ส่องกราฟชีวิต‘บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก’ ขึ้นสุด...ลงสุด หวือหวา สู่‘เด้งฟ้าผ่า’เก็บกรุทั้งคู่
ฟ้าผ่า!!!
เรียกว่าเป็น “ปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก” กับกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่ง “เด้ง” ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรตำรวจอย่าง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” แถมครั้งล่าสุดยังเป็นการ “เด้งคู่” ของ “สองยักษ์” แห่งแวดวงสีกากีในยุคนี้ โดยนายกฯเศรษฐา ลงนามคำสั่งในวันที่ 20 มี.ค. 2567 ให้ทั้งคู่มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี
หนึ่งคือ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อีกหนึ่งคือ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งคู่ถือว่ามี “เส้นทางชีวิต” ไม่ธรรมดา!!!
ในส่วนของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2507 เป็นชาว จ.เพชรบุรี มีพี่น้องรวม 5 คน รวมถึง พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์และเลขาธิการพระราชวัง ผู้เป็นพี่ชาย และเมื่อดูประวัติการศึกษาและการทำงานก็ยิ่งน่าทึ่ง เพราะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นนายตำรวจเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้มาจาก “นายร้อยสามพราน” โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม แต่สามารถขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรตำรวจได้
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนโยธินบูรณะ แล้วไปเรียนต่อจนจบ ป.ตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังจบ ป.โท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ส่วนชีวิตการทำงานก็เริ่มจากการเป็นพนักงานบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ ทำงานอยู่ 7 ปี จึงตัดสินใจสมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอต.) รุ่นที่ 4 และเริ่มรับราชการตำรวจในปี 2540 ในตำแหน่งรองสารวัตร กองกำกับสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191
หลังจากเป็นตำรวจได้ 2 ปี ในปี 2543 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นมียศร้อยตำรวจโท ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสืบสวนวิทยาลัยการตำรวจ และย้ายไปเข้าสังกัดกองปราบปราม ในตำแหน่งรองสารวัตร ซึ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะรับราชการอยู่กับกองปราบฯ เป็นเวลา 17 ปี ก่อนย้ายไปอยู่กับตำรวจท่องเที่ยว ในตำแหน่งสารวัตร สังกัดกองกำกับการ 1 ดูแลรถวิทยุฝั่งธน จากนั้นย้ายไป เป็นสารวัตรกองกำกับการที่ 3 คุมเรื่องปราบจลาจล และได้ย้ายมาคุมรถสายตรวจกองกำกับการที่ 5 จนได้ขึ้นเป็นรองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบปราม (หน่วยคอมมานโด) และผู้กำกับการในหน่วยดังกล่าว ตามลำดับ ในชั้นยศพันตำรวจเอก จนครบวาระแล้วจึงขึ้นเป็นผู้บังคับการปราบปราม
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ตามด้วยตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามลำดับ กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 14 ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ทั้งนี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2567
ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2513 เป็นชาว จ.สงขลา และเป็นบุตรชายของ ด.ต.ไสว หักพาล จึงถือว่าเป็น “ลูกไม้ไม่ไกลต้น” เลือกเส้นทางอาชีพตำรวจเช่นเดียวกับบิดา โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 31 และนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47 จากนั้นเริ่มรับราชการในปี 2537 ในชั้นยศร้อยตำรวจตรี ตำแหน่งรองสารวัตร ใช้เวลาราว 6 ปี 1 เดือน จึงขึ้นเป็นสารวัตร จากนั้นอีกประมาณ 4 ปี 8 เดือนก็เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้กำกับการ และอีก 4 ปี จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ ในชั้นยศพันตำรวจเอก ณ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
จากนั้นอีก 4 ปี 1 เดือน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขยับขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา พร้อมกับได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธร จ.สงขลา ส่วนหน้า ดูแลพื้นที่อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา จ.สงขลา อันเป็น 4 อำเภอ “พื้นที่สีแดง” มีเหตุความรุนแรงที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) ซึ่งทำให้เข้าเกณฑ์ “นับอายุราชการทวีคูณ” ส่งผลให้ได้เลื่อนยศขึ้นเป็นพลตำรวจตรี กลายเป็น “นายพล” ทั้งที่อายุยังไม่ถึง 45 ปี เป็นที่ฮือฮามาก
แต่ต้องบอกว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ น่าจะเป็นนายตำรวจเพียงไม่กี่คนที่เส้นทางชีวิต “หวือหวา” มีทั้งช่วงขาขึ้นแบบสุดๆ ทั้งการครองยศชั้นนายพลตั้งแต่อายุยังน้อย และการดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการ” ตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นกัน โดยในเดือน ต.ค.2561 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในวัยเพียง 48 ปี อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็น คณะทำงานศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในช่วงเองที่ชื่อของ “บิ๊กโจ๊ก” เริ่มปรากฏในหน้าสื่อแทบจะรายวัน จากการแถลงข่าวจับกุมคดีอาชญากรรมต่างๆ ที่สังคมให้ความสนใจ นอกจากนั้น ความที่ถูกมองว่าเป็นผู้ใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ถือเป็น “ผู้มากบารมี” คนหนึ่งในแวดวงการเมืองไทย ทำให้หลายคนเชื่อว่า อนาคตของชายที่ชื่อ “สุรเชษฐ์ หักพาล” บนถนนสีกากี ต้องไปได้ไกลถึงจุดสูงสุดของอาชีพ ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างแน่นอน
แต่แล้วชีวิตของ “บิ๊กโจ๊ก” ก็ต้องเจอกับ “ขาลง” เผชิญมรสุมชีวิตเป็นครั้งแรก ในวันที่ 9 เม.ย. 2562 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และยังเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนวจหัวหน้า คสช. ลงนามคำสั่งย้าย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเวลานั้นมียศพลตำรวจโท จากการเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปเป็นข้าราชการสังกัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีข้อสังเกตว่า หลังช่วงเวลาดังกล่าว บิ๊กโจ๊กได้หายไปจากพื้นที่สื่อมวลชน รวมถึงไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ บนโลกออนไลน์
กระทั่งในเดือน มี.ค. 2564 บิ๊กโจ๊กจึงได้ย้ายกลับมาอยู่ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง โดยในวันที่ 11 มี.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขณะนั้นเปลี่ยนสถานะจากนายกฯ รัฐบาลทหาร มาเป็นนายกฯ รัฐบาลเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ก.ตร. มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพลตำรวจโท) ที่โยกย้ายกลับมารับราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.9 เทียบเท่าผู้ช่วย ผบ.ตร. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวที่ได้ขออนุมัติ ก.ตร. เปิดไว้
ในเดือน ก.ย. 2565 “บิ๊กโจ๊ก” ได้เลื่อนยศเป็น “พลตำรวจเอก” พร้อมกับ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล รวมถึง “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ซึ่งเป็นผู้ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ลงนามคำสั่งให้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลังมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งนับจากที่ บิ๊กโจ๊ก หวนคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้กลับมาเป็น “ดาวเด่น” ในหน้าสื่อและโลกโซเชียลอีกครั้ง รวมถึงยังมีชื่อเป็นหนึ่งใน “แคนดิเดต” ว่าที่ ผบ.ตร. คนที่ 14 ก่อนที่ท้ายสุด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะได้รับตำแหน่งดังกล่าวไป ในการประชุม ก.ตร. วันที่ 27 ก.ย. 2566
ในขณะที่เส้นทางชีวิตของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กำลังกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้น นับตั้งแต่กลับมารับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องเจอ “มรสุมชีวิตหนที่สอง” ในช่วงเช้าของวันที่ 25 ก.ย. 2566 หรือเพียง 2 วันก่อนการประชุม ก.ตร. เพื่อเลือก ผบ.ตร. คนที่ 14 ตำรวจชุดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้าน 5 หลังในซอยวิภาวดี 60 ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นบ้านพักของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เนื่องจากลูกน้องของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่พักอาศัยในกลุ่มบ้านดังกล่าว มีข้อมูลว่าเชื่อมโยงกับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ เครือข่าย “มินนี่”
กระทั่งในช่วงกลางเดือน ก.พ. 2567 มีรายงานว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีรายชื่อถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 157 และมาตรา 149 โดยการเปิดเผยของ “บิ๊กเต่า” พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะโฆษกชุดสืบสวนคดีเครือข่ายเว็บพนันมินนี่ ขณะที่ในเดือน มี.ค. 2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งทีมทนายขึ้นมาต่อสู้ข้อกล่าวหา รวมถึงฟ้องเอาผิด พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
เกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา บรรยากาศในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “ร้อนฉ่า” จากการตอบโต้กันของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ โดยในวันที่ 29 ก.พ. 2567 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ซึ่งไม่ได้ตอบคำถามสื่อเรื่องคดี แต่ได้กล่าววาทะเด็ด “ชอบเป็นนกอินทรีมากกว่า เพราะบินสูง และเลือกเหยื่อได้” ขณะที่ในวันที่ 13 มี.ค. 2567 ทีมทนายของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ย้ำคำพูดของบิ๊กโจ๊ก ที่เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ว่า “ข้อมูลผมมีมาก ผมเปิดเมื่อไรก็ตายกันหมด”
จากนั้นวันที่ 19 มี.ค. 2567 ทีมทนายของบิ๊กโจ๊ก ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีการดำเนินคดีกับผู้ที่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีหลายคนที่ไม่ถูกดำเนินการใดๆ คือ มีทั้งผู้สื่อข่าว สมาคมนักข่าว ตำรวจหลายหน่วย ญาติผู้บังคับบัญชาระดับสูง และจะนำ รายชื่อของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไม่ถูกดำเนินการ ไปยื่นให้กับหน่วยงานต่างๆที่ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับทราบและพิจารณาดำเนินการ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), ป.ป.ช. , ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงยื่นต่อนายกรัฐมนตรี
ในงานเดียวกัน พล.ต.ต.นำเกียรติ ธีระโรจนพงษ์ อดีต ผบก.ศฝร.บช.น. มาที่งานแถลงข่าว พร้อมเปิดเผยว่า ในฐานะผู้ต้องหาของคดีมินนี่ขอชี้แจงถึงความเชื่อมโยงในเส้นทางการเงินของ น.ส.พิมพ์วิไล แอดมินเว็บ BNK MASTER ซึ่งพบว่าในแถวหนึ่งพบความเชื่อมโยงไปยังบัญชีของ นายพล “ต.” ภรรยา “ก.” พี่สาว “จ.” พี่ชาย “ช.”
แต่ในวันเดียวกัน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้าทีมทนายของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มั่นใจว่าผิดจริงก็เปิดเผยออกมาเลย เพราะเส้นทางการเงินเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สามารถตรวจสอบได้
กระทั่งล่าสุด วันที่ 20 มี.ค. 2567 ในเวลา 11.00 น. ทั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรี ก่อนจะกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ตนกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กำลังจะแถลงข่าวร่วมกัน และย้ำว่า “ตอนนี้ไม่มีอะไรแล้ว ทุกอย่างจบแล้ว” ส่วนในเรื่องของคดีก็ว่ากันไป ตอนนี้ตำรวจเราต้องกลับไปทำงานให้กับประชาชน
โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่า ในช่วงบ่ายโมงของวันเดียวกัน ทั้ง “บิ๊กต่อ” และ “บิ๊กโจ๊ก” จะเจอคำสั่ง “เด้งฟ้าผ่า” พร้อมกันเสียก่อน!!!
#ทีมข่าวออนไลน์ “แนวหน้า”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี