“...ชีวิตต้องดิ้นรน เหมือนท้องฟ้าแ_งเล่นกล หากกูมีเวทย์มนตร์กูก็อยากหลุดพ้นจากวังวน วัฏจักรคนจนมากับภาระอันหนักอึ้ง ต้องเป็นปฏิปักษ์กับตัวตน จนต้องทุกข์ทนกันหนักขึ้น แล้วใครจะรู้กูอยากร้องไห้ กูเจ็บเจียนตาย แต่ว่ามันไม่ง่าย ที่ต้องทำเหมือนว่ากูไม่เคยพ่าย ชีวิตนี้นั้นมันไม่ง่าย หากว่าชาติหน้ามีจริงกูไม่อยากขายยาหรือทำตัวมักง่าย หากว่าชาติหน้ามีจริง ขอให้กูมีเพื่อนที่เข้าใจกูได้..”
ส่วนหนึ่งจากท่อนแร็พสุดสะเทือนอารมณ์โดยศิลปิน “D Gerrard” ที่ไปร่วมแจมในเพลง “ร้องไปกับฟ้า” เพลงประกอบภาพยนตร์ 4Kings ภาค 2 ที่สร้างกระแสฮือฮาไปเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งในภาคนี้ไม่ได้เล่าแต่เรื่องการตีกันของเด็กช่าง - นักศึกษาอาชีวะเท่านั้น แต่ยังพาไปสำรวจชีวิตของ “กลุ่มคนชายขอบ” อย่างผู้ที่อาศัยใน “ชุมชนแออัด” ซึ่งมักเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง รวมถึง “ยาเสพติด” ไม่ว่าเสพหรือค้า
เมื่อกล่าวถึงยาเสพติด ใครก็รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดีไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เชื่อหรือไม่ว่าในสังคมที่มีคนอยู่หลากหลายชนชั้นฐานะ “กลุ่มคนจนที่สุดในสังคม” ประเภท “หาเช้ากินค่ำ” ให้มีรายได้หมุนพออยู่ไปวันๆ หนึ่ง กลายเป็นแรงกดดันให้ส่วนหนึ่ง“เลือกใช้ยาเสพติดเพื่อให้มีกำลังทำงานได้หนักและนานขึ้น”ดังเรื่องเล่าจาก ศยามล เจริญรัตน์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อสนับสนุนงานด้านลดอุปสงค์ยาเสพติด ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา
งานดังกล่าวซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศยามล เล่าถึงการทำงานของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับกลุ่ม “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีถึง 20 ล้านคน หนึ่งในนั้นคือการศึกษาพฤติกรรมการใช้สารเสพติดด้วย โดยเลือกพื้นที่กรุงเทพฯ สำหรับเก็บข้อมูล และเลือกกลุ่มอาชีพ 5 กลุ่มคิดว่าเสี่ยงที่สุดมาทำการศึกษา ประกอบด้วย กลุ่มก่อสร้าง, กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง - ขนส่ง, กลุ่มรถแท็กซี่ - รถตู้, กลุ่มไรเดอร์รับงานส่งอาหาร และกลุ่มรับจ้าง - งานบริการ
ทั้งนี้ ไม่ว่างานของสถาบันวิจัยสังคมฯ หรืองานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ผลสรุปตรงกัน 1.แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือประมาณ 20 ล้านคน 2.แรงงานนอกระบบเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง คิดเป็นสัดส่วนราว 11 ล้านคน ต่อ 9 ล้านคน
3.ครัวเรือนแรงงานนอกระบบมักมี “ผู้พึ่งพิง” ให้คนทำงานต้องดูแลด้วย คือ นอกจากทำงานเลี้ยงตนเองแล้วยังต้องเลี้ยงบุคคลที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ในครัวเรือนอีก
4.แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่การศึกษาไม่สูง เฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกินระดับประถมศึกษา ทำให้ “เข้าไม่ถึงงานในกลุ่มแรงงานในระบบ” ซึ่งมีความสำคัญ เพราะ “การเป็นแรงงานในระบบ หมายถึงเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33” ซึ่ง 3 ฝ่าย คือนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐจะร่วมกันส่งเงินสมทบ โดยได้สิทธิประโยชน์ 7 อย่าง คือ เจ็บป่วย คลอดบุตรทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ สงเคราะห์บุตรและว่างงาน ขณะที่“มาตรา 39 – มาตรา 40” พบว่า “แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ส่งเงินสมทบต่อเนื่องไม่ไหว” ท้ายที่สุดก็มักจะหลุดออกไปจากการเป็นผู้ประกันตน
5.แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรคิดเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แต่งานที่สถาบันวิจัยสังคมฯ เลือกทำการศึกษา ใน 5 กลุ่มข้างต้น เป็นงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ 6.แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีสภาพการทำงานและการจ้างงานที่ไม่ดีนัก นิยามคือ“รายได้น้อย” ไม่ถึงระดับที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้ และ “ไม่มั่นคง”ซึ่งอย่างหลังนี้เห็นได้ชัดเจนในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เช่น การสำรวจในปี 2563 พบกลุ่มนวด - สปา รายได้ลดลงถึงร้อยละ 90 หรือกลุ่มแท็กซี่ - มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รายได้ลดลงร้อยละ 60-90 เป็นต้น
“เรามองสมมุติฐานง่ายๆ แบบนี้ ถ้ารายได้ที่มันไม่เพียงพอไม่มีเงินออม ไม่มั่นคง ไม่สม่ำเสมอ มันนำไปสู่ภาวะเครียดและนำไปสู่การใช้ยาจริงไหม? อันที่สองคือภาวะการทำงานของเขาอย่างที่บอกว่าแรงงานนอกระบบมีภาวะการทำงานที่อาจไม่เหมือนในระบบนัก ฉะนั้นก็คืองานที่เขาใช้ คิดถึงสภาพนะ กรรมกร แรงงานก่อสร้าง แม่ค้ารถเข็นหาบเร่แผงลอย กลุ่มพวกนี้ทำงานหนัก ชั่วโมงทำงานยาวนานและไม่เป็นเวลา
เคยไปคุยกับกลุ่มที่เป็นหาบเร่แผงลอย - ร้านอาหาร ถามเขาว่าทำงานกี่ชั่วโมง เขาบอกทำงานน้อย แค่ห้าโมงเย็นถึงห้าทุ่ม นั่นคือเวลาขาย แต่จริงๆ เขาเตรียมของตั้งแต่แปดโมงเช้าไปตลาด เก็บของเตรียมของ หั่นของ เตรียมโน่นนี่นั่นกว่าจะขยับมาในช่วงหกโมงเย็น เขาขายถึงห้าทุ่ม เก็บของต่อไปถึงเที่ยงคืน ถึงบ้านตีหนึ่ง เขาทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงตีหนึ่ง นี่คือเวลาทำงานของเขาที่เรียกว่ายาวนานมากๆ ซึ่งไม่เหมือนเรา ของเราเข้าแปดโมงเช้าออกสี่หรือห้าโมงเย็น” ศยามล กล่าว
ศยามล กล่าวต่อไปว่า จากกลุ่มตัวอย่างที่รวบรวมมาได้ 5 กลุ่ม รวม 400 คน ซึ่งด้วยความยากของการเก็บข้อมูล ทำให้ไม่สามารถหาได้กลุ่มละ 80 คนพอดีเท่ากันได้ ทำให้มีความเหลื่อมระหว่างกลุ่มอยู่บ้าง คุณสมบัติของกลุ่มตัวอย่าง เช่น ร้อยละ 79 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นประชากรแฝง หมายถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ร้อยละ 57.3 อยู่กับครอบครัว เรียนจบเพียงชั้นประถมมากที่สุด ร้อยละ 37.2 รองลงมาที่ใกล้เคียงกันคือมัธยมต้น ร้อยละ 33.3 และมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่จบ ป.ตรี หรือสูงกว่า
รายได้กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54 วันละ 301-500 บาท รองลงมา ร้อยละ 25.5 วันละ 501-1,000 บาท นอกจากนั้นยังมีอีกร้อยละ 18 น้อยกว่าวันละ 300 บาท มีเพียงร้อยละ 2.5 ที่มีรายได้มากกว่าวันละ 1,000 บาท ซึ่ง “รายได้เฉลี่ย 500 บาทต่อวัน กับค่าใช้จ่ายของการอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ลำบาก” นี่ยังไม่ต้องนับการต้องดูแลครอบครัวที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ เช่น ลูก พ่อแม่ หรือญาติที่เจ็บป่วยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46 มีรายจ่ายจากภาระหนี้สิน รองลงมา ร้อยละ 38.8 เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
“ประเภทของสารเสพติดที่ใช้” แบ่งเป็น “ที่ถูกกฎหมาย” เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ เครื่องดื่มชูกำลัง กระท่อม กัญชา สารเสพติดประเภทนี้พบกลุ่มตัวอย่างทุกกลุ่มยอมรับว่าเคยใช้ กับ “ที่ผิดกฎหมาย” จะเป็นยาบ้า (แอมเฟตามีน) ที่กลุ่มตัวอย่างยอมรับมากที่สุดว่าเคยใช้ “กลุ่มแท็กซี่ รถตู้ และไรเดอร์พบการใช้สารเสพติดหลากหลายประเภทมากที่สุด” จึงเป็นกลุ่มที่น่าทำการศึกษาเชิงลึกต่อไปเพื่อหาแนวทางการดูแลที่เหมาะสม
“บทสรุปของการศึกษาครั้งนี้” ไล่ตั้งแต่ 1.มาตรการด้านยาเสพติดไม่ว่าของไทยหรือต่างประเทศไม่เคยแยกระหว่างแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ ทั้งที่แรงงาน 2 กลุ่มนี้มีลักษณะแตกต่างกัน มาตรการดูแลจึงอาจต้องมีความเฉพาะมากขึ้น 2.ปัจจัยด้านสังคมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สารเสพติดในกลุ่มแรงงานแตกต่างจากกลุ่มเด็กและเยาวชน กล่าวคือ หากเป็นเด็กและเยาวชน สารเสพติดชนิดแรกๆ ที่เริ่มใช้คือเหล้า - บุหรี่ หรือกัญชา - กระท่อม ก่อนจะขยับไปเป็นชนิดอื่นๆ ในขณะที่วัยทำงาน พบผู้ที่เริ่มใช้ยาเสพติดชนิดแรกคือยาบ้า
“สถานที่ทำงานมีผลอีกอันหนึ่งสำหรับกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มอายุสูงขึ้นมากแล้ว คนในที่ทำงานใช้ ทำงานได้ดี เขาก็ใช้เพิ่มเหมือนกัน เหมือนกับเขารู้สึกว่าเพื่อนทำงานแล้วได้ประสิทธิภาพ เกิดจากอะไร? เพื่อนบอกว่ายาบ้าไง! ขับรถบรรทุกส่งของจากเชียงใหม่ลงกรุงเทพฯ มันเกิดจากอย่างนี้ เชียงใหม่ลงกรุงเทพฯ ถ้าไม่ใช่กลางคืนห้ามเข้า แปลว่าอะไร? ลักษณะการทำงานของเขาคือต้องขับกลางคืน หรือขับกรุงเทพฯ ส่งปลาสดขึ้นเชียงใหม่ บุฟเฟ่ต์หมูกระทะทะเล ถ้าไม่สดมีปัญหา เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องขับทั้งคืนขึ้นไปส่ง ฉะนั้นขับได้แปลว่าใช้ยาบ้า แปลว่ากินน้ำกระท่อม เมื่อเพื่อนทำได้ อยากให้ได้งานแบบเพื่อนฉันก็ใช้ยาด้วย นี่คือสิ่งที่เราสัมภาษณ์และเจอมา” ศยามล ระบุ
3.มาตรการชุมชนดูแลไม่ตอบโจทย์แรงงานนอกระบบในเมือง เพราะคนเหล่านี้เป็นแรงงานอพยพเข้ามาแล้วไม่ได้มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน แนวคิดเรื่องช่วยพยุงกันไปให้เลิกยาเสพติดจึงใช้ไม่ค่อยได้ผล แต่ก็มีบางกรณีที่พบว่าใช้ได้ผล เช่น บางคนเลิกใช้ยาเสพติดเพราะไม่อยากให้คนที่รัก (พ่อแม่ ลูก-เมีย) เดือดร้อนหากตนเองถูกจับ หรืออยู่ในชุมชนที่เครือญาติเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว แม้จะมีสมาชิกเข้ามาอยู่ใหม่ก็ยังถือว่าอยู่ในวงศ์วานว่านเครือเดียวกัน
และ 4.รายได้น้อย และอาชีพไม่มั่นคง เป็นแรงกดดันที่ทำให้ห่างไกลยาเสพติดได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติดที่ถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม เข้าทำนอง “หาทางออกจากปัญหาไม่ได้อย่างน้อยขอให้หลุดพ้นแม้ชั่วขณะก็ยังดี” เช่น เมื่อเจอความเครียดก็ไปลงกับการดื่มเหล้าหรือเสพยาบ้า พรุ่งนี้เป็นอย่างไรค่อยว่ากันแต่คืนนี้ขอมีความสุขเฉพาะหน้าก่อน ซึ่งข้อนี้เกินกำลังของ ป.ป.ส.แต่ต้องอาศัยบทบาทของหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมแก้ไขด้วย
“เราเจอกรณีที่เป็นผู้ค้า เขาบอกว่าผมจบ ป.6 อาจารย์คิดว่าผมจะมีรายได้เท่าไรเพื่อเลี้ยงลูก 2 คน เมีย 1 คน และแม่ 1 คนที่กำลังพิการ อึ้ง! มันทำได้ยาก! แต่ถ้าเกิดระบบสวัสดิการดูแลรองรับลูก 2 คนของเขา ดูแลรองรับแม่ที่พิการได้แล้ว มันก็มีความจำเป็นน้อยลงที่เขาจะต้องจำเป็นน้อยลงใช้เงินน้อยลง และไม่จำเป็นจะต้องไปค้ายา” ศยามล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี