ข้อมูลที่เปิดเผยโดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ระบุมีงานวิจัยที่ติดตามคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี แล้วพบว่าทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ โรคถุงลมพอง เช่นเดียวกับสูบบุหรี่มวน และคนที่สูบทั้ง 2 ชนิด
ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรค โดยงานวิจัยนี้ได้ติดตามตัวอย่าง 10,326 ราย อายุ 20-55 ปี ที่ไม่มีประวัติโรคทางเดินหายใจมาก่อน เป็นเวลา 5 ปี (ปี 2558-2563) ในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน พบมีผู้ที่มีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ 1,071 ครั้ง
และตรวจพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมปอดพอง 146 ราย การวิเคราะห์พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่28% และพบเป็นโรคถุงลมปอดพอง มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 8% ขณะที่ผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนมีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ มากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 41% และพบเป็นโรคถุงลมปอดพองมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 18% โดยผู้วิจัยสรุปว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจและโรคถุงลมปอดพอง
ซึ่งมีงานวิจัยที่พบแล้วว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เซลล์ของปอดตาย ทำอันตรายต่อสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) และกดการทำงานของยีนที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของปอด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการผิดปกติของปอด และโรคถุงลมปอดพอง ผลกระทบสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้ภูมิต้านทานของปอดลดลง น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เกิดการอักเสบของปอดและติดเชื้อโรคชนิดต่างๆได้ง่าย แม้คนสูบจะมีอายุน้อยและสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาไม่นาน
โดยงานวิจัยดังกล่าวซึ่งมีชื่อเรื่องว่า Impact of electronic cigarette usage on the onset of respiratory symptoms and COPD among Chinese adults มีความสำคัญมาก ที่พบคนที่เป็นโรคถุงลมปอดพองในคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า อายุน้อย โดยเฉพาะในคนที่สูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะปกติคนที่สูบบุหรี่มวน จะเป็นโรคถุงลมปอดพองเมื่ออายุใกล้ 60 ปี ซึ่งหมายถึงว่าสูบมามากกว่า 25-30 ปี ขึ้นไป และสถิติพบว่า ประมาณ 1 ใน 8ของคนที่สูบบุหรี่มวนระยะยาว จะป่วยเป็นโรคถุงลมปอดพอง
“คนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองเนื้อปอดค่อยๆ ถูกทำลายโดยสารเคมีต่างๆ ในควันบุหรี่ ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ระยะท้ายๆ ของโรค แม้แต่การเดินหรือทำอะไรเพียงเล็กน้อยก็จะเหนื่อย และส่วนใหญ่จะได้รับความทรมานจากอาการเหนื่อยง่ายเป็นเวลาอาจถึง 10 ปีก่อนจะเสียชีวิต ขณะที่คนที่คิดจะเลิกสูบบุหรี่มวน ไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิก เพราะจะเลิกบุหรี่มวนไม่ได้ และส่วนใหญ่จบลงด้วยการสูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยิ่งมีอันตรายมากกว่าสูบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่พบในรายงานวิจัยล่าสุดจากจีนนี้” ศ.นพ. ประกิต ระบุ
สำหรับผู้สนใจงานวิจัย Impact of electronic cigarette usage on the onset of respiratory symptoms and COPD among Chinese adults สามารถอ่านได้ที่ https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/38454045/
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี