ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา นายจุมพล ขุนอ่อน ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และก่อให้เกิดปัญหามลพิษรบกวนการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่มานานหลายปี ที่ผ่านมา เคยร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอนครชัยศรีหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการแก้ไขให้ปัญหาหมดสิ้นไป
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในพื้นที่ ต.สัมปทวน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สัมปทวน และได้รับการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการไปจนถึงวันที่ 11 ก.พ. 2568 ซึ่งผู้ร้อง ผู้เสียหาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงสอดคล้องตรงกันว่าการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของผู้ถูกร้องส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงเป็นเวลานานหลายปีโดยเฉพาะปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนและแมลงวัน
และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวเนื่องด้วยสภาพอากาศปิด นอกจากนี้ โรงเรือนเลี้ยงไก่ยังมีสภาพเก่า บางโรงเรือนชำรุดทรุดโทรม แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหามลพิษและให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกร้อง และผู้ถูกร้องได้พยายามบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ใช้แกลบเป็นวัสดุรองพื้นโรงเรือนเพื่อดูดซับมูลและปัสสาวะไก่ ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ใช้สารเคมีกำจัดหนอนแมลงวันและแมลงวันตัวเต็มวัยในโรงเรือน แจกกาวดักแมลงวันให้แก่ประชาชน ปลูกต้นไม้บริเวณรอบฟาร์มเพื่อดูดซับกลิ่นและป้องกันฝุ่นละออง
อีกทั้งได้ลดจำนวนไก่ที่เลี้ยงลงเพื่อลดผลกระทบด้านมลพิษแล้ว แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงโดยเมื่อพิจารณาผลการตรวจวัดค่าความเข้มกลิ่นจากการประกอบกิจการเลี้ยงไก่เนื้อของผู้ถูกร้องโดยกรมควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566 พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด จึงเชื่อได้ว่ามาตรการจัดการกลิ่นของโรงเลี้ยงไก่ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ผลกระทบเรื่องกลิ่นเหม็นซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมหมักหมมของมูลไก่ และปัญหาแมลงวันได้รับการแก้ไขได้ทั้งหมด
จึงถือได้ว่าการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวนเป็นเหตุรำคาญตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 และไม่สอดคล้องกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567
จึงมีมติเห็นควรมีเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายต่อผู้ถูกร้องและองค์การบริหารส่วนตำบลสัมปทวน สรุปได้ดังนี้ (1) ให้ผู้ถูกร้อง นำหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) มาใช้ในการประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ โดยประกาศเป็นนโยบาย กำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนและใช้บังคับอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
เช่น การแจ้งให้ อบต. สัมปทวน ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับวันเวลาที่จะจับไก่ เพื่อให้ประชาชนเตรียมการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงกลิ่นเหม็น แมลงวัน และฝุ่นละออง และการกำหนดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนรับรู้ เป็นต้น (2) ให้ อบต. สัมปทวน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกคำสั่งให้ผู้ถูกร้องปรับปรุงสภาพโรงเรือนที่ชำรุดทรุดโทรมและจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษทุกกระบวนการให้ดีขึ้น
ได้แก่ การเลี้ยงไก่ การเปิดโรงเรือนเพื่อจับไก่ การเคลื่อนย้ายไก่และซากไก่ การขนถ่ายมูลไก่ และกิจกรรมอื่นที่อาจก่อให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและแมลงวัน และติดตามการดำเนินการของผู้ถูกร้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ให้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการเลี้ยงสัตว์ปีกโดยเฉพาะ โดยกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน และมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้งฟาร์ม การขออนุญาตประกอบกิจการ ตลอดจนการประกอบกิจการ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
นอกจากนี้ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 5 ในการระงับ จำกัด หรือควบคุมเหตุรำคาญอันเกิดจากการประกอบกิจการของผู้ถูกร้องอย่างเคร่งครัด โดยในการพิจารณาต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ควรประสานหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยในพื้นที่เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาต่อใบอนุญาตให้แก่ผู้ถูกร้องทุกครั้ง
ทั้งนี้ ให้อำเภอนครชัยศรีขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนกลิ่นเหม็นรบกวนจากฟาร์มไก่ในเชิงรุก อาทิ วางแผนการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เข้าตรวจฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเป็นระยะอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับปรุงโรงเรือนให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี