ชาวชุมชนท่องเที่ยวไหมสนวนนอก ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ จัดการละเล่น "เรือมตร๊ด" หรือการรำตรุษสงกรานต์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่เป็นการละเล่นโบราณ ที่มีสืบทอดมาอย่างยาวนาน มีให้เห็นเฉพาะแถบอีสานใต้ เขมรถิ่นไทยแถบ จ.บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษเท่านั้น เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของถิ่น และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ชาวบ้านชุมชนท่องเที่ยวไหมสนวนนอก ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ พร้อมตัวแทนชาวบ้านทั้งชาย-หญิงรวมกว่า 10 คน ต่างแต่งกายด้วยผ้าไหมพื้นเมือง และสวมใส่เสื้อลายดอกสีสันต่างๆ ร่วมกันประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชา ก่อนเริ่มการละเล่น "เรือมตร๊ด" (อ่านว่า-เรือม-ตะ-หรด) ซึ่งเป็นภาษาเขมรถิ่นไทย หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า การรำตรุษสงกรานต์ โดยการจัดเครื่องเซ่นไหว้ ขันธ์ 5 กรวยดอกไม้ธูปเทียน น้ำเปล่า น้ำอัดม เหล้าขาว และอุปกรณ์เครื่องดนตรีที่จะนำมาใช้ในการละเล่นเรือมตร๊ด มีทั้งกลองหาง , กลองกาบบั้ง หรือกลองกาบเบื้อง , กลองตุ้ม , ฉิ่ง , ฉาบ และจังกรง ที่เสาทำด้วยไม้ไผ่สีสุก ติดกระพวน และกระดิ่ง ประดับด้วยมาลัยดอกรัก มาประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชา และทำการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้การละเล่นเรือมตร๊ด เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหา หรืออุปสรรคใดๆมาขัดขวาง และให้เกิดผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
จากนั้นเมื่อทำพิธีเซ่นไหว้เสร็จแล้ว คณะเรือมตร๊ด ที่นำโดยพ่อครูแม่ครู ถือพานใส่ขันธ์ 5 พานใส่พระพุทธรูป และขันน้ำมนต์ เดินออกน้ำหน้า ตามด้วยต้นเสียงขับร้องเพลง เป็นเพลงภาษาเขมรถิ่นไทย พร้อมกับคณะเครื่องดนตรี และจังกรง กับคณะร่ายรำ ก็จะเดินตามร่ายรำเป็นหมู่คณะ ไปตามจังหวะเสียงเพลง เดินไปโดยรอบของบริเวณวัด แล้วเดินออกร้องรำไปตามบ้านเรือนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี พร้อมนำน้ำท่ามารอต้อนรับ และร่วมบริจาคเงินลงในพาน ที่ใส่พระพุทธรูปเดินนำหน้าขบวน ที่คณะเรือมตร๊ดผ่านและหยุดเล่นหน้าบ้านเรือนต่างๆ
พร้อมกับนำน้ำอบ น้ำปรุง เครื่องหอม น้ำสะอาดมาสาดใส่ และนำแป้งฝุ่นมาปะแป้งให้กับคณะเรือมตร๊ดด้วย ที่กำลังร่ายรำอยู่ด้วย เพื่อให้เกิดความเย็นชุ่มชื่นกายใจ จนจบ 1 เพลง แล้วลาจากไป เพื่อเดินร้องร่ายรำไปยังบ้านเรือนหลังต่างๆ ต่อไป ซึ่งยังได้สร้างความตื่นตาตื่นใจ และความประทับใจ ให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์อีกด้วย ที่ได้พบเห็นการละเล่นเรือมตร๊ด ซึ่งถือเป็นการละเล่นที่ห่างหายไปจากสังคมตัวเมืองบุรีรัมย์ไปนาน ซึ่งหลังจากคณะเรือมตร๊ด ได้พากันออกเดินร้องร่ายรำ ไปตามบ้านเรือนเสร็จแล้ว ก็ได้วนกลับไปที่วัดกลางพระอารามหลวง อีกครั้งเพื่อนำปัจจัยที่ได้ไปถวายให้กับทางวัด ไว้ใช้ในกิจกรรมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
นายบุญทิพย์ กะรัมย์ สารวัตรกำนันตำบลสนวน และประธานชุมชนท่องเที่ยวไหมสนวนนอก ต.สนวน อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เล่าให้ฟังว่า การเรือมตร๊ด หรือ การรำตรุษสงกรานต์ โดยคำว่า เรือม แปลว่า รำ ส่วนคำว่ตร๊ด แปลว่า ตรุษ ดังนั้นเรือมตร๊ด หมายถึงการรำในวันตรุษสงกรานต์ ถือเป็นวัฒนธรรมการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายเขมรถิ่นไทย แถบพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ ที่มีมาอย่างยาวนานนับร้อยนับพันปี
โดยจะนิยมจะนิยมเล่นกันในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ที่ชาวไทยเชื้อสายเขมร เรียกว่า "แคแจ๊ต" โดยเนื้อหาคำร้องทำนอง อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพของท้องถิ่น คือเป็นการกล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณี สภาพสังคม สภาพดินฟ้าอากาศ วิถีการทำการเกษตร เพื่อให้พืชผลทางการเกษตร ที่จะเพาะปลูกในฤดูกาลที่จะถึง นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ และเพื่อให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ปลอดภัยจากอาเพศและเภทภัยต่างๆ
ทั้งนี้ การเรือมตร๊ด ยังเป็นเหมือนการบอกบุญไปยังบ้านต่างๆ เช่น บุญกฐิน บุญผ้าป่า งานที่เกี่ยวกับวัดจะใช้ ซึ่งในอดีตจะเลือกใช้วิธีการเรือมตร๊ด ออกไปบอกบุญเสมอไป ซึ่งเงินที่ได้จากการเรือมตร๊ด ก็จะนำไปมอบถวายวัด เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี