“7 ชั่วโมง 25 นาที” เป็นเวลาโดยเฉลี่ย “การใช้อินเตอร์เนตต่อวันของคนไทย” ตามข้อมูลเมื่อปี 2566 ที่ปรากฏในรายงาน “Thailand Digital Outlook” จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งพบว่า การใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากสถิติในปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน เช่นเดียวกับสัดส่วนการเข้าถึงและการใช้งานอินเตอร์เนต ในปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 89.5 และร้อยละ 87.6 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 88 และร้อยละ 85 ตามลำดับ และ “การใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” ถือเป็นกิจกรรมยอดนิยมอันดับ 1
ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS พบว่า ในปี 2566 ไทยมีผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ 52.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 51 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก (Facebook) ยังคงเป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ติ๊กต็อก (TikTok)ก็เป็นอีกแพลตฟอร์มที่กำลังมาแรง โดยในปี 2563 สัดส่วนคนไทยที่ใช้ติ๊กต็อก มีอยู่เพียงร้อยละ 36 แต่ผ่านไปเพียง 2 ปี ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 80
ถึงกระนั้น “ทุกอย่างก็มี 2 ด้าน” แม้สื่อสังคมออนไลน์จะมีประโยชน์มาก ทั้งการเป็นตัวช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการที่มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้สื่อแบบดั้งเดิม การรวมกลุ่มของญาติสนิทมิตรสหาย หรือการผลักดันประเด็นทางสังคม แต่ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกันเพราะด้วยความที่ทุกคนสามารถผลิตและกระจายเนื้อหาได้เอง ไม่ได้มีระบบกลั่นกรองแบบสื่อดั้งเดิม ทำให้อาจเกิดปัญหาข่าวปลอม (Fake News) หรือข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ได้
นอกจากนั้นด้วยความที่เป็นสื่อที่ใช้งานได้ง่าย ก็ทำให้ “หลายคนคิดอย่างไรก็แสดงออกไปอย่างนั้นทันที” ซึ่งหลายครั้งก็มักเป็นการใช้ “ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย” เกินเลยไปจากการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นตามครรลองของวิญญูชน นำไปสู่การลุกลามเป็น “ดราม่า” ชาวเนตแต่ละฝ่ายระดมคนพากันไป “ทัวร์ลง” รุมด่ารุมโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในช่วงที่ “การเมืองระอุ” เรื่องน้อยเรื่องใหญ่ก็ทำให้มีบรรยากาศดุเดือดได้ทั้งนั้น แต่ก็ต้องเตือนกันว่า “คอมเมนต์เอาสนุกเอามันจนเกินเลยไป..ระวังเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย” แล้วจะต้องมาเสียใจในภายหลัง
รายการ “แนวหน้า Talk” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) สรุปบทเรียนการทำงานของ ศชอ. ตั้งแต่การก่อตั้งและการยุติบทบาทลงว่า ย้อนไปในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองคุกรุ่น มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการจัดม็อบบนท้องถนนพร้อมกับมีปรากฏการณ์ทัวร์ลงบนโลกออนไลน์ จึงรวมตัวกับเพื่อนตั้งกลุ่ม ศชอ. ขึ้นมา เพื่อต่อสู้ทางกฎหมาย ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบถูกทัวร์ลง ซึ่งก็ได้ผลอย่างที่เห็น แกนนำฝ่ายนั้นโดนคดีไปตามๆ กัน
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่ ศชอ. ตระเวนไล่แจ้งความบุคคลที่ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั่นคือ ศชอ. กำลังทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับความเสียหาย ตนขอชี้แจงว่า หากไม่เข้าองค์ประกอบก็ไม่สามารถถือเป็นความผิดได้ อย่างการอยู่เฉยๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตชนในเชิงวิชาการ แบบนี้ตนจะไปทำอะไรได้ แต่ที่เห็นนั้นไม่ใช่ ส่วนคำถามว่ามีใครอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนหรือไม่ก็มีมวลชนในโลกออนไลน์ ส่วนเงินทุนที่ใช้ในการเคลื่อนไหวมาจากการบริจาคของผู้ที่เห็นดีเห็นงาม แต่ก็ไม่เยอะ เพียงหลักแสนเท่านั้น ไม่เหมือนอีกฝ่ายที่ได้กันเป็นหลักล้าน
“สลิ่มช่วยก็จริง แต่ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง หน่วยงาน NGO องค์กรต่างชาติ หรือพรรคการเมืองที่จะ Dump (ถม) เงินเข้ามา ฉะนั้นเวลาเปิดระดมทุน ของเราคือเงินบริสุทธิ์
100 บาท 5 บาท 10 บาท ของมวลชน เป็นเงินที่ประชาชนจริงๆ ช่วยกันมันจึงน้อย กับฝั่งนี้ที่เหมือนมีองค์กรช่วย” นพดล กล่าว
เลขาธิการ ศชอ. เล่าต่อไปว่า ศชอ. ปิดตัวลงไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ซึ่งก็ใกล้กับวันครบรอบ 3 ปีของการก่อตั้งพอดี คือวันที่ 3 ก.ย. 2563 สาเหตุที่ปิดเพราะดูสถานการณ์บ้านเมือง ม็อบก็ไม่มีแล้ว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีคดีทุจริตอยู่ในต่างประเทศมานานตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย มวลชนกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ที่เคยขัดแย้งกันก็เริ่มสมานฉันท์ เมื่อเห็นแบบนี้ ศชอ. จึงเริ่มลดบทบาทลง แต่ยังมีกลุ่ม ศปปส. ที่ยังนำเคลื่อนไหวอยู่
อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีที่สื่อสำนักใหญ่แห่งหนึ่งฟ้องประชาชน 4 คน ซึ่งคดีนี้ดูแล้วน่าสนใจ โดยตนมองว่า องค์กรใหญ่ระดับนั้นไม่ควรที่จะมาไล่บี้กับประชาชนตัวเล็กๆ ที่เทียบแล้วก็เหมือนกับเป็นเพียงมดปลวก ไม่ใช่คู่ต่อสู้เมื่อเทียบกับบุคคลหรือองค์กรระดับบิ๊กเนม 2.การทำหน้าที่สื่อมวลชนย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่กรณีที่เป็นเรื่องขึ้นมา คือพิธีกรรายการข่าวสวมเสื้อที่ถูกมองว่าเป็นสีดำ ท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังสวมเสื้อสีม่วง จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกาลเทศะ
ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า สำนักข่าวมาชี้แจงภายหลังที่ไปแจ้งความคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าพิธีกรไม่ได้ใส่เสื้อสีดำ แทนที่จะชี้แจงตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หากทำแบบนั้นกระแสความไม่พอใจก็จะลดลง แต่ที่ปล่อยทิ้งระยะไว้หมายความว่าอย่างไร กำลังเก็บรายชื่อบุคคลเพื่อดูว่าจะฟ้องใครบ้างอย่างนั้นหรือ ซึ่งการทำแบบนี้ตนไม่เห็นด้วย และคนก็มองว่าสื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้หรือ อีกทั้งเมื่อนำเรื่องที่จะฟ้องไปเสนอเป็นข่าว ก็กลายเป็นยิ่งสร้างความขัดแย้งหนักขึ้น พวกที่คิดร้ายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นผสมโรงด้วย
“มีอยู่คนหนึ่งบอกว่า “พี่..ผมต้องโดนแน่ๆ ผมมั่นใจว่าผมโดน” ก็บอกว่าใจเย็นๆ มันอาจจะไม่ใช่คุณก็ได้ แล้วถ้าคุณได้จริงๆ คุณค่อยมาติดต่อ เราพร้อม ผมให้เบอร์ไปหมดแล้ว เราจะไป สน. กับคุณ พาคุณไปรับทราบข้อกล่าวหา คุณจะปฏิเสธก็ปฏิเสธไป ต่อสู้ในชั้นศาล หลังจากที่อัยการถ้าเขาสั่งฟ้อง อันนี้ในแง่ของที่เขาไปแจ้งความที่โรงพัก แต่ถ้าเขาฟ้องตรงเอง เขาไปแจ้งความเพื่อที่จะหยุดอายุความ 3 เดือน แล้วเขาไปฟ้องตรงนั่นก็อีกเรื่อง ถ้าเขาฟ้องตรงเราก็ต้องแต่งตั้งทนาย เดี๋ยวผมจะหาทนายความไปช่วยคุณตรงนั้น” เลขาธิการ ศชอ. ระบุ
นพดล ยังกล่าวอีกว่า ตนยอมรับว่าไม่รู้ว่าข้อความซึ่งเป็นที่มาของการฟ้องคดีนั้นเป็นอย่างไรเพราะไม่ได้เห็น ซึ่งก็ต้องไปสู้กัน แต่ในมุมของตน ต้องการว่าหากวันใดที่ตนพาผู้ถูกกล่าวหาไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ ขอให้ตำรวจผู้รับผิดชอบคดี ติดต่ออีกฝ่ายที่เป็นคู่กรณีที่ได้รับความเสียหาย ให้มาพูดคุยกัน เพราะหากต้องการปกป้องชื่อเสียงของตนเอง ก็ควรจบลงในชั้นไกล่เกลี่ยของพนักงานสอบสวน จะให้ขอโทษหรืออย่างไรก็ว่ากันไป แต่หากไม่จบโดยต้องการให้คดีไปถึงชั้นศาลเพื่อให้มีคำตัดสิน ตนก็มีคำถามว่าอีกฝ่ายต้องการค้าความหรือไม่
หรือหากอัยการสั่งฟ้อง คดีไปถึงศาล ศาลก็จะมีศูนย์ไกล่เกลี่ย ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์อาจยอมรับว่าวิพากษ์วิจารณ์แรงเกินไป ผิดครบองค์ประกอบของกฎหมาย ตกลงกันได้หรือไม่เพราะเป็นคดีอาญาที่ยอมความได้ จะขอโทษกี่วันอะไรก็ว่าไปแต่ไม่ว่าอย่างไรก็ควรจบที่กระบวนการไกล่เกลี่ยไม่ว่าชั้นพนักงานสอบสวนหรือชั้นศาล ไม่ควรไปฟ้องอาญา ไม่พอหากชนะอาญาแล้วยังจะไปฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายเอาให้หมดตัวอีก ตนไม่อยากให้ไปถึงขั้นนั้น เพราะในเมื่ออีกฝ่ายยอมรับแล้วว่าทำผิดก็น่าจะพอแล้ว ไปเรียกค่าเสียหายเขาเป็นชาวบ้านจะเอาอะไรไปจ่าย
แต่หากจะบอกว่าจะเป็นใครก็ไม่มีสิทธิ์หมิ่นประมาท ตนก็ต้องถามว่าแล้วเหตุใดวันนั้นคนจำนวนมากถึงคิดตรงกัน เรื่องที่เห็นว่าสวมเสื้อสีดำ หรือจะบอกว่าน้ำเงินเทาแต่ก็ยังดูเป็นโทนสีดำ ซึ่งหากใส่สีอื่น จะสีแดง สีชมพู สีฟ้า ก็คงไม่มีใครว่าอะไร ดังนั้นแม้จะมีสิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตนเองแต่ก็ไม่ควรจะไปถึงสุดซอย เป็นสื่อใหญ่ก็ทำเพียงพอหอมปากหอมคอ แต่อีกด้านหนึ่ง คดีนี้ก็ถือเป็นบทเรียนกับประชาชนทั่วไปไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามด้วยเช่นกัน เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ
ซึ่งคำแนะนำสำหรับ “การแสดงความคิดเห็นที่จะไม่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท” เช่น วิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะตั้งคำถามแทนที่จะด่าแรงๆ แบบโต้งๆ ซึ่งก็จะลดความเสี่ยงในการกระทำผิดได้ นอกจากนั้นก็ต้องระมัดระวังเรื่องชู้สาว-ความสัมพันธ์ลึกซึ้งส่วนตัวของบุคคล เพราะเคยมีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า เรื่องแบบนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน แม้เป็นเรื่องจริง บุคคลที่ถูกพาดพิงคบชู้กันจริง แต่ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่สังคมไม่ได้ประโยชน์อะไร ดังนั้นก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องใต้เตียงของคนอื่นเขา อีกเรื่องหนึ่งคือการทวงหนี้ที่มีลักษณะประจาน เพราะทำให้อีกฝ่ายเสื่อมเสีย เมื่อมีการฟ้องคดีขึ้นมาก็มักจะแพ้ จากที่จะได้เงินกลายเป็นเสียเงินไปแทน
“พึงสังวรไว้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ใช้สติในการที่จะไปคอมเมนต์หรือวิพากษ์วิจารณ์ด่าใคร องค์ประกอบของความผิดนะ คุณนึกไว้อย่างเดียวเลย 1.เจตนาคุณอย่างไร? 2.คุณทำแบบวิญญูชนไหม? มีสติไหม? 3.การวิพากษ์วิจารณ์ของคุณมันก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมไหม? ถ้ามันครบอย่างนี้ คุณไม่มีเจตนาว่าร้าย เป็นการวิพากษ์โดยสุจริตอย่างวิญญูชน แล้วการวิพากษ์วิจารณ์นั้นไปมีประโยชน์กับสังคม อย่างนี้คุณก็ไม่ผิด” นพดล ฝากข้อคิด
จากบทบาทการเคลื่อนไหวในนาม ศชอ. นพดล เล่าถึงประวัติความเป็นมาของคน หลังจากจบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ได้เข้าทำงานกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งก็ต้องบอกว่ากว่าจะส่งงานได้แต่ละชิ้นไม่ใช่ง่าย เช่น การทำ Artwork ถึงขั้นต้องใช้ไม้บรรทัดมาวัด ชิ้นงานต้องเป๊ะขาดไปแม้แต่ 1 มิลลิเมตรก็ยังไม่ได้ “เคยร้องไห้มาแล้ว ทำไมลูกค้าโหดอย่างนี้” แต่ประสบการณ์ที่ได้รับก็ทำให้แข็งแกร่งขึ้น
หลังอยู่กับเอเจนซี่โฆษณาอยู่ 1 ปีครึ่ง ตนก็ย้ายไปทำการตลาดให้กับ NEC Home Electronics ในเครือปูนซิเมนต์ไทยทำไปสักพักก็มีเพื่อนที่เป็นแอร์โฮสเตสของการบินไทย มาชวนไปสมัครงาน ตนเห็นว่ารายได้ดีจึงลองไปสมัครดู ซึ่งสมัยนั้นก็ขึ้นชื่อแล้วว่าการบินไทยเข้าไปทำงานยากมาก “ว่ากันว่ายากกว่าสอบเอนทรานซ์เสียอีก” ถึงขนาดที่ต้องพึ่งการบนบานที่พระพรหมของการบินไทย ส่วนเรื่องสภาพร่างกาย ด้วยความที่เป็นคนรูปร่างผอม จึงต้องกินกล้วยเพื่อเพิ่มน้ำหนัก และใช้การหาอะไรมาเสริมในถุงเท้าหนาๆ ให้ดูตัวสูงขึ้น
เมื่อผ่านรอบตรวจร่างกาย มีการสอบว่ายน้ำ 50 เมตรขั้นตอนต่อไปคือทดสอบทักษะด้านภาษาอังกฤษ หรือสอบ TOEIC ซึ่งสมัยนั้นน่าจะสอบยากกว่าปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้มีหูฟังให้สวม แต่ในอดีตจะเป็นการเปิดเทปเสียงดังในห้องรวมจากนั้นเป็นรอบสัมภาษณ์เป็นภาษาไทย ตรวจประวัติอาชญากรรม และสุดท้ายคือการไปลุ้นที่บอร์ดติดประกาศว่าจะมีรายชื่อตนเองหรือไม่ ซึ่งบรรยากาศก็จะไม่ต่างกับการไปลุ้นรายชื่อในการสอบเอนทรานซ์ โดยตนเข้าทำงานในปี 2532 ยังเป็นปีที่การบินไทยรับลูกเรือจำนวนน้อย กระทั่งปี 2533 หรือ 2534 จึงเริ่มรับมากขึ้น
“ตอนแรกว่าจะอยู่แป๊บเดียว บินไป-บินมา 30 ปี เป็นPurser สุดท้าย จนโควิดมานั่นแหละ บ้านแตกสาแหรกขาด”นพดล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี