เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 เว็บไซต์ thaipublica.org ได้เผยแพร่บทความของ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่อง “Plan B for Planet Earth ” : แผนสองสำหรับโลก โดยมีเนื้อหาระบุว่า
เมื่อวัน Earth Day ที่ผ่านมา (22 เมษายน 2567) ผมได้ฟังบรรยายเรื่องวิกฤติภูมิอากาศที่ดีมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยอาจารย์ V. Ram Ramanathan แห่ง University of California San Diego (UCSD) อาจารย์ Ram ได้รับการยอมรับว่าเป็นกูรูที่ติดตามเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศต่อเนื่องมาหลายสิบปี มีบทบาทในเวทีสำคัญของโลกมากมาย ท่านเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศหลากหลายมิติ ทำวิจัยเชิงลึก ผลักดันนโยบายและมาตรฐานใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนนำเสนอว่าเราจะลดผลกระทบและหาทางออกจากหายนะทางภูมิอากาศได้อย่างไร ในการบรรยายครั้งนี้ ท่านตั้งหัวข้อไว้ว่า “Plan B for Planet Earth”
โลกเรามีก๊าซเรือนกระจกห่อหุ้มอยู่ ทำให้ความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ บนโลกไม่สามารถลอยผ่านออกไปได้ คล้ายกับเวลาที่เราห่มผ้าห่มเพื่อรักษาความร้อนจากร่างกาย (body heat) อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นเร็วเป็นผลมาจากความหนาของผ้าห่มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับความร้อนและก๊าซเรือนกระจกที่ถูกเติมเข้ามาใหม่จากกิจกรรมของมนุษย์
นักวิชาการคำนวณว่าผ้าห่มก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกอยู่มีความหนามากขึ้นเรื่อยๆ และมีน้ำหนักถึง 1.2 ล้านล้านตัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ตลอด 150 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาใหม่จะใช้เวลานานถึง 50 ปีก่อนที่จะสลายตัวไปหรือหลุดออกไปนอกชั้นบรรยากาศ
ดังนั้นการแก้ปัญหาวิกฤติภูมิอากาศจึงต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหม่ในแต่ละปี ไปพร้อมๆ กับหาทางลดความหนาของผ้าห่มก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกอยู่ด้วย ทั้งสองเรื่องนี้เป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก ที่ทั้งโลกยังทำได้ไม่ดีในช่วงที่ผ่านมา
วิกฤติภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นไปอีก ผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยเขตแดนประเทศ ไม่ว่าก๊าซเรือนกระจกจะถูกปล่อยจากที่ไหนในโลกก็จะส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น
นักวิชาการประเมินว่าคนกลุ่มนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ร้อยละ 10 ของทั้งหมด แต่ต้องรับภาระความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติสภาวะภูมิอากาศถึงร้อยละ 75 ของความเสียหายทั้งหมด ในขณะที่คนรวยที่สุดหนึ่งพันล้านคนเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 60 ของทั้งหมด แต่กลุ่มคนรวยมีวิธีและกำลังที่จะรับมือกับวิกฤติสภาวะภูมิอากาศได้ดีกว่ากลุ่มคนจนมาก ไม่ต้องรับภาระความเสียหายตามสัดส่วนของปัญหาที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้น
อาจารย์ Ram เชื่อว่าในวันนี้เรามีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่พอจะจัดการกับวิกฤติภูมิอากาศได้ ทั้งเรื่องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกใหม่ที่ปล่อยออกมา และการลดความหนาของผ้าห่ม แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การบริหารจัดการให้คนทุกกลุ่ม(โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยที่สุด)เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และร่วมมือกันจัดการอย่างจริงจัง ต้องหาทางแก้ปัญหาความล้มเหลวของการประสานงาน (coordination failure) ที่เกิดขึ้นในหลายระดับ ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างประเทศต่างๆ และระหว่างชนชั้นในแต่ละประเทศ คนแต่ละกลุ่มมีต้นทุนต่างกัน มีอิทธิพลทางการเมืองต่างกัน และมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับความเสียหายจากวิกฤติภูมิอากาศต่างกัน
อาจารย์ Ram เชื่อว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่ IPCC เคยคาดการณ์ไว้มาก เราอาจจะเห็นอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับช่วงปี 1850-1900) ในปี 2030 หรือเร็วกว่าที่ IPCC เคยคาดการณ์ไว้ถึงสิบปี
ดูตัวอย่างได้จากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ (1.18 องศาเซลเซียสสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงปี 1850-1900) ส่งผลให้ปีที่แล้วอากาศแปรปรวนรุนแรง ขนาดพื้นที่แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือ (Arctic sea ice) ลดต่ำกว่าแนวโน้มในอดีตมาก และบริเวณพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ในแคนาดาก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าแนวโน้มในอดีตหลายเท่าตัว การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้มีลักษณะขึ้นลงๆ และปรับเข้าสู่ดุลยภาพได้เองเหมือนในอดีต แต่อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในแต่ละปี แต่จะส่งผลให้สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนได้หลายเท่า และสร้างผลกระทบและความเสียหายได้แบบ exponential
เราคงเห็นข่าวว่าอุณหภูมิโลกปีนี้ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดแทบทุกเดือน และแทบทุกภูมิภาคในโลก ในประเทศไทยเราก็รับรู้ได้ชัดเจน อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลก สภาวะอากาศก็แปรปรวนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ละอาทิตย์จะมีข่าวไฟป่า สลับกับฝนตกหนักผิดฤดูจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ แม้แต่เมืองที่ตั้งอยู่กลางทะเลทรายก็ยังถูกน้ำท่วมหนัก
ดังนั้น Plan B หรือแผนสองสำหรับโลก จะไม่สามารถตีกรอบอยู่เพียงแค่เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) เหมือน Plan A แต่จะต้องเน้นทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตั้งรับและปรับตัวให้เท่าทันกับวิกฤติภูมิอากาศ (adaptation), และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social transformation) เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน ในทุกประเทศและทุกชุมชน ทุกประเทศบนโลกจะต้องทำทั้งสามมิติพร้อมกัน ถึงจะช่วยชะลอหายนะทางภูมิอากาศและรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน โดยเฉพาะผลกระทบสำหรับคนรุ่นต่อไป และคนจนที่อยู่ฐานล่างของสังคม
อาจารย์ Ram เล่าว่าโดยเฉลี่ยจะมีคนประมาณ 22 ล้านคนในแต่ละปีที่ต้องอพยพย้ายถิ่นเพราะความแปรปรวนของภูมิอากาศ และคาดว่าในปี 2050 วิกฤติภูมิอากาศจะทำให้คนบนโลกถึงหนึ่งพันล้านคนต้องอพยพย้ายถิ่น เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก การอพยพย้ายถิ่นจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางสังคม และการเมืองทั่วโลกอย่างรุนแรง
ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้นมาก เราจึงต้องรีบคิดเรื่อง resilience อย่างจริงจัง ต้องวางแผนทั้งเรื่อง adaptation และ social transformation เพื่อให้รับมือได้อย่างเท่าทัน ทุกประเทศทั่วโลกต้องลงทุนอีกจำนวนมหาศาลเพื่อเลิกใช้พลังงานไฮโดรคาร์บอนและหันไปใช้พลังงานสะอาดแทน ต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ (เช่น carbon capture and storage, direct air capture) เพื่อลดความหนาของผ้าห่มก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกอยู่ ต้องหาทางช่วยกลุ่มคนจนทั่วโลกให้สามารถปรับตัวรับมือกับอุณหภูมิโลกที่จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ และสภาพอากาศที่จะแปรปรวนมากขึ้น ตลอดจนต้องคิดวิธีดูแลสุขภาพจิตของคนทั่วโลกด้วย เพราะคนจำนวนมากจะต้องเผชิญกับความสูญเสียจากวิกฤติภูมิอากาศ ในวันนี้ วิกฤติภูมิอากาศยังทำคนรุ่นใหม่จำนวนมากเกิดความกังวลและซึมเศร้า (climate anxiety and depression) เพราะไม่รู้ว่าชีวิตในอนาคตจะอยู่อย่างไร
อาจารย์ Ram ย้ำหลายครั้งว่า ผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้นมากในช่วง 5 ปีข้างหน้า สร้างความเสียหายมากมาย จนอาจทำให้คนทั่วโลกไม่ทนอีกต่อไปและหันมากดดันเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายหยุดใช้พลังงานไฮโดรคาร์บอนอย่างจริงจัง ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transition) ไปสู่พลังงานสะอาดจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ คาดไว้มาก บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ของโลก (ที่มักมีอิทธิพลด้านนโยบายด้วย) เชื่อว่าการใช้พลังงานจากไฮโดรคาร์บอนจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานยังใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ ทำให้วันนี้บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ของโลกยัง ขยายการลงทุนในแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติโดยต่อเนื่อง
นักวิชาการคาดว่าทั้งโลกจะต้องใช้งบประมาณ 3-6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และอีกไม่น้อยกว่า 3-6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีสำหรับการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (adaptation) งบประมาณเหล่านี้เป็นตัวเลขจำนวนมหาศาล ที่ยังไม่รู้ว่าจะมาจากแหล่งใด
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (social transformation) ต้องเป็นอีกเสาหลักสำคัญสำหรับการรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศ ต้องเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และศรัทธา (science-policy-faith alliance) เข้าด้วยกันเพื่อให้คนยอมรับความจริง และยอมปรับเปลี่ยนเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องให้การศึกษากับคนทุกระดับและทุกกลุ่มอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ในส่วนของ adaptation นั้น อาจารย์ Ram เสนอว่าต้องเร่งกระจายอำนาจและการคลังออกจากรัฐบาลกลาง ไปสู่ระดับผู้ว่าการรัฐและนายกเทศมนตรี เพราะการวางแผน adaptation ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกันมาก ไม่สามารถทำได้ดีในระดับรัฐบาลกลาง
อาจารย์ Ram เชื่อว่าช่วงเวลา 10-15 ปีข้างหน้านี้จะสำคัญมาก ที่ทั้งโลกจะต้องร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง หาทางลดความหนาของผ้าห่มก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกอยู่ และวางแผน adaptation เพื่อรับมือกับสภาวะอากาศแปรปรวนที่มีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไรกันจริงจังแล้ว ยากมากที่เราจะสามารถรักษาความหวังของมวลมนุษยชาติให้คงอยู่ได้ในระยะยาว
ทั้งที่คนไทยในหลายพื้นที่กำลังตายผ่อนส่งจากมลพิษ PM2.5 และประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบห้าประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศมากที่สุดในโลก ครอบครัวคนไทยกว่าครึ่งหนึ่งพึ่งพิงรายได้จากภาคเกษตรและการท่องเที่ยว ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและสภาวะอากาศแปรปรวน ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมรุนแรงเกิดขึ้นทุกปีในหลายพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานระบบชลประทานของเราก็ยังขาดแคลนอีกมาก ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ๆ ก็มีแนวโน้มลดลง และเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าฝนจะตกมากเหนือเขื่อนเหมือนในอดีต เพราะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณความชื้นในอากาศและทิศทางของลมมรสุมที่พัดผ่านประเทศไทย
ในขณะที่เราเพิ่งจะมีกรมโลกร้อน (ที่ดำเนินการจัดตั้งมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หลายประเทศกำหนดให้มีระดับรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนงานด้านวิกฤติภูมิอากาศ เพราะเขาตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน และเข้าใจดีว่าการรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศต้องประสานนโยบายข้ามกระทรวงต่างๆ ไม่สามารถคิดและทำแบบ silo ได้ ในบ้านเรากฎหมายที่จำเป็นก็ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภาษีคาร์บอน กฎหมายอากาศสะอาด หรือกฎหมายที่จะรองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น carbon capture and storage
แผนเรื่อง adaptation จะยิ่งสำคัญมาก เพราะวิกฤติภูมิอากาศจะกระทบกับชีวิตคนไทยทุกคนและธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องมีแผนที่ชัดเจน และต้องวางแผนการลงทุนอีกหลากหลายด้านเพราะจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีงบประมาณสำรองสำหรับดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจากสภาวะอากาศแปรปรวนที่จะเกิดแรงขึ้นและถี่ขึ้น
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังคิดกันเรื่อง Plan B เรากลับมุ่งแต่จะเอางบประมาณจำนวนมากไปละลายในอากาศผ่านหลากหลายโครงการที่ได้ไม่คุ้มเสีย ได้แต่หวังว่าเราจะหันมาร่วมกันเร่งวางแผนรับมือกับวิกฤตภูมิอากาศอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความอยู่รอดและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย สังคมไทย และคนไทยในอนาคตได้อย่างแท้จริง
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี