สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อสนับสนุนงานด้านลดอุปสงค์ยาเสพติด ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเวทีเป็นการนำเสนอผลงานของนักวิชาการหลายท่านที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก ป.ป.ส. ไปทำการศึกษาความเป็นไปในแวดวงยาเสพติดในหลากหลายมิติ อาทิ กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉายภาพ “ตลาดยาเสพติดบนโลกออนไลน์” สำรวจความเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2564-เดือนกุมภาพันธ์ 2567
ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงเพราะทั้งซื้อ-ขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใครก็ซื้อได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้ค้าอย่างในอดีตมีกระทั่ง “รีวิว” สอนวิธีการเสพ อธิบายว่าเสพแล้วรู้สึกอย่างไร แถมยังมีโปรโมชั่น เช่น ลดราคา ฟรีค่าจัดส่ง และยังมีการขายพ่วงระหว่างยาเสพติดชนิดใหม่ๆ กับยาเสพติดชนิดเดิมที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้ว รวมถึงสามารถชำระเงินผ่านระบบออนไลน์หลากหลายช่องทาง
เมื่อดูว่าโลกออนไลน์ขายยาเสพติดประเภทใดบ้าง ในช่วง 3 ปี (2564-2566) แม้ว่าส่วนใหญ่ (3 ใน 4 ของปี 2564 กับ 2565 และ 2 ใน 3 ของปี 2566) จะเป็นการขายยาเสพติด แต่พบการเพิ่มขึ้นของการขาย “ยารักษาโรคแบบผิดแผน”หมายถึงยารักษาโรคแต่ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกทาง (เช่นยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยากล่อมประสาท) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (จากร้อยละ 11.4 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 17.4 ในปี 2565 และร้อยละ 18.3 ในปี 2566) ทั้งนี้ X (หรือ Twitter เดิม) คือแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ที่นิยมใช้ซื้อ-ขายยาเสพติดมากที่สุดตลอด 3 ปี
แต่ที่น่าสนใจคือ ใน 2 เดือนแรกของปี 2567 เฟซบุ๊กกลับเป็นแพลตฟอร์มที่พบการซื้อ - ขายยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ปี 2564 - 2566 อยู่ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปีแต่ 2 เดือนแรกของปี 2567 มาอยู่ที่ร้อยละ 24.1) ซึ่งพบปัจจัยสำคัญมาจากการขายยารักษาโรคแบบผิดแผนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาย “ค็อกเทล” คือสารเสพติดประเภทผสม เช่น การนำยาอีไปผสมกับกาแฟ คอลลาเจน หรือแม้แต่ผงเกลือแร่ ซึ่งยากต่อการสืบสวนจับกุมของเจ้าหน้าที่ และการเฝ้าระวังของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิด เพราะหน้าตาบรรจุภัณฑ์ไม่ต่างกับสินค้าทั่วไป
“ดูจากข้อความที่เขาโพสต์ ในแต่ละปีจะมีประมาณ 7,000 8,000 หมื่นกว่าโพสต์ที่เราไปนั่งแกะนั่งอ่านดูคอนเทนต์ทั้งหลาย เราจะพบว่ายาเสพติดหลักก็ยังคงเป็นไอซ์ รองลงมาก็เป็นยาบ้า-ยาอี แต่สิ่งที่อยากให้ทุกท่านได้เห็นก็คือเฮโรอีน จากปี 2564 2565 2566 แล้วก็ 2 เดือนแรกของปีนี้ เฮโรอีนมา นอกจากเฮโรอีนแล้ว ปีนี้เคตามีน ขนาดแค่ 2 เดือน เคตามีนมาสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือตัวเห็ดเมา มันก็เป็นข้อโต้แย้งของเห็ดเมา แต่ทางทีมเราก็ยังเฝ้าระวังตัวนี้กันอยู่” กนิษฐา กล่าว
รศ.ดร.มานพ คณะโต ผู้อำนวยการเครือข่ายพัฒนาวิชาการและข้อมูลสารเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าถึง “การศึกษาระยะยาวติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดสารเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน” โดยให้เด็กและเยาวชนกรอกข้อมูลแบบสำรวจเข้ามาทางออนไลน์ มีการสุ่มสถาบันการศึกษาสังกัดต่างๆ ขึ้นมารวม 627 แห่งทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2566 ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถาม 8,616 ราย แบ่งเป็น ป.5 (อายุ 10-12 ปี)3,449 ราย ม.2 (อายุ 13-15 ปี) 3,388 ราย และ ม.5 กับ ปวช.ปี 2 (อายุ 16-18 ปี) 1,432 ราย และ 347 รายตามลำดับ
ข้อค้นพบที่น่าสนใจ 1.ข้อมูลผิดๆ ในอินเตอร์เนต กลบทับข้อมูลพิษภัยยาเสพติดที่เคยได้รับจากการเรียนการสอน จากที่สอนว่ายาเสพติดไม่ดีในชั้นเรียนตอนประถมพอขึ้นชั้นมัธยมเด็กมีแนวโน้มเชื่อข้อมูลจากอินเตอร์เนตมากกว่า 2.เด็กและเยาวชนยังคงไม่ค่อยยอมรับผู้ใช้ยาเสพติดแต่เมื่อแยกเป็นประเภท ผู้ใช้กัญชาได้รับความไว้วางใจมากที่สุด โดยในภาพรวม เยาวชนเพียงร้อยละ 18.3 เท่านั้นที่สามารถใช้ชีวิตหรือเรียนหนังสือใกล้ชิดกับเพื่อนที่เสพยาได้ แต่ในส่วนของกัญชา คาดว่าเนื่องจากข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ บวกกับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย
3.ความ “อยากรู้อยากลอง” ยังเป็นสาเหตุหลักที่เด็กและเยาวชนใช้ยาเสพติด รองลงมาคือมาจากความรุนแรงหรือมีการท้าทายกัน ส่วนอันดับ 3 เพื่อบรรเทาความเครียด อันดับ 4 อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยยาเสพติด และอันดับ 5 ปัญหาครอบครัว โดยเฉพาะหากมีคนในครอบครัวใช้ยาเสพติดอยู่ด้วย และ 4.ปัจจุบัน “บุหรี่ไฟฟ้า” เข้าถึงเด็กและเยาวชนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นยาเสพติดที่เด็กและเยาวชนใช้มากที่สุด รองลงมาคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำต้มใบกระท่อม บุหรี่มวนและกัญชา ตามลำดับ
“สิ่งหนึ่งที่ผมกำลังจะบอกคือมันไปไกลกว่าที่คิดเยอะ ผมไปในโรงเรียนประถมขยายโอกาสโรงเรียนหนึ่ง เราลงพื้นที่ไป 27 จังหวัด โรงเรียนชานเมือง เราไปคุยกับเด็กผู้หญิง 22 คน ใน 22 คน เด็กมีพ็อด (Pod-บุหรี่ไฟฟ้า) ของตัวเอง 21 คน เป็นของส่วนตัวเลยนะ อีกคนไม่มี มายืมเพื่อนเอา สรุปคือทั้ง 22 คนใช้ บ่อยไหม? ก็ทุกสัปดาห์ ช่วงแรกๆ เอามาโรงเรียนถูกครูยึด ตอนนี้ไม่เอามาแล้ว ก็รอโรงเรียนเลิกแล้วไปใช้ที่บ้าน ถามว่าแล้วซื้อมาจากไหน? อินเตอร์เนต! แล้วที่บ้านพ่อแม่ไม่ว่าหรือ? บอกว่าของเพื่อน แล้วถูก 200-300 เท่านั้นเอง” รศ.ดร.มานพ กล่าว
รศ.นพ.วิศาล วรสุวรรณรักษ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงการทำงานของเครือข่าย “แพทย์นิติเวช-นักนิติวิทยาศาสตร์” เพื่อใช้ศาสตร์ด้านนี้เฝ้าระวังการระบาดของยาเสพติด โดยขอบเขตการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด คือการชันสูตรศพของผู้ที่ตายอย่างผิดธรรมชาติ เช่น ฆ่าตัวตาย ถูกบุคคลอื่นทำร้ายถูกสัตว์ทำร้าย ตายด้วยอุบัติเหตุ และตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุซึ่งแต่ละปีจะมีศพที่เข้าข่ายข้างต้นมาให้แพทย์นิติเวช ผ่าชันสูตรราว 2 หมื่นศพ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย แต่มีทุกช่วงวัย
จากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2550-2566 ได้ข้อมูลการส่งตรวจสารเสพติด 177,859 ศพ ในจำนวนนี้ร้อยละ 10.47 หรือ 18,620 ศพ ที่พบสารเสพติดอย่างน้อย1 ชนิด ส่วนใหญ่คือยาบ้า (แอมเฟตามีน) รองลงมาคือยากล่อมประสาท อันดับ 3 กระท่อม (ซึ่งมีแนวโน้มพบมากขึ้น)อันดับ 4 โอปิออยด์ (ฝิ่น เฮโรอีน มอร์ฟีน) ตามด้วยยาอี ยาเค กัญชาและโคเคน ตามลำดับ
“วัยกลางคน (อายุ 40-49 ปี) เป็นช่วงวัยที่ตรวจพบสารเสพติดในร่างกายมากที่สุด” ซึ่งมุมหนึ่งเข้าใจว่ามีคนที่ใช้ยาเสพติด เช่น ยาบ้า กระท่อม เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายทำงานได้หนักๆ นานๆ “แต่ที่ต้องจับตาคือกลุ่มเยาวชนวัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี)” เพราะจากที่ก่อนหน้านั้นเคยลดลงไป แต่ในปี 2563 เป็นต้นมากลับค่อยๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงอีกกลุ่มคือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็พบสารเสพติดในร่างกายเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“เรื่องของอาชีพ ที่เราจะพบบ่อยคือกลุ่มคนที่อาชีพแบบค้าขาย เกษตรกร หรือว่าแรงงาน รับจ้างทั่วไป อะไรแบบนี้ หรือว่างงาน ที่จะพบบ่อยๆ แต่ถ้าสังเกต นักเรียน-นักศึกษา ขึ้นมาสูงกว่าเกษตรกรแล้วนะ ในปี 2566 ที่ผ่านมา ผมอยากจะเน้นย้ำตรงนี้เป็นพิเศษเลย เด็ก นักเรียน-นักศึกษา น่าเป็นห่วงมาก” รศ.นพ.วิศาล ระบุ
ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลระดับพื้นที่ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ใช้ยาและภาคประชาสังคม มีข้อค้นพบน่าสนใจหลายประการ อาทิ “กำลังเงินมีผลต่อการใช้ยาเสพติดของเด็กและเยาวชนดังนั้นหากยาเสพติดราคาถูกลงก็จะเข้าถึงได้มากขึ้น (โดยเฉพาะแอมเฟตามีน-ยาบ้า) “กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ+) นิยมใช้ยาเสพติดหลายชนิดผสมกัน” โดยมีตลาดบนอินเตอร์เนตเป็นปัจจัยสำคัญ
“ผู้หญิงพบการใช้สารเสพติดในพื้นที่ส่วนตัว (เช่น ห้องพัก)” ซึ่งผิดจากที่คิดไว้ก่อนหน้านั้น ที่เข้าใจว่าน่าจะไปใช้ที่สถานบันเทิง (โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ชายชวนไป) “แต่ละเพศ-วัย มีแรงจูงใจในการใช้ยาเสพติดที่ต่างกัน” เช่นเพศชาย มีทั้งที่ใช้เพื่อความบันเทิงและใช้เพื่อช่วยในการทำงาน ส่วนเพศหญิงมีทั้งเพื่อช่วยในการทำงานและที่เชื่อว่าให้ประโยชน์ด้านสุขภาพ (ทำให้รูปร่างผอมบาง) กลุ่มเด็กและเยาวชนมีทั้งเพื่อการเข้าสังคมและเพื่อลดความเครียดจากปัญหาครอบครัว สุดท้ายกลุ่มเพศทางเลือก มักใช้เพื่อเข้าสังคมหรือสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน
“ในเรื่องการขนส่ง-การขาย เราก็เจอทั้งกลุ่มผู้ชาย กลุ่มผู้หญิง ในเด็ก เด็กนี่จะถูกใช้ให้ขนส่งเพราะถ้าถูกจับความผิดอาจจะไม่มากเพราะมี พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเด็ก คอยดูแลเขา ฉะนั้นผู้ค้าก็ใช้เด็ก แล้วเดี๋ยวนี้เด็กก็รู้สึกดี เวลาเราสัมภาษณ์เขา เขาบอกรู้สึกดีเพราะเขาหารายได้เองได้ ในเด็กที่อยู่ในสภาพยากจน การมีรายได้เองก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเขา ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ ท้ายที่สุดเด็กก็จะมาติดเงินแล้วก็เข้าไปในเครือข่ายการค้ามากขึ้น” ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี