ปี 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีทองของการท่องเที่ยวไทย เห็นได้ชัดจากสถิติจำนวนนักเดินทางจากทุกมุมโลกที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565ถึงเกือบ 3 เท่า กลยุทธดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ทำให้บรรลุสู่หลักชัย คือการทำให้การท่องเที่ยวเป็นไปอย่างมีความหมาย จากการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้า 3 รางวัลจากเวที Thailand Tourism Award ครั้งที่ 14
โดย 3 ส่วนงาน อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ พิพิธภัณฑ์สิรินธรทันตพิพิธและ พิพิธภัณฑ์ศิริราช ที่เป็น พลังสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวของชาติ ให้เป็นเลิศทางด้านการส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด และสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจากความพยายามในการพัฒนา “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” ภายใต้การนำโดย รศ.ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย และสัมผัสได้ถึงความแตกต่างในทุกครั้งที่กลับมาเยี่ยมชม
จึงได้ทำให้ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาในทุกวันนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ทำให้คนไทยได้ภาคภูมิใจในความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่น ซึ่งจะเป็นความหวังของประเทศชาติในการสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์สืบสาน “มรดกทางสิ่งแวดล้อม” ให้คงความอุดมสมบูรณ์สืบไป จนทำให้ได้คว้ารางวัลยอดเยี่ยม Thailand Tourism Gold Awards ประเภทแหล่งท่องเที่ยว (Attraction) สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ (Learning & Doing) ไปครองในที่สุด
ในยุคแห่งการแข่งขันซึ่งไม่ได้ร้อนแรงเฉพาะด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือผลกำไรที่เป็นตัวเงินที่เพิ่มขึ้น แต่คือความพยายามในการประกาศศักยภาพแห่ง “สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่นอกจากช่วยต่อชีวิตโลกแล้ว ยังสามารถแปรเปลี่ยนกลับมาช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จากตัวเลขคาร์บอนเครดิต ซึ่ง “พิพิธภัณฑ์สิรินธรทันตพิพิธ” คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นแบบอย่างในฐานะส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สามารถพัฒนางานพิพิธภัณฑ์ให้มีบทบาทโดดเด่นทั้งด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ และรักษ์โลก
จากการสามารถคว้ารางวัลดีเด่น Thailand Tourism Silver Awards ประเภทแหล่งท่องเที่ยว (Attraction) สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ (Learning &Doing) และรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Certificate) ประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน ภายใต้นโยบายการบริหารโดย ศ.คลินิก ดร.ทพ.ศิริชัย เกียรติถาวรเจริญคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมพัฒนาคณะฯ ให้เกิดความสมดุลใน 3 มิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม และสังคม
โดยการสามารถนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาปรับใช้ และขยายผล บนความยั่งยืนได้โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย และพร้อมปรับตัวต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง จนทำให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สิรินธรทันตพิพิธ ไม่เพียงได้รับองค์ความรู้ด้านทันตกรรมอย่างครบวงจร ตั้งแต่จาก “เก้าอี้ทำฟัน” ไปจนถึงความก้าวหน้าในการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมทางทันตกรรมฝีมือคนไทยที่น่าภาคภูมิใจ ยังได้สัมผัสกับความเป็น “สำนักงานสีเขียว” จากการเป็นผู้นำในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า และสร้างจิตสำนึกในการลดปลดปล่อยคาร์บอนไปด้วยในขณะเดียวกัน
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ศิริราช สามารถคว้ารางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Certificate) ประเภทแหล่งท่องเที่ยว สาขาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ ภายใต้การนำโดยนพ.สมุทร จงวิศาล หัวหน้าหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ศิริราชในปัจจุบันให้ “ครองใจ” ด้านการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการเข้าถึงซึ่งครอบคลุมผู้เข้าชมในกลุ่มผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางได้ยิน ตลอดจนเพื่อพัฒนา “สังคมจิตอาสา”
จากการสร้าง Hotspot เสียงบรรยายอัตโนมัติ ในทุกจุดสำคัญของพิพิธภัณฑ์ พร้อมจัดให้มี QR Code เพื่อใช้สแกนฟังบรรยาย ณ จุดบริการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยให้ได้สัมผัส “ความเป็นศิริราช”มากยิ่งขึ้น จากจุดกำเนิดแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ด้วยวัตถุจัดแสดงที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นแบบจำลองจับต้องได้ และวัตถุจริงที่หาไม่ได้ในพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่โดยทั่วไป พร้อมด้วยนักศึกษาแพทย์ บุคลากร และศิษย์เก่าที่แวะเวียนเข้ามาแสดง “พลังชาวศิริราช” ทำหน้าที่ “จิตอาสา” นำชมด้วยความภาคภูมิใจใน “ความเป็นศิริราช”
และในปี 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงเดินหน้าพร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” สร้างสรรค์และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อเปิดประตูการท่องเที่ยวไทย ให้ประจักษ์ใจชาวโลก และการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี