15 เมษายน 2567 เวลา 07.00 น. ที่บริเวณศาลพระหลักเมืองบุรีรัมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นายวิกรม สมจิตต์อารีย์ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ นายแพ เดชพร ประธานสภา อบจ.บุรีรัมย์ ดร.เสกสรรข์ ธีระวาณิชย์ ประธานคณะกรรมการศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ส่วนราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ พ่อค้า ประชาชน และพุทธศาสนิกชน กว่า 100 คน ร่วมประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ 9 รูป และทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ในงานประเพณีสงกรานต์และสมโภชศาลพระหลักเมือง ประจำปี 2567 ซึ่งทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ได้ร่วมส่วนราชการ สถานศึกษา และชุมชน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่บริเวณวัดกลางพระอารามหลวง และศาลพระหลักเมืองบุรีรัมย์
เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความสมาฉันท์ในครอบครัวและชุมชน และเป็นการปลูกจิตสำนึกความเป็นไทยโดยการร่วมทำกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ร่วมกัน และเพื่อร่วมสมโภชศาลพระหลักเมือง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์
โดยมี พระธรรมวชิรสุตาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าอาวาสวัดกลาง พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมอวยพรในเทศกาลสงกรานต์ ให้กับผู้ที่มาร่วมงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทย ปี 2567 โดยประธานสงฆ์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ประชาชน ผู้มาร่วมทำบุญตักบาตรด้วย
จากนั้น นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ พร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ประกอบพิธีไหว้สักการะศาลพระหลักเมือง และศาลปึงเถ่ากงม่า หลังจากนั้นก็มีพิธีประทับทรง บวงสรวงศาลพระหลักเมือง ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์ ส่วนในช่วงกลางคืน มีการแสดงลิเก สมโภช ด้วย
สำหรับ ศาลหลักเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นสถานที่ที่ชาวบุรีรัมย์นับถือศรัทธา และเดินทางมากราบไหว้ในโอกาสต่างๆ เดิมเป็นเพียงอาคารไม้ขนาดเล็ก ต่อมาได้มีการรื้อและก่อสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2548 -2550 โดยรูปแบบ สถาปัตยกรรมนั้นเป็นศิลปะขอมโบราณ เลียนแบบมาจากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งคงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นบุรีรัมย์ไว้อย่างชัดเจน
มีความเชื่อว่าบริเวณที่สร้างศาลหลักเมืองนี้เคยเป็นจุดที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในขณะนั้น) ได้ใช้เป็นจุดพักรบ และยังเป็นจุดกำเนิดเมืองบุรีรัมย์ด้วย โดยพระองค์ทรงเห็นว่า บริเวณนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีสระน้ำ มีต้นแปะขนาดใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองแปะ” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์ในสมัยต่อมา
อาคารศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ มีลักษณะเป็นองค์ปรางค์ มียอดทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นประดับกลีบขนุนและเทพประจำทิศ เพื่อปกป้องรักษาทิศต่างๆ องค์เรือนธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมืองชักมุมออกทั้ง 4 ด้าน อันหมายถึง การกระจายความเป็นหลักฐานความมั่นคงออกไปทั้ง 4 ทิศ
ส่วนยอดศาลพระหลักเมืองตกแต่งด้วยรูปดอกบัวเป็นสเตนกลาสประดับทอง เพื่อนำแสงเข้าสู่หลักเมือง ภายในตัวศาลได้ตั้งเสาหลักเมืองตรงกลางองค์ปรางค์ พร้อมกับอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเสื้อเมือง เทพารักษ์ และพระทรงเมือง เพื่อมาปกปักษ์รักษา คุ้มครองให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข
เสาหลักเมืองบุรีรัมย์ มีอยู่ 2 ต้น โดยสร้างไว้ใกล้ชิตติดกัน มีข้อสันนิษฐานว่า เสาต้นที่ 1 (ต้นเอียง) เป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อสร้างเมืองแปะ ส่วนเสาหลักเมืองต้นที่ 2 น่าจะเป็นเสาหลักเมืองที่ตั้งขึ้นเมื่อมีฐานะเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ ด้านข้างศาลหลักเมือง ยังมีศาลเจ้าจีนที่ประดิษฐานรูปเหมือนเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีน ได้มากราบไหว้ในบริเวณเดียวกัน โดยด้านซ้ายมีองค์เทพเจ้าไฉ่ซึ่งเอียะซึ่งเป็นเทพเจ้าด้านเงินทองและโชคลาภ ส่วนด้านขวามีองค์เทพเจ้ากวนอูซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ การต่อสู้ แข่งขัน ชิงชัย
ศาลหลักเมืองที่งดงาม ซึ่งผสมผสานสถาปัตยกรรมและความเชื่อหลากหลายเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว และเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้ จึงเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจและเป็นทั้งความภาคภูมิใจของชาวบุรีรัมย์ในขณะเดียวกัน.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี