จุดเริ่มต้นจาก‘ฝรั่งเตะหมอ’สู่การระเบิดของคนไทย ปลุกกระแสชาวบ้านลุกฮือทวงคืนชายหาดภูเก็ต พร้อมใจกันลุกขึ้นมาจี้ให้ตรวจสอบเรียกศักดิ์ศรีกลับคืนมา ไม่ทนให้‘ต่างชาติ-นายทุน’เหยียดกดขี่เจ้าของแผ่นดินอีกต่อไป
เอ่ยชื่อ “ภูเก็ต (Phuket)” นี่คือจังหวัดของประเทศไทยที่โด่งดังในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โดยหากย้อนไปในยุคสมัยก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ภูเก็ตเคยมีชาวต่างชาติไปเยือนถึง 14 ล้านคน สร้างรายได้มากถึง 4.4 แสนล้านบาท และนอกจากการมาเที่ยวแล้ว การมาอยู่อาศัยระยะยาวก็เป็นอีกเป้าหมายของ “ต่างชาติกระเป๋าหนัก” ดังที่มีรายงานช่วงปี 2565 – 2566 ว่า ราคาที่ดินภูเก็ต โดยเฉพาะโซนชายหาด เฉลี่ยอยู่ที่ “8 หลัก” และบางจุดอาจสูงถึง “9 หลัก” ต่อไร่ ถึงกระนั้น บรรดานักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเป็นความคุ้มค่าในการพัฒนาโครงการ
แต่ท่ามกลางการขยายตัวของสารพัดโครงการรองรับการมาของชาวต่างชาติ ก็ทำให้เกิด “ความอึดอัด” ในหมู่คนท้องถิ่นอยู่ไม่น้อย นั่นเพราะ “เป็นคนพื้นที่แท้ๆ แต่ไม่สามารถใช้ทรัพยากรอย่างชายหาดและทะเลได้” ที่ผ่านมาก็เคยมีข่าวอยู่บ้าง เช่น กรณีของ “ชาวเลราไวย์” ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เป็นคดีความกับผู้ประกอบการอสังหาฯ เพื่อการท่องเที่ยว เพราะถูกขับไล่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมถึงพื้นที่จอดเรือประมงอันเป็นเครื่องมือทำมาหากิน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีครั้งไหนที่ประเด็นนี้จะถูก “จี้” ด้วย “เสียงอันดัง” จากคนท้องถิ่นและคนไทยทั่วประเทศที่รับรู้ข่าวสารมากเท่ากับเหตุการณ์ “ฝรั่งเตะหมอ” เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2567 ซึ่งอาจไม่จบแค่ดำเนินคดีและเนรเทศฝรั่งรายนี้ แต่เหมือนกับ “ภูเขาไฟที่ระเบิดออก” ของความไม่พอใจ เพราะทั้งคนภูเก็ตและคนไทยที่ไปเที่ยวภูเก็ต จะเดินไปทางไหนก็เจอแต่ “ป้ายเตือนความเป็นหาดส่วนตัว” มีการปิดกั้นทางเข้า – ออกห้ามผ่าน หรือบางจุดแม้ไม่ได้ปิดชายหาดโดยตรง แต่ก็ปิดถนนใกล้เคียง ใครจะลงชายหาดต้องอ้อมไปใช้เส้นทางอื่นที่ลำบากและไม่สะดวก “ทวงคืนชายหาดทั่วภูเก็ต” จึงกลายเป็นเสียงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาเอาจริงเอาจริงเอาจังเสียที
จาก “แหลมยามู” จุดเริ่มต้นคดีฝรั่งเตะหมอ ที่มีการตรวจสอบ “วิลล่าหรู” ซึ่งฝรั่งรายนี้มาเช่าอยู่และพบว่ารุกล้ำพื้นที่สาธารณะ เริ่มลามไปสู่ “แหลมหงา” โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 มีชาวบ้านไปชุมนุมเรียกร้องให้บริษัทเอกชนที่สร้างรั้งปิดทางเข้า-ออกหาด บริเวณทางหลวงชนบทสาย ภก4097 เปิดรั้วให้ประชาชนลงไปใช้พื้นที่หาดได้ จนนำไปสู่การพังรั้ว ไม่ยอมรอ 15 วัน ตามที่เจ้าของที่ดินขออีกต่อไป ซึ่งตามรายงานที่ปรากฏเป็นข่าว พื้นที่บริเวณนี้มีข้อพิพาทมานาน เคยมีหน่วยงานมาตรวจสอบและให้เปิดทางเข้า – ออกแล้วครั้งหนึ่ง แต่ต่อมาก็ปิดอีก
หรือจะเป็น “หาดนุ้ย” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ที่แหลมหงา ทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมด้วย กอ.รมน.จังหวัดภูเก็ต และ ศรชล.จังหวัดภูเก็ต ได้เข้าตรวจสอบหลังมีประชาชนร้องเรียน มีบุคคลอ้างเป็นอดีตทหารเรือ “เก็บค่าเข้าหาด 100 บาทต่อคน” อย่างไรก็ตาม บุคคลดังกล่าวชี้แจงว่า ไม่เคยแอบอ้างเป็นทหารเรือ และเงินที่เก็บไปคือค่าดูแลสถานที่ อีกทั้งยืนยันว่ามีกรรมสิทธิ์ นส.3.ก. ครอบครองพื้นที่บริเวณนั้น แต่ปัจจุบันก็กำลังสู้คดีอยู่หลังศาลสั่งเพิกภอนเอกสารสิทธิ์เนื่องจาก ส.ค.1 ผิดแปลง รวมถึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองและศาลแพ่ง กรณีประกาศป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขานาคด้วย เพราะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อน
ล่าสุดเมื่อไฟลนก้น จึงมีการยกกำลังไปทวงคืนดังกล่าว ( ด่วน! ป่าไม้สนธิกำลังกว่า 100 นาย ยึดคืน'หาดนุ้ย'โดนบุกรุก จี้รื้อถอนภายใน 30 วัน)
“หาดแหลมสิงห์” ถูกตั้งคำถามว่าเหตุใดปล่อยให้มีผู้ประกอบการวางร่ม-เตียงแบบผูกขาดรายเดียว ในขณะที่ชาวบ้านเข้าไปเที่ยวหาดดังกล่าวไม่ได้ มีผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่มีแผนจะพัฒนาเป็นโรงแรม เนื่องจากเป็นชายหาดที่สวยงาม และมีการปิดทางเข้า – ออกบริเวณถนนลงหาด จนวันที่ 6 มี.ค. 2567 ตำรวจ สภ.กมลา และเจ้าหน้าที่ อบต.กมลา ลงพื้นที่ตรวจสอบ สั่งการให้ผู้ประกอบการรื้อร่ม – เตียงทั้งหมดออก และดำเนินคดีฐานประกอบกิจการร่ม – เตียงบนพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
“หาดฟรีดอม” ในพื้นที่ ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เรื่องนี้เกิดก่อนกรณีฝรั่งเตะหมอ โดยเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังได้รับการร้องเรียนว่ามีผู้ประกอบการหลายรายมากางร่ม-เตียง ขายอาหารและเครื่องแอลกอฮอล์เต็มชายหาด ทั้งที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ คืออยู่ใน “ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด” ในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ให้ผู้ประกอบการทุกรายรื้อถอนร่ม-เตียงออกไป และได้ทราบข้อมูลว่า เริ่มนำร่ม – เตียงมากางกั้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 และมีการอ้างว่ามีเครือข่ายของเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาร่วมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ด้วย
"เกาะงำ” ที่นี่เคยมี “ดราม่าการเมือง” เนื่องจากในปี 2563 มีประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะ ร้องเรียนว่า ในปี 2562 ถูก รังสิมันต์ โรม ขณะที่ยังเป็น สส. พรรคอนาคตใหม่ ที่ลงพื้นที่เกาะงำ บังคับข่มขู่ให้รื้อถอนที่พักอาศัย อย่างไรก็ตาม รังสิมันต์ โรม ชี้แจงว่า ก่อนหน้านั้นตนเคยลงพื้นที่ในช่วงหาเสียง แล้วมีชาวบ้านที่อยู่อาศัยฝั่งเกาะหลักของ จ.ภูเก็ต ร้องเรียนว่าไม่สามารถเข้าไปเกาะงำได้ เพราะผู้อาศัยบนเกาะใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า ขู่ว่าหากเข้าไปจะทำร้าย ซึ่งผู้ร้องกังวลว่าบนเกาะงำอาจมีนายทุนพยายามครอบครองเป็นเกาะส่วนตัว และตนก็ไม่เคยกลับไปที่เกาะงำอีก รวมถึงไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับที่ดินบนเกาะ
ยังมีในส่วนของ “แหลมกาใหญ่” หรือ “หาดแหลมกา” ต.ราไวย์ มีรายงานว่า คนท้องถิ่นเรียกร้องให้เปิดทางเข้า – ออกหาด หลังมีการทำรั้วกั้นโดยผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ทำให้ไม่สามารถเดินทางลงหาดด้วยรถยนต์ได้ ต้องเดินเท้าหรือใช้เรือเท่านั้น ขณะที่มีรายงานว่า ในอดีตเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นคนไทยไม่เคยปิดทางเข้า-ออกชายหาด กระทั่งที่ดินได้ถูกเปลี่ยนมือขายไปอยู่กับชาวต่างชาติ ,
“ผาพับผ้า” หาดกมลา บริเวณหน้าผาเคยเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม แต่ล่าสุดถูกตั้งคำถามเรื่องกลายไปเป็นที่ดินเอกชนได้อย่างไร เนื่องจากมีการนำรั้วมาปิดกั้นทางเข้า-ออก ทั้งที่ไม่สามารถออกเป็นโฉนดได้ รวมถึง “หาดไตรตรัง” ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จุดนี้น่าแปลกยิ่งกว่าจุดอื่นๆ เพราะไม่ใช่การสร้างรั้วปิดกั้นถนนที่เป็นทางเข้า-ออกหาดโดยอ้างความเป็นที่ดินเอกชน แต่เป็นเอกชนลงไปปลูกสิ่งก่อสร้างบริเวณติดชายหาด อีกทั้งมีข้อร้องเรียนเรื่องปล่อยน้ำเสียลงหาด
คงไม่ผิดที่จะใช้คำว่า “อดทนมานานแล้ว” กับชาวภูเก็ตและชาวไทย เพราะจากปรากฏการณ์ “ฝรั่งเตะหมอ” ได้ลุกลามกลายเป็นการ “ชี้เป้า” ให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ริมหาด และเอาจริงๆ ก็ไม่ใช่เฉพาะ จ.ภูเก็ต เท่านั้น ในจังหวัดอื่นๆ ที่ติดทะเล ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องอย่างเดียวกัน ดังคำว่า “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” เพราะเม็ดเงินที่อ้างว่าได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในอีกมุมหนึ่งได้กลายเป็นคำถามจากคนท้องถิ่นว่า “แล้วพวกเขาได้อะไรบ้าง?” คุ้มค่าจริงหรือไม่ก็กับการเทน้ำหนักไปทางชาวต่างชาติและโครงการพัฒนาอสังหาริมทรีพย์แบบสุดซอย
เพราะแม้กระทั่งชายหาดที่เคยเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจมาหลายชั่วอายุคนก็ยังไม่มีสิทธิ์ได้ใช้..ราวกับคนท้องถิ่นที่เป็นคนไทยแท้ๆ ถูกหลงลืม!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี