เชื่อเหลือเกินว่า ณ วันนี้ ไม่น่าจะมีใครที่ไม่เคยประสบพบเจอ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์-มิจฉาชีพออนไลน์” ที่มาในหลากหลายรูปแบบทั้งการโทรศัพท์เข้ามาโดยตรง อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วขู่ให้กลัวว่าไปพัวพันกับสิ่งผิดกฎหมายแล้วเรียกร้องให้โอนทรัพย์สินไปเป็นค่าตรวจสอบหรือเคลียร์คดี ไปจนถึงสารพัดการหลอกลวงทั้งการเปิดเพจเฟซบุ๊กชวนลงทุนบ้าง ชวนทำงานบ้าง หรืออ้างมีแหล่งเงินทุนที่บอกว่ากู้ง่ายอนุมัติไว หลอกให้กด Link ติดตั้งแอปพลิเคชั่นดูดเงินส่วนใครจะพลาดท่าตกเป็นเหยื่อ หรือแคล้วคลาดรอดพ้น ก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน
ซึ่งก็สอดคล้องกับเรื่องราวที่นำมาบอกเล่ากันในงานสัมมนาระดับชาติเนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2567 (International Fact-Checking Day 2024) ภายใต้หัวข้อ “Cheapfakes สู่ Deepfakes : เตรียมรับมืออย่างไรให้เท่าทัน” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา
โดยการนี้จัดขึ้นสืบเนื่องจากโลกเรามีวันที่ 1 เมษายน ที่เป็นวันโกหก (April Fools Day) ทำให้เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network-IFCN) ถือเอาวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็นวันตรวจสอบข่าวลวง ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในองค์กรเจ้าภาพจัดงาน อ้างรายงานของ ฮูสคอลล์ (Whoscall) แพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่า ปี 2566 คนไทยโดนหลอกจากสายโทรเข้าและส่งข้อความหลอกลวง 79 ล้านครั้งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มี 66.7 ล้านครั้ง คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยเฉลี่ยคนไทย 1 คน ได้รับ SMS หลอกลวง 20.3 ข้อความจึงถือว่าไทยถูกหลอกลวงมากเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์และฮ่องกง
งานนี้มีวิทยากรเข้าร่วมหลายท่าน อาทิ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงภาพรวมการตรวจสอบข้อมูลลวงในรอบปี 2566 ว่า แม้จะมีข่าวปลอมเกิดขึ้นหลายเรื่อง แต่ที่ส่งผลกระทบมากคือข่าวปลอมที่ทำให้ผู้หลงเชื่อสูญเสียทรัพย์สิน เช่น การแอบอ้างชื่อบริษัทใหญ่ๆ มีชื่อเสียง ชักชวนให้ลงทุน ซึ่งมีข้อสังเกตว่า “แพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กไม่ได้ช่วยจัดการกับเพจปลอม” แต่กลับปล่อยให้เพจเหล่านี้ซื้อโฆษณา เห็นได้จากเพจปลอมมักจะมีคำว่า “ได้รับการสนับสนุน” ติดมาด้วยเสมอ
สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ข้อมูลข่าวสารที่ศูนย์ฯ มักได้รับเรื่องมาตรวจสอบในระยะหลังๆ เป็นกรณีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นหน่วยงานของรัฐ มีการทำเว็บไซต์ปลอมที่ดูเหมือนกับเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นแทบทุกประการ จะต่างก็เพียงURL หรือชื่อของเว็บไซต์เท่านั้น จึงต้องระมัดระวัง
ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อานวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook และ Whoscall อธิบายว่า มิจฉาชีพจะเล่นกับอารมณ์ 3 แบบของเป้าหมายคือ 1.ความกลัว เช่น สวมรอยเป็นลูกโทรศัพท์ไปบอกเป้าหมายที่เป็นแม่ว่าลูกเกิดเรื่องรถชน ขอให้แม่รีบโอนเงินมาให้ 2.ความโลภ เช่น อ้างว่าเป้าหมายกำลังจะได้รับรางวัล และ 3.ความรัก คือการหลอกให้เป้าหมายหลงรักจากนั้นก็ชักชวนให้ลงทุน
เช่นเดียวกับ จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 8 สสส. กล่าวว่า การหลอกลวงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ Deepfake หรือ Cheapfake เหตุที่มีผู้พร้อมจะเชื่อก็เพราะเห็นว่าเรื่องนั้นตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าของตนเองได้ เช่น อยากสวย อยากรวย อยากหายป่วย อยากให้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันลดลงหรือคลี่คลาย อาทิ คนที่ป่วยแล้วไม่มีเงินหรือไม่มีเวลาไปพบแพทย์ อาจหลงเชื่อโฆษณาที่อ้างว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ช่วยรักษาโรคที่เป็นอยู่ โดยคิดว่าลองดูก็ไม่เสียหาย
ในงานครั้งนี้กล่าวถึงการหลอกลวงทางออนไลน์ 2 รูปแบบ โดย ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า Deepfake เป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เนื้อหาที่สร้างขึ้นคล้ายกับของจริงไม่ว่าภาพหรือเสียง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขณะที่ Cheapfake จะเป็นวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เช่น ตัดต่อภาพหรือใช้ภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียงแล้วอ้างว่าเป็นคนคนนั้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงรูปแบบใด หลักที่ต้องยึดให้มั่น 1.พึงระวังเนื้อหาที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น ในการหลอกให้ลงทุน มิจฉาชีพจะใช้ถ้อยคำโฆษณาประเภทใช้เงินแค่ไม่กี่บาทแต่ได้ผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ 2.พึงระวังการโน้มน้าวให้อยู่คนเดียว หนึ่งในขั้นตอนการหลอกลวงคือมิจฉาชีพจะพยายามไม่ให้เป้าหมายติดต่อกับคนอื่นๆ รอบข้าง และ 3.พึงระวังชื่อบัญชีธนาคารไม่ตรงกัน ประเภทอ้างชื่อเป็นบุคคลหนึ่งแต่ชื่อบัญชีธนาคารที่จะให้โอนเงินไปนั้นกลับเป็นชื่ออีกบุคคลหนึ่ง เพราะมิจฉาชีพจะใช้ “บัญชีม้า” ให้บุคคลอื่นเปิดบัญชีรับโอนเงิน ไม่ใช้บัญชีตนเอง
เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ “ปีใหม่ไทย” ก็ต้องขออวยพรให้ทุกท่านไม่เจ็บ ไม่จน และ “ไม่โดนหลอก” ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี