เช็คอิน และเรียนรู้ …ชุมชนเข้มแข็งสู่ชุมชนท่องเที่ยว นครสวรรค์ แพร่ น่าน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงานเขตห้วยขวาง ได้จัด ”โครงการสัมมนาศึกษาดูงานการมีส่วนร่วมวัฒนธรรมเชิงพื้นที่” ด้วยการพาหัวหน้าชุมชน ตัวแทนกลุ่ม และคนในชุมชนเขตห้วยขวาง 200 ชีวิต ขึ้นเหนือเพื่อไปสัมผัสชุมชนที่คนในชุมชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อนวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มือชื่อเสียง ใน 3 จังหวัดด้วยกันคือ นครสวรรค์ แพร่ และน่าน ซึ่งการไปเช็คอินชุมชนท่องเที่ยวในครั้งนี้ แต่ละชุมชนที่ได้ไปสัมผัสล้วนแล้วแต่เป็นชุมชนที่มีจุดเด่นมีอัตลักษณ์เป็นจุดขายของตัวเองไล่มาตั้งแต่….
ชุมชนคุณธรรมฯ ชุมชนวัดเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
ชุมชนวัดเขาทองเป็นชุมชนเก่าแก่ เชื่อกันว่าบรรพบุรุษเป็นชาวมอญ ที่ได้อพยพเข้ามาทางเมืองอุทัย เป็นชุมชนที่ตั้งบนที่ราบสูงจึงทำให้น้ำท่าขาดแคลน มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ตำบลเขาทอง เมื่อสมัยก่อนมีภูเขาที่เป็นทองเหลืองอร่ามทั้งลูกอยู่ที่วัดโตเขาทอง ซึ่งมี เทวดาปกปักษ์รักษาอยู่ ต่อมาเทวดาองค์นั้นได้แปลงกายเป็นขอทานเนื้อตัวเป็นแผลพุพองมาขอน้ำชาวบ้านดื่ม เมื่อชาวบ้านเห็นว่าเป็นขอทานมีความน่ารังเกียจจึงไม่ใช้ขันตักให้ดื่มแต่ได้ใช้กะลาตักน้ำให้ดื่มแทน เทวดาจึงได้ สาปแช่งว่าต่อไปนี้จะไม่พบภูเขาทองลูกนั้นอีก และภูเขาลูกดังกล่าวก็ได้กลายเป็นภูเขาธรรมดาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านจึงเรียกชื่อตำบลว่า "เขาทอง"
นอกจากนี้ ยังมีนิทานเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ของชุมชนหลายสำนวน แสดงถึงความยากลำบากในการหาแหล่งน้ำ แต่ ณ ปัจจุบัน ในชุมชนมีหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "สระแก้ว” เคยเป็นทางช้างมาลงกินน้ำ ปัจจุบันขุดเป็นสระขนาดใหญ่ของชุมชน อีกสระหนึ่งอยู่ในวัดใหญ่ เรียกว่า "สระวิไล” เป็นที่ตักน้ำไปใช้ในครัวเรือน และยังเคยเป็นสถานที่พบปะของหนุ่มสาวที่ไปตักน้ำกันตอนเย็นๆ ช่วงตรุษสงกรานต์บริเวณขอบสระที่เรียกว่า หัวหนอง
ซึ่ง ณ ปัจจุบันชุมชนวัดเขาทอง แห่งนี้กลายเป็นสถานที่ก่อเกิดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จนพัฒนากลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวเป็นที่เชิดหน้าชูตาแห่งหนึ่งของเมืองปากน้ำโพ
ชุมชนหนองบัว …หมูบ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ. หนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ. น่าน
บ้านหนองบัว เป็นชุมชนชาวไทลื้อ ที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองล้า แคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ที่ยังคงเอลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทลื้อไว้ได้อย่างโดดเด่น จนสามารถนำวิถีชีวิตมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว จนกลายมาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่สามารถถอดบทเรียน ยกมาเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ได้ศึกษา
อาทิ ย่านชุมชนเก่าบ้านหนองบัว ถึงแม้จะผ่านมาหลายร้อยปี มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพไปตามพัฒนาการ แต่ยังคงปรากฏลักษณะอาคารบ้านเรือนแบบดั้งเดิมให้เห็นอยู่ รวมถึงองค์ประกอบสำคัญ เช่นวัด และประเพณีกำเมือง เป็นประเพณีที่ชาวไทลื้อปฏิบัติสืบทอดกันทุก ๆ สามปี คือ ประเพณีกำเมือง เป็นประเพณีเลี้ยงเทวดาหลวง หรือเจ้าหลวงเมืองล้า ซึ่งประเพณีเก่าแก่ที่เป็นอัตลักษณ์ ที่คนในชุมชนยังคงรักษาจนสามารถนำมาต่อยอดทำให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่คนต่างถิ่นอยากแวะเวียนมาสัมผัส
เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชนลำดวนผ้าทอ ต.ศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน
เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องเสื้อผ้าพื้นเมือง เป็นชุมชนไทลื้อ ที่อพยพมาจากสิบสองปันนา ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา การแต่งกาย อาหาร หรือวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่น การแต่งกายของชาวไทลื้อ ถือได้ว่ามีความสวยงาม โดยเฉพาะผ้าซิ่นไทลื้อที่มีชื่อเสียง ซึ่งเอกลักษณ์ของชาวไทลื้ออำเภอปัว คือ "ซิ่นมัดก่าน" หรือทางอีสานเรียกว่า "ซิ่นมัดหมี่" ซึ่งซิ่นมัดก่านนี้เป็นเทคนิคที่ชาวไทลื้ออำเภอปัว สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
ร้านลำดวนผ้าทอ เป็นร้านที่โด่งดังในเรื่องผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นผ้าซิ่นลายน้ำไหล ผ้าซิ่นไทลื้อ หรือเสื้อผ้าพื้นเมืองต่างๆ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอต่างๆ มากมาย อีกทั้งบริเวณร้านยังมี ร้านกาแฟบ้านไทลื้อที่โดดเด่นสไตล์เถียงนา เป็นกระต๊อบเล็ก ๆ มุงด้วยหญ้าคา พื้นเป็นฟาก ตามแบบวิถีชีวิตดั้งเดิมให้นักท่องเที่ยวได้มาดื่มด่ำกับวิถีชีวิตของไทลื้อ
สัมผัสชุมชนต้นแบบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชุมชนบ่อสวก อ.เมือง จ.น่าน
บ่อสวกเป็นชุมชนที่มีจุดเด่นเรื่องแหล่งโบราณคดี เตาเผาเครื่องปั้นโบราณ ศิลปะพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีกิจกรรมที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชุมชนผ่านงานหัตถกรรมพื้นบ้าน วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ เช่น การทำเครื่องปั้นดินเผาทำมือลายเอกลักษณ์ของชาวบ้านบ่อสวก คือ ลายอินธนูและลายนกฮูก การจักสานไม้ไผ่ของชาวบ้านต้าม การทอผ้าลายปากไหโบราณผสมผสานกับลายน้ำไหลเมืองน่านของบ้านซาวหลวง การแปรรูปน้ำอ้อย การแสดงดนตรีพื้นเมืองและการฟ้อนรำ การทำนาและการทำอาหารพื้นบ้าน
นอกจากนี้คนในชุมชนยังได้ช่วยกันผลักดันให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนให้ทันสมัย จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของเมืองน่าน
ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง จ.แพร่
ชุมชนทุ่งศรี เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบอีกแห่งหนึ่งของเมืองแพร่
ที่มีความพร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่อยากจะเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งที่นี่ มีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เด่นชัด เป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่เกิดจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น โดยริเริ่มจากโครงการชุมชนปลอดขยะ และต่อมาได้สร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เช่น การเลี้ยงไส้เดือน ศูนย์เรียนรู้ลูกทุ่งบ้านนาสปาไส้เดือน บ้านดอกไม้ประดิษฐ์ ชมการทำบายศรีอันซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน
ซึ่งการไปเช็คอินชุมชนท่องเที่ยวในครั้งนี้ นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตห้วยขวาง ได้มาเป็นผู้ทอดบทเรียนไขรหัสลับแห่งความสำเร็จของชุมชมที่ได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ผ่านโครงการสัมมนาศึกษาดูงานการมีส่วนร่วมวัฒนธรรมเชิงพื้นที่ครั้งนี้ว่า
“การได้มาศึกษาดูงาน ได้มาสัมผัสวัดวา อาราม บ้านเมือง ชุมชนของเขา ยอมรับว่าเป็นชุมชนที่น่าอยู่อาศัย เป็นเมืองที่มีความปลอดภัย มีความสะอาดมีการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเมือง เรื่องของขยะ มีการแยกขยะอย่างถูกต้องตามวิธี มีการเข้มงวดเอาจริงเอาจังกับการคัดแยกขยะ แถมยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ ถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไป แต่ว่าผู้นำไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ยังดำรงคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมชาวพื้นเมืองไว้ อย่างเช่นหมู่บ้านไทลื้อที่อพยพมาจากจีน ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์”
ถึงแม้ว่าเขตห้วยขวางจะเป็นชุมชนเมือง มีวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่มีมิติอันหลากหลาย คนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ตามวิถีของชุมชนเมือง ส.ก.ประพฤทธ์ เชื่อว่าถ้าคนในชุมชน ได้รู้จักมักคุ้น ก็จะก่อเกิดความรักสามัคคี ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองได้ในที่สุด นี่คือความลับที่เขาถอดรหัสออกมาได้จากการไปเช็คอินชุมชนท่องเที่ยวในครั้งนี้
ส.ก.ประพฤทธ์ เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ในครั้งนี้ว่าทางสำนักงานเขตห้วยขวาง ต้องการให้ผู้ที่มาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ได้มาเรียนรู้ และสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่มีความแตกต่างจากเขตห้วยขวาง และยังถอดบทเรียนผ่านการประชุมสัมมนากันทุกวันตลอดทริป เพื่อจะได้เก็บเกี่ยว นำเอาประสบการณ์ จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้เรียนรู้นำไปปรับใช้
“ในส่วนเขุตห้วยขวางของเรา ยังไม่มีความเด่นชัดในเรื่องอัตลักษณ์ สตอรี่ ซึ่งเขตของเราไม่มี เราจะมีแต่สิ่งปลูกสร้าง ถึงแม้ว่าเราจะมีวัดพระรามเก้า ซึ่งเป็นวัดพระอารามหลวง แต่สตอรี่ความเป็นมาโยงใยให้น่าสนใจยังไม่มี เราจะก็จะนำไปเป็นการบ้าน จะหาวิธีการให้เขตห้วยขวางให้มีสตอรีที่น่ามาเยือนต่อไป”
“การที่ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่เขต ได้มาศึกษาดูงาน ในครั้งนี้จะได้นำความรู้ไปต่อยอด นำไปพัฒนาเขตห้วยขวางของเรา ซึ่งเขตของเราเป็นชุมชนเมือง จึงมีความรัก สามัคคีในชุมชน วันนี้อย่างน้อยก็ได้มาละลายพฤติกรรม ตัวผู้นำชุมชนที่ยังไม่สนิทกัน ก็จะได้คุ้นเคย การทำงานกระประสานงานกันก็จะได้ง่ายยิ่งขึ้น” ส.ก.ประพฤทธ์ กล่าวสรุป และถอดบทเรียนในการไปเช็คอิน และเรียนรู้ …ชุมชนเข้มแข็งสู่ชุมชนท่องเที่ยว นครสวรรค์ แพร่ น่าน ในครั้งนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี