กำลังเป็นเรื่องร้อนๆ ในสังคมไทยกับการแสดงโชว์ “เดี่ยวไมโครโฟน” ครั้งล่าสุดของ “โน้ส” อุดม แต้พานิช หลังเนื้อหาและลีลาการพูดก่อให้เกิด “ดราม่า” มีข้อถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเด็น “ความพอเพียง” , “คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่” , “รูปแบบการท่องเที่ยวที่แท้จริงของประเทศไทย” เนื้อหาถูกตัดเป็นคำพูดและคลิปวีดีโอสั้นๆ แชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์
แต่ก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่โชว์ของ โน้ส-อุดม จะ “ล่อเป้า” ก่อดราม่า โดยเฉพาะประเด็น “การเมือง” เพราะหากย้อนกลับไปดูข่าวเก่าๆ จะพบข่าวที่กล่าวถึงเหตุการณ์ซึ่งคล้ายๆ กับที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะโชว์เดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ผ่านๆ มา “โน้ส-อุดม ล้อเลียนนายกรัฐมนตรีมาแล้วแทบทุกคน” ทั้งฟากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ ชวน หลีกภัย กับวลีที่คอการเมืองคุ้นเคยอย่าง “ผมยังไม่ได้รับรายงาน” , อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่โน้ส-อุดม นำเพลง “รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ของ “ติ๊ก-ชิโร่” มาแปลงเป็น “รัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” และกล่าวว่า “นายกฯ ที่เขาว่าหล่อ มีดี ยกเว้นอำนาจตัดสินใจ ลูกศิษย์ท่านชวน ไม่คด ไม่งอ ไม่โกงใคร เลือกตั้งได้แต่คนหน้าเดิม”
ฟากฝั่งพรรคพลังประชาชน-พรรคเพื่อไทย เช่น สมัคร สุนทรเวช นายกฯ ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน มีการนำไปล้อเลียนเรื่องเป็นคนจมูกบาน เป็นพ่อครัวปรุงอาหาร รวมถึงพาดพิงว่าอยู่ภายใต้การชักใยของ “คนแดนไกล” ที่ในเวลานั้นคอการเมืองต่างก็ทราบดีว่าหมายถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หนีคดีทุจริตไปอยู่ต่างประเทศ , ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกนำไปล้อเลียนในประเด็นสคริปต์ที่นายกฯ จะค้องกล่าวในงานต่างๆ แล้วอ่านผิด เช่น สคริปต์เขียนว่าคอนกรีต แต่อ่านว่า คอ-นก-รีต หรือสคริปต์เขียนว่า Thank You Three Times ซึ่งต้องการให้นายกฯ พูดว่า Thank You 3 ครั้ง แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กลับอ่านว่า Thank You Three Times
รวมไปถึงรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร อาทิ การรัฐประหารในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) 19 ก.ย.2549 แล้วตั้งรัฐบาลทหารขึ้นมาปกครอง กระทั่งปล่อยให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจให้รัฐบาลประชาธิปไตยในเดือน ธ.ค.2550 ถูกนำไปกล่าวถึงในการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนในปี 2551 ว่า คมช.ปฏิวัติแล้วทิ้งไว้แต่ความยากจน เข้าใจว่าเป็นนักปฏิวัติมือใหม่ ทำแล้วใช้อำนาจไม่เป็น เลยเหมือนคนไปยึดรถเขามาแต่ก็ใช้ได้แค่เข็น แถมยังกล่าวในตอนท้ายอย่างประชดประชันว่าปฏิวัติอีกสิถ้าไม่มีอะไรจะทำ รู้ว่าเป็นเวรกรรมแต่ก็จะให้กำลังใจ
หรือการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.2557 รัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นทั้งนายกฯ และหัวหน้า คสช.ก่อนจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แล้วมีการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย โดยในปี 2565 บันทึกการแสดง “เดี่ยว 13” ที่แสดงสดในเดือน มิ.ย.2565 ก่อนถูกนำไปลงสตรีมมิ่งเจ้าดังในเดือน ต.ค.2565 มีช่วงหนึงได้เปรียบเทียบ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นเพียง รปภ.แต่มาขับเครื่องบินทั้งที่ขับไม่เป็น และบอกว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ริเริ่มไว้ตั้งแต่ยุค คสช.นั้นนานเกินไป
แต่ก็ต้องบอกว่า “เดี่ยว 13” ถือเป็นโชว์ครั้งแรกของ โน้ส-อุดม ที่เหตุการณ์ดราม่ารุนแรงไปถึงขั้นเป็นคดีความ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายกัน โดยในวันที่ 18 ต.ค.2565 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบเนื้อหาการโชว์ดังกล่าว ว่าอาจเข้าข่ายยุยงปลุกปั่นให้คนออกมาชุมนุม ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย
ซึ่งในขณะที่ ศรีสุวรรณ กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ก็ได้ถุก “ลุงศักดิ์ เสื้อแดง” วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หนุ่มใหญ่วัย 62 ปี ที่แฝงตัวอยู่ในบริเวณีนั้นปรี่เข้าไปชกหน้า ส่วนศรีสุวรรณก็ตั้งการ์ดป้องกันไว้ได้ทัน จนกลายเป็นช็อต “วัดเชิงมวย” ถูกเผยแพร่เป็นข่าวดังในเวลานั้น ซึ่ง ลุงศักดิ์-วีรวิชญ์ ตามประวัติแล้วมีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง อันเป็นมวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย นอกจากจะมีคดีทำร้ายร่างกาย ศรีสุวรรณ จนต่อมาศาลตัดสินจำคุก 1 เดือนแล้ว ในปี 2564 ยังเคยก่อเหตุทำร้ายร่างกาย “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ที่ภายหลังหันไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อีกด้วย
สำหรับ “โน้ส” อุดม แต้พานิช เกิดเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2511 ที่ จ.ชลบุรี ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน มีพี่น้อง 3 คน โดยอุดมเป็นลูกคนกลาง แต่เมื่ออายุได้ 6 ปี ต้องสูญเสียบิดา และต้องย้ายตามมารดาไปอยู่ที่ จ.สุรินทร์ กระทั่งเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นได้ตัดสินใจหนีออกจากบ้านที่ จ.สุรินทร์ กลับมาที่ จ.ชลบุรี โดยอาศัยอยู่กับญาติที่เปิดร้านขายผลไม้ ส่วนประวัติการศึกษา หลังจบชั้น ปวช.ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาชลบุรี ได้พยายามเข้าไปเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง แต่เรียนได้เพียง 2 ปี ก็ต้องลาออก เพราะไม่มีเงินเรียนต่อ
ในช่วงแรกของชีวิตนั้น โน้ส-อุดม สนใจด้านศิลปะการวาดรูป โดยเริ่มอาชีพแรกด้วยการเป็นนักเขียนการ์ตูน ประจำนิตยสาร “ชัยพฤกษ์การ์ตูน” ต่อมาเมื่อได้อ่านนิตยสาร “ไปยาลใหญ่” รู้สึกชอบใจในรูปแบบของนิตยสารฉบับดังกล่าว จึงไปสมัครเป็นพนักงานฝ่ายศิลป์ ทำหน้าที่ออกแบบภาพปกและจัดลำดับภาพประกอบต่างๆ และได้รับโอกาสให้เป็นนักเขียนคอลัมน์ในเวลาต่อมา
โน้ส-อุดม ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสามารถหลากหลาย ทั้งการเขียนการ์ตูน เขียนหนังสือ รวมถึงการแต่งเพลง “แหล่หารสอง” ในปี 2539 ซึ่งในเวลานั้นประเทศไทยกำลังรณรงค์ให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน นอกจากนั้นยังเป็นนักแสดงที่ไต่เต้าจากตัวประกอบในรายการ “วิก 07” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 มาสู่การเป็นดารานำหรือได้รับบทเด่นในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น กล่อง (ปี 2541) โคตรรักเอ็งเลย (ปี 2549) เมล์นรกหมวยยกล้อ (ปี 2550) อีติ๋มตายแน่ (ปี 2551) ฝันโคตรโคตร (ปี 2553)
แต่ที่ถือเป็น “เครื่องหมายการค้า” ของชายผู้นี้มากที่สุด คือการแสดง “เดี่ยวไมโครโฟน (Stand-up Comedy)” อันเป็นโชว์ที่จะมีนักแสดงอยู่บนเวทีเพียงคนเดียว ซึ่งนักแสดงจะต้องเตรียมบทพูดที่มีวาทศิลป์คมคายและเสียดสียั่วล้อ รวมถึงต้องเตรียมว่าจะใช้น้ำเสียงและท่าทางแบบใดในจังหวะใด เพื่อยึดกุมความสนใจของผู้ฟังให้อยู่ไปตลอดทั้งโชว์นั้น โดยการแสดง Stand-up Comedy ถือกำเนิดและได้รับความนิยมในโลกตะวันตก (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) ก่อนขยายไปยังประเทศอื่นๆ
ซึ่งในกรณีของประเทศไทย ว่ากันว่า โน้ส-อุดม เป็นคนแรกที่ริเริ่มการแสดงแบบ Stand-up Comedy หรือเดี่ยวไมโครโฟน โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2538 จำนวน 3 รอบ และจัดมาอย่างต่อเนื่องในปี 2539 , 2540 , 2542 , 2545 , 2546 , 2551 , 2553 , 2554 , 2556 , 2558 , 2559 , 2561 และ 2565 กระทั่งมาถึงครั้งล่าสุดในปี 2567 กับ “เดี่ยวสเปเชียล: ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์” ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง โน้ส-อุดม กับสตรีมมิ่งเจ้าดังระดับโลกอย่าง Netflix ที่กำลังเป็นดราม่าอยู่ในขณะนี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี