ผ่านพ้นไปแล้วกับ “พิธีมอบรางวัลผลงานนักสื่อสารภาคีสัมพันธ์ ปีที่ 1” ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสสส. กับสถาบันการศึกษาๆ ชวนคนรุ่นใหม่ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารในสื่อใหม่ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายของ สสส. ในการสื่อสารประเด็นสุขภาวะ โดยแบ่งรางวัลออกเป็นประเภทงานเขียน ประเภทวีดีโอยาว (สารคดี) ประเภทวีดีโอสั้น และรางวัลขวัญใจภาคี และมีการเปิดวงเสวนา ชวนน้องๆ ที่ได้รับรางวัลมาร่วมพูดคุย
คูไซฟ๊ะ เจะเตะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) จ.ปัตตานี ตัวแทนทีม “สาวสาวสาว”กับผลงาน “คืนรอยยิ้มที่สดใส ให้ผู้สูงวัยในชุมชนบ้านบาโงฆาดิง” หมู่ที่ 5 ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี คว้ารางวัลประเภทวีดีโอยาว (สารคดี) เล่าว่า ตอนแรกนึกไว้ก่อนแล้วว่าการทำงานน่าจะเครียด แต่พอทำงานจริงด้วยพี่ๆ ภาคีที่เป็นมิตร ทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุก
“ของเขาจะมีกิจกรรม 5 มิติ เขาจะทำหลายอย่าง ด้วยความที่เป็นชุมชนของศาสนาอิสลาม ก็จะมีกิจกรรมที่แตกต่างออกไป อย่างถ้าปกติก็จะมีในเรื่องของการทำอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อนเยี่ยมเพื่อน แล้วก็ไปฟังธรรม ซึ่งจริงๆ คนในหมู่บ้านได้มาเจอกัน ไม่ได้อุดอู้อยู่ในบ้าน ซึ่งการที่เราอยู่ในบ้านอาจจะทำให้เราซึมเศร้าหรือเปล่า? แต่อันนี้พอเขาได้ออกมาเจอคนข้างนอก ทำให้ได้พูดคุย ได้ทำอะไรต่างๆ ด้วย” คูไซฟ๊ะ กล่าว
อาทิตย์ ภิญโญวรกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิทยาการจัดการ คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทราตัวแทนทีม “422” กับผลงาน “สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนบ้านเล้อ อ.พนมสารคามจ.ฉะเชิงเทรา” ประเภทวีดีโอสั้น กล่าวว่า ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดประเภท “เมืองรอง” เป็นที่อยู่อาศัย คนวัยหนุ่ม-สาว ออกไปหางานทำในพื้นที่อื่นๆ เหลือเพียงผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน ซึ่งต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว นานๆ ครั้งลูกหลานจึงได้กลับมาเยี่ยมสักทีหนึ่ง ทั้งนี้ ตนต้องลงพื้นที่ก่อนประมาณ 3-4 ครั้ง เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับคนในชุมชน
“เราค้นพบว่าจริงๆ แล้วผู้สูงอายุเขาไม่ได้รู้สึกว่าอยากแก่ ถึงแม้จะอยู่คนเดียวก็ไม่ว่างเปล่า คือจากการที่พื้นที่ได้จัดกิจกรรมเขามารวมกันมันเป็นความสุข เหมือนเรากับเพื่อนไปแฮงก์เอาท์กัน เขาก็ไปแฮงก์เอาท์ของเขาในลักษณะอีกแบบเท่านั้น ไปแฮงก์เอาท์แบบแอโรบิก ทำน้ำยาล้างจาน ไหว้พระ รูปแบบอาจจะต่างกันไปด้วยช่วงวัย” อาทิตย์ กล่าว
วิชญาภรณ์ ศรีคล้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ตัวแทนทีม “ลงละคร” กับผลงาน “ลงละคร” โครงการคิดแจ่ม สุขใจ วัยรุ่นหมุนโลก (กลุ่มกิ่งก้านใบ)หมู่ที่ 6 43 ต.ชัยจุมพล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ประเภทงานเขียน เล่าว่า เหตุที่เลือกถ่ายทอดผลงานในรูปแบบงานเขียน เพราะมาจากความชอบของคนในทีม อย่างตนชอบอ่านหนังสือ ส่วนเพื่อนก็ชอบเขียนนิยาย ซึ่งเมื่อมาทำงานนี้ก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียน โดยเฉพาะภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาแบบทางการมากขึ้น
“ลำดับแรกของงานเขียน ก็ต้องเลือกประเด็นก่อนว่าจะเอาประเด็นอะไร ก็เลือกประเด็นเกี่ยวกับละครสร้างความเปลี่ยนแปลง ทุกคนมีข้อสงสัยว่าละครมันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลได้อย่างไร อย่างเราแสดงมันจะเปลี่ยนแปลงเราได้อย่างไร เกิดมาจากข้อสงสัย ทำให้เลือกประเด็นก่อนแล้วก็ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้วก็มาเรียบเรียงเนื้อหา เลือกพื้นที่กิ่งก้านใบ เป็นสำนักกิจกรรม เขามีการใช้กระบวนการละครมาพัฒนาตัวเยาวชน” วิชญาภรณ์ กล่าว
สันติชัย ใจงาม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตัวแทนทีม “บูบู่”กับผลงาน “แอโรบิก ชีวิต ชุมชน” โครงการพัฒนากลไกหน่วยจัดการระดับเขตเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่เขตบางซื่อ (ชุมชนราชทรัพย์) กรุงเทพฯ ประเภทวีดีโอยาว (สารคดี) ซึ่งได้รับรางวัลขวัญใจภาคีกล่าวว่า ตนเรียนมาทางด้านภาพยนตร์ แต่ผลงานชิ้นนี้เป็นสารคดี ซึ่งรูปแบบการทำงานแตกต่างกัน เพราะงานภาพยนตร์เราสามารถควบคุมกำหนดกรอบได้ เช่น เวลา บุคคลแต่งานสารคดีแทบจะคาดเดา อะไรไม่ได้เลยเช่น ลงพื้นที่ไปก็ไม่รู้จะได้อะไรบ้าง
“ไปลงพื้นที่ประมาณอาทิตย์หนึ่งเพื่อให้คุ้นเคยกับชาวบ้านละแวกนั้น เพื่อที่พอเวลาเราลงพื้นที่ไปถ่ายทำจริง เขาจะได้ไม่ต้องตื่นเต้นหรือรู้สึกว่าเราเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเขา เขาจะมีลานกิจกรรมอยู่ เราก็ไปร่วมกับเขา เช่น งานประชุมสามัญบ้าน งานเลี้ยงอะไรต่างๆ เราอยากได้ความเรียลกับเขา เราไม่อยากให้เขาประดิษฐ์คำเพื่อจะให้เราสัมภาษณ์”สันติชัย กล่าว
ฟ้าใส เศรษฐาชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชานิเทศศาสตร์ดิจิทัล คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม ตัวแทนทีม “Unbullyable” กับผลงาน “การบูลลี่ในโรงเรียน ภัยใกล้ตัวที่ไม่เคยนึกถึง” ประเภทวีดีโอสั้น กล่าวว่าเหตุที่เลือกสื่อสารประเด็นการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) เพราะเป็นปัญหาสำคัญของวัยรุ่น ส่งผลกระทบถึงขั้นบางคนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่งใน จ.นครพนม ก็มีครูท่านหนึ่งที่ทำโครงการแก้ไขปัญหานี้ จึงลงพื้นที่ไปหาข้อมูล ซึ่งแม้ผลงานของทีมตนจะยังไม่สามารถทำให้ผู้รับสารเลิกพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งรังแกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี