อว.ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า ศูนย์ FTCDC ม.ราชภัฏอุดรฯ ภายใต้โครงการ พลิกโฉมมหาวิทยาลัย
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำทีมโดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการโครงการ Reinventing University พร้อมด้วยคณะ ตรวจเยี่ยมและลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (รอบ 12 เดือน) กลุ่ม Area Based ด้านการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) จากทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เยี่ยมชมความก้าวหน้าศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หรือ FTCDC : Fabric and Textile Creative Design Center พร้อมด้วยโครงการส่งเสริมทุนปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อรับฟังผลการดำเนินโครงการ ฯ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ ฯ รวมถึงปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีมรดกทางวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อและความศรัทธาของผู้คนในท้องถิ่นที่ยาวนาน โดยเฉพาะ เรื่องผ้าทอมือ ผ้ามัดย้อม ผ้าหมี่ขิด ที่มีความโดดเด่นมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (มรภ.อุดรธานี) ได้นำทุนปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าหมี่ขิดมาผนวกความรู้เชิงวิชาการและศึกษาต่อยอด ถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดตั้งศูนย์ทำงาน ออกแบบตัดเย็บให้เกิดความสวยงามทันสมัยเทียบเท่าสากล ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์และยกระดับรายได้ของเศรษฐกิจในชุมชน อีกทั้งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับทั้งภาครัฐ เอกชน ดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งช่วยเหลือท้องถิ่นจังหวัด ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ที่ดีของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ส่วนท้องถิ่น และประชาชน
ทาง มรภ. อุดรธานีได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ : FTCDC เพื่อการศึกษารวบรวมวัฒนธรรมภูมิปัญญา องค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองในจังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนซึ่งครอบคลุมไปถึงวัฒนธรรมของสปป.ลาว มีการพัฒนากระบวนการผลิตเส้นใยและใช้สีย้อมจากธรรมชาติ เกิดการยกระดับและสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายในศูนย์ยังประกอบไปด้วยพิพิธภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอีสานและแหล่งเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์และการเผยแพร่วัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ผ้าทอพื้นเมืองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมเส้นใย/สีย้อมจากธรรมชาติ และมีศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐานเส้นใยและผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองที่มีมาตรฐานสำหรับบริการกลุ่มชุมชน ผู้ประกอบการผลิตผ้าทอพื้นเมือง นอกจากนั้นยังมีการเผยแพร่องค์ความรู้วัฒนธรรมภูมิปัญญาและผ้าทอพื้นเมือง สนับสนุนพันธกิจของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่ออนุรักษ์ สร้างสรรค์ พัฒนาผ้าทอพื้นเมืองให้ลูกหลานได้ศึกษาและสืบทอดต่อไป
หลังจากนั้น คณะ สป.อว.ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านเดื่อ อ.เมือง จ.หนองคาย เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพกำลังคนสร้างสรรค์ด้านแฟชั่น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในชุมชนบ้านเดื่อ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง มีสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มคือ ผ้ามัดย้อม และผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมสีจากต้นมะเดื่อซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในพื้นที่ มีกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันในด้านต่างๆ สามารถรับรองนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี มีร้านจำหน่ายสินค้าผ้าทอ ที่เกิดจากการร่วมมือกันของสมาชิกในชุมชน มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนหลายแห่ง และยังมีการจำหน่ายสินค้าที่มีมะเดื่อเป็นส่วนประกอบหลักในรูปแบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังได้สัมผัสถึงกลิ่นไอของอาหารพื้นบ้าน (Gastronomy Food) จากการพัฒนาเมนูอาหารพื้นถิ่นจากปลานิลแม่น้ำโขงอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี