คุณพ่อทำโรงงานผลิตสีสำหรับทำเครื่องหมายจราจร ส่งออกไปหลายประเทศรวมถึงแอฟริกาใต้ ประกอบกับเวลานั้น กรมส่งเสริมการส่งออก (ปัจจุบันคือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) แนะนำให้คนไทยไปลงทุนเพราะเป็นประเทศที่มีกำลังทรัพย์ เมื่อเดินทางไปจริงก็พบว่าอากาศค่อนข้างเย็นสบายยกเว้นฤดูหนาวที่อากาศหนาวมากแบบผิดคาด เพราะก่อนหน้านั้นไม่คิดว่าทวีปแอฟริกาจะหนาวได้ขนาดนี้
อีกเหตุผลหนึ่งคือการส่งลูกไปเรียน ด้วยเมื่อเทียบค่าเงินแล้วถือว่าส่งไหวเพราะตนเองต้องเลี้ยงลูกเองด้วย สมัยนั้นอัตราแลกเปลี่ยน 1 แรนด์(ค่าเงินแอฟริกาใต้) เท่ากับ 7 บาท ส่วนปัจจุบันอยู่ที่1 แรนด์ เท่ากับ 2 บาท ประกอบกับแอฟริกาใต้ก็เป็นประเทศที่ทันสมัย ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางจึงส่งลูกไปเรียนตั้งแต่ 9 ขวบ ตอนแรกก็ไม่ได้ไปด้วยเพราะยังทำงานให้บริษัทของพ่อ แต่เมื่อลูกโทรศัพท์มาหาบ่อยๆ ก็คิดว่าอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว
โปสเตอร์ภาพยนตร์ “วัยระเริง” ปี 2527 (ขอบคุณภาพจากหอภาพยนตร์-องค์การมหาชน)
“จำได้ไหม? ก่อนที่เราจะมีหมอนวดทั่วประเทศ ก่อนหน้านั้นรัฐบาลเขาสนับสนุนโครงการร้านอาหารไทยทั่วโลก ถ้าเราย้อนกลับไปตรงนั้นเกือบ 20 กว่าปี พอโครงการอาหารไทยทั่วโลกแล้วจะมีโครงการสปา-นวด ทีนี้เขาก็เริ่มสอน มีทุกหน่วยของรัฐ คนต่างจังหวัดก็เริ่มมาเรียนกัน เขาก็พยายามจะสนับสนุนให้คนมีอาชีพ พี่ก็ไปเรียนก่อนเลย เพราะเราคิดว่าถ้าเราจะไปเปิดร้าน แต่ไม่เคยนวดลูกค้านะ แต่เราอยากไปเรียน เกิดหมอนวดวันนี้ฉันไม่อยากทำงาน ถ้าเกิดเรารับลูกค้าเราก็แก้สถานการณ์ได้คือถ้าเราจะทำอะไรต้องทำให้รู้จริง” วรรษมน ระบุ
วรรษมน เล่าต่อไปว่า ตอนแรกที่คิดทำธุรกิจในแอฟริกาใต้ คิดอยู่ 2 อย่าง หากไม่ใช่ธุรกิจสปาก็คงเป็นร้านอาหาร และสิ่งที่จะทำต้องเลี้ยงตนเองกับลูกให้ได้เพราะไม่ได้ทำงานให้บริษัทของพ่อแล้ว แต่ปัญหาคือไม่สามารถใช้คำว่านวดไทย (Thai Massage) เป็นจุดขายได้ เพราะคำนี้กลายเป็นถูกใช้สื่อความไปในเรื่องเพศแล้ว จึงต้องใช้คำว่าไทยสปา (Thai Spa) แต่เมื่อใช้คำว่าสปาก็ต้องมีบริการครบวงจร เช่น ทำหน้า สครับตัว จึงเริ่มกิจการในชื่อ ราชาวดี ไทย สปา (Rachawadee Thai Spa) กระทั่งกลายเป็นสปาระดับไฮเอนด์ของที่นั่น
ส่วนที่มาของคำว่าราชาวดี เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนผสมของยาหอม เป็นดอกไม้ที่ช่วยบำบัด ขณะที่การนวดไทยก็เป็นศาสตร์การรักษา ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือพยายามทำให้ดีที่สุด สถานที่โอ่โถง มีสวนสวย พนักงานก็ต้องมีทักษะจริงๆ แต่เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน ก็เจอปัญหาเนื่องจากรัฐบาลแอฟริกาใต้ในเวลานั้นมีนโยบายไม่ออกใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ให้ชาวต่างชาติ โดยแอฟริกาใต้ถือเป็นประเทศร่ำรวยแม้จะอยู่ในทวีปแอฟริกา จึงมีคนจากหลายชาติเข้าไปแสวงหาโอกาส พอเริ่มได้ข่าวว่าจะมีนโยบายออกมาก็รีบแจ้งสถานทูต เพราะทั้งเราและคนอื่นๆ ที่ตามมาอาจเดือดร้อน ควรมีการเจรจากันระหว่างประเทศ แต่จนปัจจุบันก็ยังเจรจากันไม่สำเร็จ
“โยฮันเนสเบิร์กเป็นเมืองแรกที่เปิด พอหลังจากเปิดก็มากันตรึมเลย The First Thai Spa in South Africa (สปาไทยแห่งแรกในแอฟริกาใต้) แล้วเราได้ไปเปิดตัวกับกรมส่งเสริมการส่งออก เวลาเปิดบริษัทจากเมืองไทยมาทั้งนั้น เวลาเราแจกโบรชัวร์ เพราะบริษัทคุณพ่อก็ไปออกด้วย เราก็จะบอกว่า We are here(เราอยู่ที่นี่) ในขณะที่บริษัทคุณพ่อไปจองบูธที่เสนอขายสีจราจร เขาก็จะแบ่งที่ให้เรา แล้วเราก็ทำโบรชัวร์ว่าตรงนี้มีสปา แต่เราอยู่ที่นี่แล้วนะ”วรรษมน เล่าถึงช่วงแรกๆ ที่เริ่มโปรโมทกิจการ
แม้คนในแอฟริกาใต้จะไม่รู้ว่าเคยเป็นดาราดังในประเทศไทย แต่ผู้ที่มาใช้บริการ ราชาวดี ไทย สปา ต่างกล่าวถึง มี๋-วรรษมน เจ้าของธุรกิจ ว่า เป็นคนที่มีบุคลิกแบบเปี่ยมไปด้วยพลัง (Powerful) ซึ่ง วรรษมน ให้ความเห็นว่า อาจเป็นเพราะตนเติบโตมากับการทำธุรกิจ หรือไม่ก็ด้วยวิธีการพูดของตน เพราะเมื่ออยู่ที่ร้านก็จะคุยกับลูกค้าตลอด คอยแนะนำ และบอกได้เลยว่าทุกคนที่มาใช้บริการสปาแล้วก็อยากไปเที่ยวประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นหลายคนยังไม่รู้จักประเทศไทยด้วยซ้ำ
เช่น เคยมีลูกค้าถามตนว่าที่บ้าน (ประเทศไทย)ใช้คอมพิวเตอร์หรือเปล่า หรือเรื่องเล่าตลกๆ ที่ชาวต่างชาติเข้าใจว่าคนไทยยังขี่ช้างไปเรียนหนังสือก็มีจริงๆ ซึ่งตนก็พยายามตอบให้เป็นเรื่องขำขันไป หรือแม้กระทั่งเข้าใจว่าเป็นชาวไต้หวัน (Taiwan) ตนก็บอกว่ามาจากไทยแลนด์ (Thailand) หรือมีพนักงานออกไปนอกร้าน เจอทักทายด้วยคำว่าหนีห่าวเพราะเข้าใจว่าเป็นชาวจีน ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะคนจีนเดินทางไปทั่วโลก นี่คือประสบการณ์ที่เจอในช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจในแอฟริกาใต้ แต่ระยะหลังๆ คนที่นั่นก็รู้จักประเทศไทยมากขึ้น
“จะบอกให้ว่ากว่าจะอยู่ตัวได้ ที่มีลูกค้าทุกวันนี้ ปีครึ่งเลยนะโดยที่ต้องแบกภาระทั้งหมด แต่เพราะ Word of Mouth (บอกกันปากต่อปาก)อย่างเดียว ไม่เคยลงโฆษณาเลย แล้วลูกค้าแข็งแรงมาก เพราะนวดแล้วฉันรู้สึกดีขึ้น แล้วลูกค้าแรกๆ ก็เป็นลูกค้าเกรดเอ เพราะฉะนั้นเวลาเขาบอกต่อมันก็จะเป็นระดับทำไมถึงเกรดเอแต่หลังๆ ก็มากลางๆ ก็มี ซึ่งเราต้อนรับทุกคน” วรรษมน ระบุ
หน้าร้าน “ราชาวดี ไทย สปา (Rachawadee Thai Spa)” เมืองโยฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้ (ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Rachawadee Thai Spa “The Thai Spa Experience”)
จากโยฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) เมืองต่อไปที่ ราชาวดี ไทย สปา เลือกขยายกิจการเป็นสาขาที่สองคือ เดอร์บัน (Durban) ซึ่ง วรรษมน ให้เหตุผลว่า ในส่วนของประเทศแอฟริกาใต้ กรมส่งเสริมการส่งออก แนะนำคนไทยให้ไปลงทุนใน 2 เมือง คือโยฮันเนสเบิร์ก กับ เดอร์บัน ซึ่งทั้ง 2 เมือง แม้ไม่ใช่เมืองหลวงแต่มีความสำคัญอย่างมาก โดยโยฮันเนสเบิร์กเป็นเมืองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ ขณะที่เดอร์บันเป็นเมืองท่า การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งที่เดอร์บันก็มีคนไทยไปอยู่จำนวนไม่น้อย
โดยในเดอร์บัน เปิดไว้ 2 สาขา นอกจากนั้นยังมี “เอ็กซ์เพรส สปา (Express Spa)” ไปตั้งอยู่หน้าฟิตเนส ยังไม่พอ ด้วยความที่ตนเองชอบกินก๋วยเตี๋ยว จึงเปิดร้านขายอาหารประเภทเส้นทุกชนิดตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยวยันสปาเกตตี ในลักษณะร้านอาหารจานด่วน มีไม่กี่เมนูให้บริการ พร้อมกับนำโมเดลอาหารตัวอย่างที่ซื้อจากตลาดนัดสวนจตุจักรไปจัดแสดงอยู่หน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพอาหาร เพราะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่รู้จักประเทศไทย
และเช่นเดียวกับการเปิดร้านนวด ที่ถือคติ “จะทำอะไรต้องรู้ให้จริงก่อน” โดย วรรษมน เล่าว่า เวลานั้นไปเข้าคอร์สฝึกอบรมในหลักสูตรการทำครัว และหลักสูตรการเป็นผู้จัดการร้านอาหาร แต่ปัจจุบันกิจการที่เปิดก็ยังไม่เรียกว่าร้านอาหารเต็มตัว เป็นเพียงคอฟฟี่ช็อปที่ขายอาหารจานด่วนเท่านั้น แต่ก็ต้องบอกว่า “การไปทำธุรกิจในแอฟริกาใต้ถือว่ายุ่งยากไม่น้อย” เพราะต้องทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วเจ้าหน้าที่รัฐของไทยและคนไทยดูจะขยันกว่า
เช่น กฎการทำงานในแอฟริกาใต้ ลูกจ้างทำงาน 8 ชั่วโมง ยังต้องมีเวลาพักดื่มน้ำชา 15 นาทีในช่วงเช้า และมีพักกลางวัน อีกทั้งภาครัฐก็จะปกป้องแรงงานมาก การเลิกจ้างพนักงานโดยไม่ระมัดระวังอาจถูกฟ้องได้ (และเคยมีกรณีคนท้องถิ่นถูกนายจ้างไล่ออกแล้วเกิดเหตุปลุกระดมชุมนุมประท้วงก่อจลาจลกันมาแล้ว) แต่ก็โชคดีที่ในกรณีของตน มีผู้ใหญ่ที่แนะนำให้ไปทำธุรกิจในแอฟริกาใต้ คอยบอกว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ เพราะคิดว่าเราเป็นคนต่างชาติ จะทำอะไรผิดพลาดไม่ได้
นอกจากนั้น “ในโอกาสก็ยังมีความเสี่ยง” แม้แอฟริกาใต้จะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีประชากรจำนวนไม่น้อยที่มีกำลังทรัพย์สูง แต่ก็มีปัญหาอาชญากรรมสูง เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนที่สูง ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐของไทยยังทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ตำรวจท่องเที่ยว แต่ที่สำคัญคือ “ยังรอทางการแอฟริกาใต้ปลดล็อกการนำเข้าแรงงานชาวต่างชาติ” ซึ่งรอมาแล้วถึง 7 ปี
“จริงๆ ล่าสุด ท่านรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ ไปคุยกับทางสถานทูตไทยแล้ว คือเหมือนกับว่าเขาจะสนับสนุน เพิ่งไปเจรจา คือในระหว่างนี้ทางเราก็กลัวเสียเปรียบ ทางรัฐบาลชุดนี้เขาก็พยายามจะไปอยู่ แต่จริงๆ เขาพยายามมาต่อเนื่องทุกรัฐบาล ซึ่งเราพยายามมาหลายสมัย เหมือนเราพยายามจะส่งมังคุดออกไป
ที่ประเทศเขา หรือทุเรียน มันยังไม่สำเร็จเลย
เพราะเมื่อ 2 สมัยที่แล้ว หมายถึงเวลาท่านทูตเข้ามาประจำการ ก็จะประมาณ 4 ปี แล้วแต่แต่ละเทอมของแต่ละท่าน แต่ประจำข้าราชการประมาณ 4 ปี ก็พยายามจะเอาเข้ามา แต่กลายเป็นทุเรียนเข้าไปก็จะต้องฉายแสงก่อน มันก็เลยกลายเป็นดิบ เหมือนไม่สุก ราชาแห่งผลไม้มันก็เลยไม่อร่อย แต่ตอนนี้จีนเขาไปเรียบร้อยแล้วไม่รู้มาได้อย่างไร? บางที่เจ้าของที่เขาทำโลจิสติกส์เขาเอาทุเรียนมาขายแล้วเขียนว่าหมอนทองงงไปเลย” วรรษมน กล่าว
วรรษมน ยังกล่าวถึงสิ่งที่อยากให้รัฐบาลไทยช่วยสนับสนุนในประเด็น “แรงงาน” เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องมีการเจรจากันในระดับรัฐมนตรี“หากต้องการให้สปาไทยและร้านอาหารไทยดังไปทั่วโลก คำถามคือจะทำได้อย่างไรหากไม่มีหมอนวดและเชฟไปทำงาน” ซึ่งทางการแอฟริกาใต้ยังไม่ยอมรับให้การนวดและการทำอาหารอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะพิเศษ (Specialist Skill) แต่ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ไทยกับแอฟริกาใต้มีข้อตกลงเข้าประเทศแบบไม่ต้องใช้วีซ่า อยู่ได้นาน 30 วัน เพื่อการท่องเที่ยว ก็จะมีปัญหาการหลอกลวงไปเป็นหยื่อค้ามนุษย์เกิดขึ้น
อย่างตนมีโอกาสเป็นล่ามให้คนไทยที่ไปหางานทำในแอฟริกาใต้ หน้างานบอกว่าไปนวดแต่เมื่อไปจริงคือไปทำอย่างอื่นแล้วถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งก็มีทั้งคนที่สมัครใจไปและคนที่ถูกล่อลวงโดยอ้างเรื่องรายได้สูง โดยตามขั้นตอนแล้วชาวต่างชาติมีสิทธิ์ที่จะมีล่ามแปลภาษาเพื่อให้การสอบปากคำมีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีนายหน้าหลอกคนไทยไปแอฟริกาใต้อยู่ จึงฝากเตือนให้คนไทยที่อยากแสวงหาโอกาสในต่างแดนระมัดระวังการโฆษณาชวนเชื่อรับสมัครงาน โดยเฉพาะในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์
“เขาบอกมีจริง..ทำได้! ไม่ใช่ของจริง ถ้าคุณอยากเชื่อก็เชื่อไป แต่ถ้ามาถามเรา เราบอกไม่มีจริง เราบอกแต่ต้นแล้วว่ามันทำไม่ได้ คือคนไทยชอบเชื่ออภินิหารว่าจ่ายใต้โต๊ะแล้วทำได้ เขาเชื่ออย่างนั้น เพราะฉะนั้นอภินิหารไม่มีจริง เขาอาจจะใส่ชื่อคุณไว้เดือนเดียว อีกเดือนเขาเอาออก นี่เจอเคสเยอะมาก เพราะเวลาที่ไปคนหลายคนเวลาออกนอกประเทศแล้วเจอวีซ่าปลอมแล้วต้องเข้าไปติดคุก เมื่อก่อนเขารีบถีบออกไปเลย ฉันไม่อยากให้แกอยู่ แต่ทีนี้กลายเป็นว่าต้องลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง” วรรษมน ฝากเตือนทิ้งท้าย
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี