หมายเหตุ : บทความนี้เดิมชื่อ “ความเชื่อเรื่องการมีลูกปีมังกร : ความหวังที่ต้องรอลุ้นในการกอบกู้วิกฤตเด็กเกิดน้อยในไทย” เขียนโดยคณาจารย์และอดีตคณาจารย์ของ “สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ประกอบด้วย ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน, รศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์,รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส และ ผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ ก่อนได้รับการปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับพื้นที่ของฉบับหนังสือพิมพ์
หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินหรือเคยอ่านผ่านตาในวิกฤตการณ์เรื่อง “อนาคตของโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย” กันมาบ้าง อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ประชากร 1 ใน 6 ของโลกจะเป็นประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และในจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) ซึ่งวิกฤตการณ์นี้ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
โดยปรากฏในบทความพิเศษของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ.2083 (พ.ศ.2626) ประชากรในประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน หรือ 50% ของประชากรในปัจจุบันเท่านั้น ในจำนวนนี้เราจะพบว่า ประชากรผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มมากขึ้นจาก 8 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 18 ล้านคน จากสัดส่วนข้างต้นจะเห็นว่า ในปี ค.ศ.2083 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรในประเทศ
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์เรื่องสังคมสูงวัยนั้น เกิดจากการที่ปัจจุบันอัตราการเกิดลดน้อยลงเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของค่านิยมของการมีลูกที่เปลี่ยนไปหรือเรื่องของความกังวลในด้านค่าใช้จ่ายที่จะสูงขึ้นเมื่อมีบุตร เมื่อทำการเทียบกับในอดีตช่วงปี พ.ศ.2545-2550 ที่มีเด็กเกิดมามากถึง 4,796,940 คน แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมา กลับมีเพียง 2,770,184 คนเท่านั้น ซึ่งลดลงไปเกือบ 50%
ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในขณะนั้น) ได้ให้ข้อมูลว่า “สาเหตุของการที่คนไม่อยากมีลูกส่วนใหญ่นั้นมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก มีแค่ 10% เท่านั้นที่มีข้อมูลว่าไม่อยากมีลูกเพราะมีปัญหาสุขภาพ” ดังนั้น หากยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีบุตร บนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้
แต่ในวิกฤตการณ์นี้อาจจะยังมีความหวัง เมื่อในปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ได้มีจำนวนสตรีเข้ารับบริการฝากครรภ์มากเกินกว่าเป้าหมายที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ตั้งเอาไว้ เป็นจำนวน 493,918 คน จากเป้าหมาย 319,317 คน หรือคิดเป็น 154.68% ของเป้าหมายเดิม ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นข้างต้น ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่ นพ.ชลน่าน ได้เสนอไว้เมื่อวันที่ 30 ต.ค. โดยกระทรวงสาธารณสุข เร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ “มาตรการส่งเสริมการมีบุตร” ทั้งเรื่อง ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยากและการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด-สาวโสดที่อยากมีลูก แต่ไม่อยากมีครอบครัว ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งแนวทางส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนในเวลากลางวัน สำหรับครอบครัวที่พ่อแม่ออกไปทำงาน (หลายบริษัทที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย คนทำงานมีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพมากกว่าไม่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย เนื่องจากพ่อแม่ทำงานได้เต็มที่ไม่ต้องพะวงกังวลใจเรื่องดูแลลูกในช่วงเวลาทำงาน)
หรือการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาระมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะสตรีที่อายุยังน้อย ของ พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ที่ต้องการให้กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรื่องการมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้นในอายุที่น้อยลงรวมถึงมี Child Care ในทุกบริษัท, หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ อาจช่วยลดประเด็นบทบาทที่ขัดกันระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงดูบุตรได้ ซึ่ง Child Care เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ไม่ถือว่าสิ้นเปลือง
อย่างไรก็ตาม อีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ได้คำนึงถึง อาจเกิดจากพลังของ “ปีมังกร” ในปี พ.ศ.2567 นี้ โดยจาก “ความเชื่อของชาวจีน” ที่ได้มีการเขียนไว้ในตำรานักษัตรโบราณระบุไว่า “เด็กเกิดปีมังกร จะมีลักษณะสง่าผ่าเผย มีความเป็นผู้นำสูง มีความมุมานะ อดทนต่อความยากลำบาก อีกทั้งจะมีเรื่องของโชคลาภทั้งการเงิน การงาน และความรัก” ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันเริ่มต้นเข้าสู่ปีมังกรอย่างเป็นทางการ
“จากสถิติจำนวนการเกิดโดยจำแนกตามปีที่เกิด ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2493-2566 จะพบว่าในปี พ.ศ.2507 ที่มีจำนวนคนเกิดเยอะมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ประเทศไทย เป็นจำนวน 1,212,162 คน ก็เป็นปีมังกรเช่นเดียวกัน” นอกจากนี้เมื่อดูที่เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ของอัตราการเกิดย้อนหลังในระยะ 2 ปี ยังพบว่าเมื่อถึงปีมังกรหรือหลังจากปีมังกรจะมีแนวโน้มที่จำนวนเด็กเกิดใหม่จะสูงขึ้นในทุกครั้ง
เด็กเกิดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช่วงปีมังกร เพียงพอหรือไม่ที่จะกอบกู้วิกฤตการตายมากกว่าเกิดของไทย คงต้องรอข้อมูลการเกิดและการตายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-ตุุุลาคม พ.ศ.2567 ว่าสถานการณ์เกิดมากกว่าตายของประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 จะมีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่จากแผนการดำเนินงานตามวาระแห่งชาติ จากความร่วมมือของกระทรวงต่างๆ รวมทั้งสมาคม เอกชน และจากปีมังกรตามที่กล่าวแล้วข้างต้น!!!
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี