“เวลาผมให้สัมภาษณ์ ผมมักจะบอกว่า Overview (ภาพรวม) ของกฎหมายฉบับนี้มันเปลี่ยนไปเยอะมาก 20 ปีที่แล้วกับ 20 ปีนี้ต่างกัน แล้วผมพยายามจะแสดงทัศนคติว่าวันนี้การสมรส การใช้ชีวิต ไม่ได้มีแค่เพศชายหรือเพศหญิงอีกต่อไปในสังคม ยังมีความหลากหลายอื่นๆ ที่รัฐจริงๆ ไม่ใช่ให้การยอมรับอย่างเดียว ต้องให้การสนับสนุนและคุ้มครองพวกเขา”
อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....(สมรสเท่าเทียม) กล่าวในวงเสวนา “หลักนิติธรรมกับการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว” ว่าด้วยการผลักดันร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” รับรองสถานะการแต่งงานของคู่สมรสกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งปัจจุบันมีร่างกฎหมายทำนองเดียวกัน เข้ามาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 ฉบับ
และแม้ว่า กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะยึดร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหลัก แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางอย่างที่เป็นสาระสำคัญ เช่น การแต่งงานซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้คำนึงถึงอายุทำให้มีประเด็นเกี่ยวกับความเป็นเยาวชน แต่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะกำหนดให้ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการบรรจุร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27 มี.ค. 2567 ซึ่งคาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และเข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภาต่อไป
สำหรับวงเสวนานี้ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) พัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ร่วมกับ คณะผู้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับประชาชน และศูนย์วิชาการเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่18 มี.ค. 2567 ยังมีวิทยากรอีก 3 ท่าน ร่วมให้มุมมอง
อนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำ กมธ.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า หากเป็นกฎหมายที่มีอยู่เดิมและใช้วิธีปรับปรุงแก้ไขก็ไม่ยาก แต่หากเป็นกฎหมายใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็ไปกระทบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีอยู่เดิม จึงต้องตอบให้ได้ว่าใช้หลักอะไร ซึ่งจากที่ตนทำงานนี้มาปีเศษๆ ยอมรับกังวลในเรื่องหลักการว่าควรจะเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่ต้องไปนำเสนอกันในรัฐสภา
ทั้งนี้ มีตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น เยอรมนี แต่เดิมครูในโรงเรียนจะสอนนักเรียนว่ามีเพียงเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น กระทั่งมีการฟ้องร้องว่าการสอนแบบนี้เท่ากับกีดกันการรับรู้การมีอยู่ของเพศอื่นๆ และศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีได้วินิจฉัยว่าการสอนที่จำกัดว่าโลกมีเพียงเพศชายกับเพศหญิงนั้นขัดรัฐธรรมนูญ และต่อมายังมีคำวินิจฉัยเพิ่มเติมเรื่องรัฐไม่รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ สหรัฐอเมริกา มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ใช้หลักว่า มนุษย์เมื่อเกิดความรักก็ต้องการก่อร่างสร้างครอบครัว ซึ่งสิทธิในการก่อร่างสร้างครอบครัวเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับตามข้อตกลงระหว่างประเทศ อีกทั้งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น ทำให้ประมาณ 38-39 มลรัฐในสหรัฐฯ ออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ส่วนประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า ป.แพ่งฯ ที่ใช้อยู่ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า ด้านหนึ่งเน้นถึงหลักคิดเรื่องการก่อร่างสร้างครอบครัวเป็นไปเพื่อมีทายาทหรือดำรงเผ่าพันธุ์ ซึ่งคล้ายกับหลักคิดของศาลสหรัฐฯ แต่อีกด้านก็แนะนำให้ตรากฎหมายรับรองสิทธิต่างๆ ของคู่สมรสที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็ต้องมาผลักดันกันที่รัฐสภา เป็นที่มาของแนวทางการแก้ไข ป.แพ่งฯ ที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้
“ผมไม่ห่วงนะในวุฒิสภา แต่เราต้องคิดไปอีกช็อตหนึ่ง ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะมีผู้ฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อเช่นนั้น ฉะนั้นการที่จะพูดหรืออภิปรายในวุฒิสภา เราจะต้องพูดให้สิ้นกระแส ผมเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรบางท่านก็คงจะพูดไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้จะถูกกลับไปวินิจฉัยว่าการที่มี พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ผมเป็นกังวล” อนุพร กล่าว
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คลินิกเพศหลากหลายโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงข้อกังวลกรณีหากมีการสร้างครอบครัวแล้วเด็กต้องอยู่กับผู้ปกครองที่เป็นคู่รักกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่า มีงานวิจัยของต่างประเทศ เปรียบเทียบ “ความเป็นแม่”ระหว่างครอบครัวคู่รักชาย-หญิง กับคู่รักหญิง-หญิง (เลสเบี้ยน) ในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งไม่พบความแตกต่างกันในเรื่องความรู้สึกรักและผูกพันกับเด็ก
ในทางกลับกัน การศึกษาวัยรุ่นที่เติบโตมาในครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ไม่พบความแตกต่างกับวัยรุ่นที่เติบโตมาในครอบครัวคู่รักชาย-หญิง เช่น การนับถือตนเอง ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา และเมื่อเทียบระหว่างการถูกเลี้ยงดูโดยคู่รักชาย-หญิง กับถูกเลี้ยงดูโดยคู่รักกลุ่มหลากหลายทางเพศ เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวอย่างหลังก็ไม่ได้มีแนวโน้มกลายเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าแต่อย่างใด
“American Academy of Child and Adolescent Psychiatry คือสมาคมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของอเมริกา มีข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องของพ่อแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาบอกว่าหลายคนอาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชนและวัยรุ่น ว่าการที่เติบโตมาในครอบครัวที่แตกต่างจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ใน Statement (คำแถลง) ก็พูดชัดแจนว่า เด็กที่เติบโตมากับครอบครัวที่พ่อแม่เป็นเกย์ (ชายรักชาย) เลสเบี้ยน (หญิงรักหญิง) หรือทรานส์ (คนข้ามเพศ-แปลงเพศ) ก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างไปจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็น Hetrosexual (คู่รักชาย-หญิง) หรือพ่อแม่ทั่วๆ ไป” ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว
นาดา ไชยจิตต์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงสิ่งที่รัฐต้องทำในทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรม 1.ปกป้อง กฎหมายใดที่ไม่นำไปสู่ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายต้องถูกปรับปรุงแก้ไข 2.เคารพ กฎหมายที่ออกมาจะต้องไม่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะอิงกับหลักการตัดสินใจด้วยตนเอง (Self Determination) และ 3.เติมเต็ม ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางไม่ทำให้รู้สึกถูกกดทับ อย่างในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เลือกที่จะใช้คำว่า“บุพการี” แทนคำว่าบิดา-มารดา
“บุพการีคือมีความเป็นผู้ปกครองที่มีความผูกพันไม่ว่าทางสายเลือดก็ดี หรือด้วยการรับบุตรบุญธรรมก็ดี ตรงนี้มันจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการเติมเต็ม” อาจารย์นาดา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี