ไปรู้จักโอสถลวงจิต‘เห็ดขี้ควาย’ยาเสพติดพิษหลอนประสาท แต่สรรพคุณทางยาไม่แพ้พืชสายเคลิ้ม เคยมีแนวคิดศึกษาวิจัย หวังใช้รักษา‘โรคซึมเศร้า’
ถือเป็นอีกหนึ่งคดีที่น่าทึ่งไม่น้อย เมื่อกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เปิดเผยเรื่องราวการจับกุม “เตชิต” หนุ่มสถาปัตย์วัย 24 ปี ซึ่งลักลอบทำฟาร์ม “เห็ดขี้ควาย” ในหอพักแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง กรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อตำรวจเข้าตรวจค้นก็ถึงกับผงะ ด้วยจำนวนของกลางที่ “จำแนกสายพันธุ์” อย่างหลากหลาย พร้อมอุปกรณ์เพาะปลูก เก็บและบรรจุผลผลิตสำหรับจำหน่าย โดยผู้ต้องหาให้การว่า “ศึกษาข้อมูลจากโลกออนไลน์” ทั้งการปลูกและการนำไปใช้ แล้วเห็นช่องทางสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ สรุปผลกำไรก่อนถูกจับทะลุหลักแสนบาท
ที่น่าสนใจก็คือ การศึกษาเองของผู้ต้องหารายนี้ สามารถจำแนกแยกแยะสายพันธุ์ของ"เห็ดขี้ควาย"ออกมาได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ อาทิ 1). เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ GT 2). เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ AA 3). เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ APE 4). เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ PEG 5). เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ CKB 6).เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ TAT 7). เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ AA 8). เห็ดขี้ควายสายพันธุ์ BT เป็นต้น
อันที่จริงแล้ว “เห็ดเมาหรือเห็ดขี้ควาย” ไม่ใช่ของใหม่สำหรับสังคมไทย ชื่อเสียงสรรพคุณตีคู่มากับ"พืชกระท่อม"และ"พืชกัญชา" จัดอยู่ในสายพืชสายเคลิ้มซึ่งใช้กันมาเนิ่นนานแต่โบราณ ที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านนำมาเป็นยารักษาโรค โดยเฉพาะในภาคอีสานมีการใช้เห็ดขี้ควายในตำรับยาต่างๆ มากกว่า 20 ตำรับ แต่ก็ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ
โดยฐานข้อมูลของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า เห็ดขี้ควาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis ลักษณะของหมวกเห็ดเมื่อบานใหม่ๆ รูปคล้ายร่ม เมื่อบานเต็มที่จะโค้งขึ้น ตรงกลางเว้าตื้น ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกสีน้ำตาล อมเหลือง ครีบสีน้ำตาลดำ ใต้หมวกมีแอนนูลัสสีขาวนวลแผ่เป็นแผ่นบางห้อยติดกับก้าน
สำหรับสารพิษของเห็ดขี้ควายจะอยู่บริเวณดอกเห็ด โดยสารทำให้เกิดอาการ"มึนเมา"หรือ"ประสาทหลอน" คือ psilocybin ซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกายจะเปลี่ยนเป็น psilocin ซึ่งมีสูตรโครงสร้างคล้าย serotonin จึงไปรบกวนการทำงานของ serotonin ขนาดของสาร psilocybin ที่ทำให้เกิดอาการพิษ คือ 3.5-12 มิลลิกรัม หรือรับประทานเห็ดแห้ง 1-4 กรัม ซึ่งจะเทียบเท่ากับเห็ด 15-20 ดอก โดยภายใน 10-30 นาที หลังจากรับประทานเห็ดเข้าไป จะมีอาการกระวนกระวาย เครียด มึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และมักจะหาว กล้ามเนื้อกระตุก สั่น หนาวๆ ร้อนๆ แขนขาเคลื่อนไหวไม่ได้ ริมฝีปากชา คลื่นไส้ โดยทั่วไปไม่อาเจียน
ภายใน 30-60 นาที จะมีอาการผิดปกติของตา เช่น เห็นเป็นสีต่าง ๆ ขณะที่ปิดตา ระบบการรับรู้เรื่องเวลาผิดไป มีอาการเคลิ้มฝัน เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้า มีความรู้สึกเหมือนฝัน และเปลี่ยนบุคลิก ไม่มีสมาธิ และไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้ถูกต้อง เหงื่อแตก หาว น้ำตาไหล หน้าแดง ม่านตาขยาย หัวใจเต้นแรง ใน 1-2 ชั่วโมง
ความผิดปกติของตาจะเพิ่มมากขึ้น มีอาการฝันต่าง ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปใน 2-4 ชั่วโมง แต่บางรายอาการอาจจะนานถึง 6-8 ชั่วโมง อาการจะหายไปเองโดยไม่มีอาการค้าง นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหัวหรืออ่อนเพลีย มีน้อยมากที่พบอาการซิโซฟรีเนีย ในเด็กอาการที่พบมีม่านตาขยาย ไข้สูง โคม่า และมีอาการชัก
มีการประมาณการว่า กินขนาดที่ทำให้เกิดพิษได้ คือ กินหรือเสพมากกว่า 15 ดอก หรือกินเห็ดแห้งเข้าไป 1-4 กรัม อาจแรงถึงทำให้มีอารมณ์ก้าวร้าวและฆ่าตัวตายได้
ขณะที่ข้อมูลของกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า เห็ดขี้ควาย เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Psilocybe mushroom , Magic mushroom , เห็ดโอสถลวงจิต ลักษณะหมวกเห็ดเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน ก้านเห็ด ยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย สปอร์เป็นรูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็กๆ สามารถพบเห็ดขี้ควายได้ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย โดยเห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง
มีการนำเห็ดขี้ควายไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือค็อกเทลสำหรับใช้เสพในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปจะไม่นำเห็ดชนิดนี้มารับประทานเพราะรู้ว่าเป็นเห็ดพิษ บริโภคแล้วเกิดอาการมึนเมา โดยเมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD และคนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับประเทศไทย เห็ดขี้ควายถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5” ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ขณะที่ผู้เสพต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่อีกด้านหนึ่ง “ที่ผ่านมาเคยมีแนวคิดให้ทำการศึกษาว่าเห็ดขี้ควายสามารถใช้เป็นยาได้หรือไม่?” โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเขียนบทความ “เห็ดขี้ควาย เห็ดวิเศษ พืชสายเคลิ้ม...กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางการแพทย์” เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก โดยตอนหนึ่งของบทความ ได้อ้างถึงรายงานจากคณะผู้วิจัยจากศูนย์ วิจัยภาวะหลอน ไซคีเดลิค และสติจิตสำนึก (Johns Hopkins Center for Psychedelic and Consciousness Research) ของจอห์นส์ ฮอปกินส์ ในวารสารทางสมาคมแพทย์ อเมริกัน ทางจิตเวช (JAMA psychiatry) วันที่ 4 พฤศจิกายน 2020 (2563)
พบประโยชน์ของเห็ดวิเศษในการรักษาโรคหดหู่ ซึมเศร้า (major depressive disorder-MDD/clinical depression) ทั้งนี้ MDD จะทำให้การดำเนินชีวิตแปรปรวน จากการที่มีอารมณ์เศร้าหมอง หดหู่และหมดความกระตือรือร้น รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า ไม่อยากทำอะไร หมดพลัง อยากจะเอาแต่นอน ปรวนแปรในด้านความอยากอาหาร จนผอมหรืออ้วนผิดปกติ อาการเหล่านี้อาจมีรุนแรงมากขึ้นจน กระทั่งคิดไม่อยากอยู่ ทำร้ายตัวเอง
“คณะผู้วิจัยได้เคยรายงานมาก่อนในปี 2016 (2559) ถึงการใช้เห็ดวิเศษในการบรรเทาอาการหดหู่และวิตกกังวลในคนป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในขั้นรุนแรง ผลการศึกษาวิจัยใหม่นี้ ได้ผลในการขยายขอบเขตของโรค และครอบคลุมอาการที่กว้างขวางกว่ามาก ทั้งนี้ ผลดีที่ได้รับนั้น พบว่าได้ประโยชน์มากกว่ายาซึมเศร้าหดหู่ที่ใช้กันในท้องตลาดขณะนี้ประมาณสี่เท่า โดยเฉพาะยาปัจจุบันที่ใช้อยู่ขณะนี้กว่าที่จะเริ่มได้ผล ต้องรอหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนด้วยซ้ำและนอกจากนั้นยังมีผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนที่ไม่ต้องการ ทั้งนี้เป็นการให้ความเห็นจากผู้วิจัยและคณะเอง” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวในบทความ
จากนั้นในวันที่ 15 ส.ค. 2565 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ในขณะนั้น) ได้ออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดทำ พ.ร.ฎ.กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกเห็ดขี้ควาย ตามโครงการศึกษาและวิจัยทดลองเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยในเบื้องต้นมีทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ร่วมมือทำการวิจัยศึกษาและทดลองการสกัดสารจากเห็ดขี้ควาย และ ป.ป.ส. จะขยายขอบเขตการวิจัยไปยังมหาวิทยา ลัยต่างๆให้ครบทั้ง 4 ภาค เพื่อศึกษารายละเอียดต่างๆอย่างถี่ถ้วน แต่ก็ย้ำด้วยว่า เห็ดขี้ควายยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย และหากใช้มากเกินไปก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
“ในต่างประเทศมีการวิจัยเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เห็ดขี้ควายในบ้านเรามีขึ้นอยู่จำนวนมากในทุกภาคของไทย นี่คือโอกาสที่เราจะสามารถวิจัยเพื่อผลิตยารักษาโรคผู้ป่วยทางจิตเวชได้ หากประสบผลสำเร็จอาจเป็นการสร้างอาชีพใหม่อีกอาชีพหนึ่ง เพราะจากรายงานของ ป.ป.ส. พบว่า มีการซื้อขายกันในราคาประมาณ 500 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับเห็ดสด และ 5,000 บาทสำหรับเห็ดแห้ง และมีวัยรุ่นหลายกลุ่มนำมาเสพ” สมศักดิ์ ระบุ
วันที่ 8 ส.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติ (ร่าง) พ.ร.ฎ.กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย
นอกจากนั้น ในวันที่ 12 ก.ย. 2566 ซึ่งเข้าสู่การบริหารของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มีรายงานจาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ว่าได้เข้าร่วมกับ ป.ป.ส. เป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษาวิจัยด้วย แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ได้ผ่านออกมาบังคับใช้หรือไม่ และปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม
แต่ที่แน่ๆ ในปัจจุบันสารไซโลไซบินและไซโลซินจากเห็ดขี้ควาย ถูกนักวิจัยต่างชาติจดสิทธิบัตรไว้ในประเทศของเขาแล้ว โดยมีข้อมูลว่าในอเมริกามีการจดสิทธิบัตรขั้นตอนการสกัดสารที่ได้จากเห็ดขี้ควายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 หรือ พ.ศ.2501 (เลขสิทธิบัตร US3183172A) ต่อมาในปี ค.ศ.1981 หรือ พ.ศ.2524 มีการจดสิทธิบัตรในการพัฒนาสารสเคอร์โรเตีย (sclerotia) ซึ่งได้จากสารไซโรไซ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนายาจากสารสกัดจากเห็ดขี้ควายเพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อให้คลายเครียด ลดความซึมเศร้าอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี