ไฟแห่งปัญญา บนเส้นทางแห่งคุณธรรม : วุฒิพงษ์ ปาลกะวงศ์ บัณฑิตกฎหมายหนุ่มจาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ DPU
เพราะมากกว่าความเป็นเลิศทางวิชาการ คือการที่ดวงดาวบนท้องฟ้าแห่งสังคมผ่านพ้น ‘ความมืดมิด’ กับปัญหาที่เกิดขึ้น “วุฒิพงษ์ ปาลกะวงศ์” บัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จึงไม่อาจจะหยุดนิ่งพัฒนาใฝ่หาความรู้ เพื่อมุ่งมั่นสร้างความเป็นธรรมและยืนหยัดเคียงข้างประชาชน
แม้ต้นทุนทางชีวิตมีจำกัดและเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่ก็หล่อหลอมให้เขาเป็นเพชรน้ำงามที่มุ่งมั่น ทุ่มเท และรับผิดชอบต่อหน้าที่โดยที่ไม่ลืมประโยชน์สังคมส่วนรวม ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 5 เมษายน 2567 “วุฒิพงษ์ ปาลกะวงศ์” นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จึงเป็นหนึ่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกเป็นนักศึกษากฎหมายดีเด่น “รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศอันทรงเกียรติของวงการ “นักกฎหมาย” ผู้ประกอบคุณงามความดีเพื่อประเทศชาติและประชาชนในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาวิชานิติศาสตร์และวิชาชีพนักกฎหมาย
“โอกาสทุกโอกาสที่เข้ามาในชีวิตคือบทพิสูจน์ จงรับและทำออกมาให้เต็มที่ และวางตนอยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพเพื่อใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรมสูงสุดกับสังคม” วุฒิพงษ์ กล่าวเริ่มต้นบนใบหน้าฉายแววแห่งความปลาบปลื้มและเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น สะท้อนถึงอุดมการณ์อันแรงกล้า...
‘ก้าวใหญ่’ เพื่อให้ก้าวเล็กๆ ได้เดินต่อ
วุฒิพงษ์ ปาลกะวงศ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2543 ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจจึงย้ายไปอยู่กับยายที่จังหวัดนครพนม ก่อนจะกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้งในช่วงอายุ 16 ปี โดยสลับไปอยู่ 2 ฝั่งทั้งพ่อและแม่ และซึ่งการดำเนินชีวิตดังกล่าวนี้เองจึงทำให้เขาเรียนรู้ที่จะยืนหยัดด้วยตัวเอง และมองโลกอย่างเป็นกลางเหมือนตาชั่งยุติธรรมแบบไม่รู้ตัว เช่นเดียววิชา ‘นิติศาสตร์’ ที่ก็ไม่รู้มาก่อนอีกเหมือนกันว่าชอบ จนกระทั่งอาจารย์ให้เป็นตัวแทนแข่งขันตอบปัญหาวิชากฎหมาย
“ผมเรียนสายวิทย์ฯ แต่เพื่อนที่เรียนสายสังคมมีแค่ 20 คน ด้วยความที่ผมชอบสังคม อาจารย์เลยจับผมไปแข่งตอบคำถามกฎหมาย ตอนแรกผมไม่มีความรู้กฎหมายเลย อาจารย์ให้หนังสือมาให้อ่าน พออ่านไปเรื่อยๆ กลับเข้าใจ เพราะจินตนาการถึงสถานการณ์ที่กฎหมายแต่ละมาตราจะนำไปใช้ ทีนี้มันก็เพลิน นี่แหละ...อาจจะใช่ทางของเรา ซึ่งหามานานว่าจะเรียนอะไรดี ในระดับปริญญาตรี”
การแข่งครั้งนั้นไม่เพียงจุดประกายความสนใจในกฎหมายของ “วุฒิพงษ์” เริ่มศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม อดทนและทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังอาสาเป็นตัวแทนในการแข่งแทบทุกรายการที่หน่วยงานกระทรวงยุติธรรมหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดขึ้น
“ผมฝันว่าอยากเป็นอาจารย์ เพราะชอบสอน อยากที่จะให้ความรู้ แล้วการเป็นครูกฎหมาย ก็จะช่วยป้องกันคนรุ่นใหม่ให้เคารพกฎหมายก่อนที่จะพลาดกระทำความผิด และครูมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อเด็กๆ ครูเป็นเหมือนโลกทั้งใบของเขา และถ้าผมปลูกฝังให้ลูกศิษย์คนหนึ่งเติบโตเป็นคนดีได้ พอเขามีครอบครัว มีลูกเขาก็จะสอนลูกต่อ มันก็จะต่อเป็นทอดๆ สังคมก็จะคุณภาพดีขึ้น”
ได้โอกาส=ตอบแทนโอกาส
ความท้าทายของเขาไม่เพียงต้องต่อสู้กับการที่ค้นพบตัวเองที่ช้าเท่านั้น ในช่วงที่ตั้งหน้าเอาดีทางด้านกฎหมาย ครอบครัวของวุฒิพงษ์ก็เผชิญปัญหาทางการเงิน และหนักถึงขั้นที่เขาบอกว่าเกือบจะต้องละทิ้งความฝัน แต่โอกาสก็มาถึงเมื่อเขาได้รับทุนการศึกษาเรียนฟรี 100% จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ภายใต้ทุน ‘อาจารย์ ไสว-สนั่น’
“ทุกวันนี้ก็รู้สึกว่าเลือกที่จะเรียนไม่ผิด ที่นี้ทำให้ผมพบความสุขทุกวันนี้ คือการช่วยสังคมให้ดีขึ้นเพราะผมเคยได้รับ” นักกฎหมายหนุ่มเผย เพราะไม่เพียงได้อยู่ใกล้ครอบครัว แต่ยังเป็นเรื่องทุนการศึกษาเต็มจำนวน อีกทั้ง ‘คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์’ ยังเต็มไปด้วยอาจารย์ผู้สอนที่มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จริงในภาคปฏิบัติที่รู้ลึกและใช้ได้จริง ซึ่งตอกย้ำให้หมุดความยุติธรรมเขาหนักแน่นยิ่งขึ้นอีกด้วย
“ปัจจุบันเรามีกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ กฎหมายสิ่งแวดล้อม แค่ต้นไม้เรายังใส่ใจมันแล้วกับคนละ ไม่ได้ห่วงใยแค่คนใดคนหนึ่ง มีความเท่าเทียมไม่ว่าจะชายหรือหญิง และที่คณะฯ ก็ยังมี ‘วิชาหลักวิชาชีพของนักกฎหมาย’ สอนโดยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร อาจารย์แต่ละท่านเก่งต่างกันไปในแต่ละแขนง และสอนแบบเจาะลึกแต่เข้าใจง่าย เช่น กฎหมายอาญา ที่นี่เรียนแบบตำรวจสอบสวนกันเลย” ส่วนกฎหมายธุรกิจและกฎหมายพิเศษต่างๆ ก็มีอาจารย์ในคณะและอาจารย์จากภายนอกที่ล้วนมีความเชี่ยวชาญในระดับตำนานมาร่วมถ่ายทอดความรู้ที่สามารถเอาไปใช้ได้จริง”
“มหาวิทยาลัยก็ยังมีวิชากลุ่ม Gen ED ที่สำคัญมากกับผม เป็นวิชาทักษะโลกอนาคต พวกเรื่องของ Technological Skills ตอนแรกผมต้องขอโทษอาจารย์ เพราะเคยสงสัยจะเรียนไปทำไม? แค่เรียนกฎหมายก็เพลียแล้ว แต่พอจบแล้วรู้ทันทีอาจารย์ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ประกอบหุ่นยนต์ แต่ปูพื้นฐานการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงให้เรา อย่างที่ท่านอธิการบดี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ บอกว่า “คนที่เอาตัวรอดในอนาคตไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด เราต้องการคนที่อยู่ร่วมกับสังคมได้ เพราะเทคโนโลยีช่วยคนให้มีศักยภาพเก่งขึ้นได้ แต่ถ้าเก่งแล้วอยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ก็เท่านั้น” ซึ่งจริงมากพอวันนี้ได้ทำงาน”
ด้วยโอกาสที่ได้รับ “วุฒิพงษ์” จึงตั้งปณิธานจะนำพาชื่อเสียงให้กับทาง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ โดยที่ผ่านมา
ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศในการแข่งขันเรียงความเรื่อง “ต้านโกงเพื่อประเทศไทย” ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รางวัลชมเชยในการแข่งขัน “ถวายงานผ่านภาษารอบคัดเลือก” ของกรุงเทพฯ และล่าสุดกับรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่น รางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567 นอกจากนี้ยังเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมในหลายโครงการ เช่น กิจกรรมครูอาสาช่วยน้องบนดอยสูง จ.แม่ฮ่องสอน, กิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือภัยแล้ง จ.นครพนม, ค่ายรวมใจเป็นหนึ่งเพื่อน้องผู้ไร้โอกาสทางการศึกษา จ.น่าน, จิตอาสาโครงการคืนป่าให้ชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อถวายแก่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ฯลฯ
“เราเคยได้รับ เลยอยากที่จะส่งต่อ และเชื่อว่าคนที่รับจากเราเขาก็จะส่งต่อให้คนอื่นเหมือนกัน อย่างที่เขาพูดๆ กัน ทำตรงนี้ต่อให้มันเหนื่อยแค่ไหน แต่พอได้เห็นรอยยิ้มมันหายเหนื่อยจริงๆ และอนาคตก็คิดว่าถ้าประสบความสำเร็จเมื่อไร่ จะไปอยู่เป็นครูจิตอาสาสอนอีกเพราะสัญญากับน้องไว้”
ทุกอย่าง ‘ยุติธรรม’ ถ้าทำเต็มที่
ความสำเร็จของเขาเกิดขึ้นได้ด้วยการทำให้เต็มที่และทำให้ดีที่สุดในหน้าที่ตรงหน้า และเป็นกระบวนการศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างสุดยอดนวัตกรรมมนุษย์ที่เรียกว่า ‘วินัย’ ให้ “วุฒิพงษ์” ผลการเรียนอันเยี่ยมด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98 และได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 “ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดและพาให้ชีวิตเราขยับขึ้นได้ดีที่สุด”
ดาวรุ่งแห่งวงการกฎหมายบอกต่อว่า การรักการอ่าน เสริมสร้างทั้งประสบการณ์ ความรู้และกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้เข้าใจโลกกว้างขึ้น และเมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนจึงเกิดประสิทธิภาพในเวลาจำกัด
“ต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ที่มอบความไว้วางใจให้ผมเป็นตัวแทนคณะฯ เข้าไปแข่งขันในครั้งนี้ และยังกรุณาแนะนำในเรื่องต่างๆ ซี่งเป็นประโยชน์อย่างมาก”
“เทคนิคการเรียนวิชากฎหมายคือ อ่านแล้วจินตนาการตามเอาไว้ กฎหมายเกิดขึ้นมาเพื่อป้องปรามและแก้ไขผลที่มันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตัวอย่าง มาตรา 80 พยายามฆ่าผู้อื่น ผมก็จะมโนภาพเรากำลังขับรถไปเพื่อจะไปทำร้ายคู่อริ แต่ทีนี้ระหว่างขับรถไป รถกลับคว่ำ คนทั่วไปอาจจะมองว่าไม่มีความผิด แต่ในทางกฎหมายความผิดสำเร็จแล้ว แต่อาจจะไม่ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย มาตรา 288 เป็นหลักการจำที่ทำให้จำได้ง่าย” บัณฑิตนิติฯ กล่าวเสริม
“ผมมีความเชื่อว่ากฎหมายยุติธรรม แต่อยู่ที่คนใช้ ทุกวันนี้ที่กฎหมายดูไม่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผลจากมันถูกเลือกใช้กับคนใดคนหนึ่ง และผมพร้อมวางตนอยู่ในจรรยาบรรณวิชาชีพเพื่อใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรม และความเที่ยงธรรมที่สุดกับสังคม”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี