อึ้ง! พบ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ทำเลียนแบบ‘ตุ๊กตา-ของเล่น’ ห่วงระบาดถึงมือเด็ก
21 มี.ค. 2567 ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ เปิดเผยว่า ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ปรับเปลี่ยนรูปโฉมของสินค้าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากบุหรี่มวน โดยใช้การตลาดการ์ตูน ปรับรูปร่างหน้าตาจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบเดิม มาเป็นบุหรี่ไฟฟ้า Gen 5 ‘toy pod’ หรือบุหรี่ไฟฟ้าตุ๊กตา ที่ผลิตเลียนแบบตุ๊กตา ของเล่น ตัวการ์ตูนฮิต อาร์ตทอย ทำเหมือนกล่องขนม ขวดน้ำผลไม้ ไปจนถึงเครื่องเขียน ชนิดเลียนแบบได้เหมือนสมจริงทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด และสีสัน และมีขนาดเล็ก ซึ่ง toy pod ใช้นิโคตินปรับโครงสร้างหรือนิโคตินสังเคราะห์ทำให้สูบง่ายไม่ระคายคอ มีนิโคตินสูง 3-5% สูบได้นานถึง 8,000-15,000 พัฟฟ์
โดย toy pod จะผลิตเลียนแบบตัวการ์ตูนตุ๊กตายอดฮิต โดราเอมอน Super Mario โปเกม่อน บางรุ่นเลียนแบบอาร์ตทอยชื่อดังอย่างตุ๊กตา Molly ตุ๊กตา plush หรือตัวการ์ตูนเจ้าหญิงดิสนีย์ บางรุ่นสร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาเองเป็น brand character เช่น การ์ตูนโจรสลัด โดยขายสินค้าผ่านการผจญภัยของตัวการ์ตูนและเหล่าสมุน บางรุ่นทำเหมือนของเล่นเลโก้ และผลิตออกมาเป็นคอลเลคชั่นคล้ายของสะสม แต่ละชุดมี 10-12 ตัว มีชื่อเรียกแต่ละชุด มีสีแตกต่างกันเพื่อบอกรสชาติ กลิ่นหอม รสชาติผสมผสานกันทั้งผลไม้ ความเย็น และลูกกวาด เช่น รสแตงโม พีช มิ้นท์
“เป็นที่น่าตกใจที่การตลาดล่าเหยื่อเด็กนี้ประสบความสำเร็จ จากการมีข่าวว่ามีการระบาดในกลุ่มนักเรียนระดับประถม ล่าสุดพบเด็ก ป.1 (6 ขวบ) พกบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นพ่อแม่ ครูและโรงเรียน ควรต้องคอยเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้าแปลงร่างเหล่านี้ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะ toy pod ออกแบบช่วงปากสูบให้กลมกลืนไปกับตัวตุ๊กตา จนอาจไม่ทราบว่านี่คือบุหรี่ไฟฟ้า หากนำมาวางปนกันกับของเล่น อาจแยกไม่ออกว่าอันไหนคือของเล่นจริง อันไหนคือบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.ศรีรัช กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การตลาดล่าเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่ไร้จริยธรรมนี้ นอกจากจะพัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าให้เย้ายวนเด็กอายุเล็กลงเรื่อยๆ ยังพัฒนาสถานที่ และส่งเสริมการขาย ในสื่อโซเชียลที่ถูกใจและตรงกับวิถีชีวิตของเด็กๆ ด้วย จากรายงานการเฝ้าระวังการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ช่วงม.ค.-ก.พ. ปี 2567 โดย น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์จำนวนมากถึง 309 บัญชีรายชื่อ
มีการโพสต์ 605 ครั้ง ส่วนใหญ่ 66.7% เป็นผู้ขายรายเก่าที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มาก่อนปี 2567 รองมาคือ 33% เป็นผู้ขายรายใหม่ที่ลงทะเบียนใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ปี 2567 โดยลักษณะการขายส่วนใหญ่ 54.4% เป็นผู้ขายย่อย 44.7 ขายส่ง/รับตัวแทนขาย และ 1% รับรีวิว ทั้งนี้ 29.1% ใช้แพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) มากที่สุด รองมาคือ 26.9% เฟซบุ๊ก 17.5% อินสตาแกรม 15.2% เว็บไซต์ 7.4% ไลน์ 3.6% ติ๊กต๊อก และ 0.3% ยูทูบ
“กลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่นออนไลน์ เน้นโพสต์เพื่อสร้างการรับรู้ถึงตัวผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า การรักษาลูกค้าด้วยการจัดส่งฟรี แจก แถม และลดราคา จนกระทั้งเกิดการซื้อขาย ส่งถึงบ้าน มีเก็บเงินปลายทาง โดยผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่นิยมโพสต์ขายมากที่สุด คือ 89.3% pod รองมาคือ 6.3% ชุดบุหรี่ไฟฟ้าพร้อมสูบ และ 4% เครื่องเปล่า โดยแนวโน้มของการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเน้นให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ความชอบของคนรุ่นใหม่ เริ่มมีการรายงานพบตู้กดขายบุหรี่ไฟฟ้า” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวต่อไปว่า น่าเป็นห่วงมากที่เด็กอาจกำลังตกเป็นเหยื่อการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์ เพราะหากสมองของเด็กตั้งแต่ในครรภ์ถึงอายุ 25 ปี สะสมสารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้เซลล์สมองถูกทำลายได้มาก โดยเฉพาะต่อระบบความจำ ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ชัก หัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุด และยังต้องเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องจริงจัง จับกุมผู้กระทำความผิดที่ลักลอบนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าบนสื่อออนไลน์ ที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน เพื่อปกป้องเด็กจากการตลาดล่าเหยื่อนี้
“วิกฤตการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า หายนะกำลังคืบคลานทำร้ายลูกหลานไทย สังคมคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ จะต้องร่วมพลังกันออกมาส่งเสียงดังๆ บอกรัฐบาล ว่า 'คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า' ร่วมกันสอดส่องดูแลหากมีสิ่งผิดกฎหมาย ช่วยกันแจ้งเบาะแส สายด่วน สคบ. 1166 และที่สำคัญผู้ปกครองและครูต้องรู้เท่าทันกลยุทธล่าเหยื่อ รู้จักพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมแรงร่วมใจทั้งชาติเพื่อปกป้องลูกหลานไทยจากมหันตภัยนี้” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
-009
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี