“23 พ.ค. 2567” เป็นวันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติรับคำร้องจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน หรือ“40 สว.” ให้ตรวจสอบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก พิชิต อาจเข้าข่ายขาดคุณสมบัติไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ ซึ่งต้องบอกว่า นี่คือ “เรื่องร้อนๆ ทางการเมือง”ในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. 2567 เลยทีเดียว
โดยนับตั้งแต่มีข่าวว่า 40 สว. ได้ร่วมกันลงชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เหมาะสมหรือไม่?” เพราะดำเนินการกันภายหลังวันที่ 10 พ.ค. 2567 อันเป็นวันที่สว. ชุดปัจจุบันหมดวาระ รวมถึงตั้งข้อสังเกตไปจนถึงว่า “มีความพยายามล้มรัฐบาลหรือเปล่า?” ขณะที่ พิชิต ชื่นบาน ซึ่งถูก 40 สว. ยื่นคำร้องสอบเรื่องคุณสมบัติไปพร้อมกับนายกฯ เศรษฐา ในช่วงก่อนเที่ยงของวันที่ 21 พ.ค. 2567 ก็ประกาศว่าพร้อมให้ศาลรัฐธรรมนูญพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่อง “คดีถุงขนม 2 ล้าน” ที่คาใจมาตลอดสิบกว่าปี
แต่ท้ายที่สุด ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พิชิต ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุในหนังสือลาออกทำนองว่า ไม่ต้องการให้ปัญหาของตนกระทบกับการทำหน้าที่ของนายกฯ เศรษฐา กระทั่งในวันที่ 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีมติรับคำร้องในส่วนของ เศรษฐา ทวีสิน ไว้พิจารณา แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ขณะที่ในส่วนของ พิชิต ชื่นบาน ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับไว้พิจารณา เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์”ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 หรือ 2 วันก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง ดิเรกฤทธิ์เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งเป็น 1 ใน 40 คนที่ร่วมลงชื่อดังกล่าว ว่า แม้โดยหลักจะเป็นเรื่องคุณสมบัติของนายพิชิต แต่ที่ต้องพาดพิงไปถึงนายกฯ เศรษฐาด้วย เพราะ พิชิต ชื่นบาน จะไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ หาก เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯ ไม่ลงนามเสนอชื่อจนได้รับโปรดเกล้าฯ
ซึ่งนายพิชิต มีปัญหาเรื่องเคยถูกศาลสั่งจำคุก และมีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์สุจริตขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม คำถามคือ “นายกฯเศรษฐา ใช้วิธีที่รอบคอบอย่างไรในการเลือกนายพิชิตมาทำงาน มีคนตั้งหลายคนให้ท่านเลือกทำไมไม่เลือกในขณะที่บุคคลคนนี้มีการตั้งข้อสังเกต มีข้อทักท้วง” แล้วนายกฯ แก้ไขปัญหาอย่างไรจากข้อทักท้วงเหล่านั้น ได้รับฟังข้อทักท้วงและทำให้หายซึ่งข้อสงสัยทุกประเด็นแล้วหรือยัง
โดยหากนายกฯ ไม่ได้มีความสุจริตที่จะตั้งด้วยความรอบคอบให้เกิดประโยชน์กับประชาชน หรือบกพร่องปล่อยให้คนอื่นมาใช้ตำแหน่งของท่านไปหาประโยชน์ หากดูตามข้อบัญญัติในมาตรฐานจริยธรรม นายกฯเศรษฐา เข้าข่ายที่ควรจะต้องถูกตรวจสอบด้วย ฉะนั้นจึงต้องพ่วงตามเข้ามาถึงความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ไม่ว่านายกฯ เศรษฐา หรือนายพิชิตก็ตาม ตรงกันข้ามเป็นการช่วยทั้ง 2 คนเสียด้วยซ้ำไป
“เรื่องที่เขากล่าวหาท่าน อคติต่อท่าน ข้อมูลไม่ครบถ้วนทางสังคม ทางเวทีชุมนุม ให้ศาลตัดสิน ศาลสามารถไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริง เอาข้อมูลมาทั้งหมดได้ ตัดสินแล้วเป็นที่ยุติ ท่านก็จะได้สง่างามงดงาม ก็สามารถนำพาประเทศไปได้ ประชาชนก็จะสนับสนุนท่าน แล้วก็พร้อมร่วมมือขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมๆ กับรัฐบาล มันไม่ดีหรือ? ดีกว่าปล่อยให้คนสงสัย ดีกว่าปล่อยให้คนหมิ่นท่าน กล่าวหาท่าน อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นผมคิดว่ามันเป็นประโยชน์” สว.ดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ประการต่อมา กรณีที่มี สว. บางคน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของ 40 สว. เช่น วันชัย สอนศิริ ที่บอกว่า สว. ชุดปัจจุบันหมดวาระไปแล้ว สว.ดิเรกฤทธิ์ ชี้แจงว่า สว. ชุดปัจจุบันยังไม่หมดหน้าที่ ยังรับเงินเดือนและค่าตอบแทนอยู่นายวันชัยเองก็รับ ดังนั้นอะไรที่ทำตามหน้าที่ได้ก็ควรทำ อีกทั้งในเนื้อหาก็บอกชัดเจน ว่ารัฐบาลควรเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม อะไรที่สุ่มเสี่ยงทำผิดรัฐธรรมนูญก็ควรให้องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยตรวจสอบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน
ซึ่งที่บอกว่าหมดหน้าที่ไปแล้ว จริงๆ ยังไม่หมด รัฐธรรมนูญมาตรา 111 บอกว่าสภาสิ้นสุดลง อายุของสมาชิกสิ้นสุดลงตามสภานั้นเอง ก็คือเมื่อครบ 5 ปี เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 อย่างไรก็ดี มาตรา 111 ก็บอกว่าให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี สว. ชุดใหม่ขึ้นมารับงานแทน แปลว่ารัฐธรรมนูญบอกให้ทำหน้าที่ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ในเมื่อนายวันชัยไม่ได้ร่วมลงชื่อก็ไม่เป็นไร ก็เคารพในความเห็นต่าง ก็เป็นธรรมชาติของผู้แทนปวงชนอยู่แล้ว สว. ก็ไม่ได้เห็นด้วยกันทุกเรื่อง แต่อย่างที่บอกว่า 1.ถ้าหมดอายุแล้วไม่ควรทำอะไร ควรกลับไปเลี้ยงหลาน อันนี้ตนก็ไม่เห็นด้วย
2.เรื่องนี้ไปสร้างปัญหาให้บ้านเมืองหรือไม่ คือไม่ทำให้ สว. ได้ประโยชน์แต่กลับทำให้ดูเหมือนเป็นปัญหากับบ้านเมือง เพราะล้มรัฐบาลไปก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากการเมืองยังอยู่ในมือพรรคเพื่อไทยอยู่ดีในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ตนก็ไม่เห็นด้วยที่จะกล่าวหากันอย่างนั้น เพราะเจตนาของพวกตนคือต้องการให้กติกาบ้านเมืองเดินไปได้ ระบบนิติรัฐที่ต้องเคารพกฎหมาย ระบบรัฐสภาที่การทำหน้าที่เป็นที่ยอมรับและพึ่งได้ เพื่อให้คนไม่ต้องออกไปอยู่กันบนท้องถนน ส่วนที่นายวันชัย บอกว่าสิ่งที่ 40 สว. ทำไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในขณะที่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากให้ทำ นายวันชัยก็ไม่ได้บอกว่าเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกว่าเรื่องนี้คืออะไร
“ผมค่อนข้างไม่เห็นด้วยกับความเห็นท่านนะ แต่เราเคารพกัน แล้วผมไม่เคยว่าท่านสร้างปัญหาหรือความเห็นท่านผิดหรือถูกอย่างไร ซึ่งท่านไม่ลงชื่อกับเรา เรา
ไม่จำเป็นต้องใช้เครดิตใครมาทำให้เรื่องเราถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่ละคนก็มีเอกสิทธิ์ แต่ละคนก็มีสิทธิ์ที่จะทำหน้าที่ของเรา เราต้องเคารพกัน ผมก็ไม่เคยวิจารณ์ว่าการทำของท่านไม่ดีอย่างไร ผลงานท่านเป็นอย่างไร ท่านทำอะไรให้วุฒิสภาบ้าง ผมก็ไม่เคยโต้กลับ แต่ขณะนี้ท่านกล่าวหาผมนะว่าผมไปสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติบ้านเมือง” สว.ดิเรกฤทธิ์กล่าวถึง สว.วันชัย
ส่วนกรณีที่ในคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีการพาดพิงไปถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สว.ดิเรกฤทธิ์ อธิบายว่า เรื่องนี้เป็นการบรรยายเหตุการณ์ เพื่อให้นายกฯเศรษฐา ได้อธิบายว่า ท่านได้ใช้ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้ให้บุคคลอื่นมาใช้ตำแหน่งหน้าที่ของท่านหาประโยชน์ และท่านได้ตัดสินใจบริหารประเทศด้วยความเป็นอิสระ ในฐานะนายกฯ ที่ได้รับความไว้วางใจมา ซึ่งเมื่อมีข้อกล่าวหามา ก็ต้องนำพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาอธิบาย
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวว่า นายกฯ เศรษฐา จะตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในเวลานั้นก็จบลงด้วยการไม่แต่งตั้ง แต่ต่อมาก็มีเหตุการณ์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง มีภาพปรากฏในสื่อ กรณีไปพบนายทักษิณ และนายเศรษฐาก็ยังให้สัมภาษณ์ว่าได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ก่อนจะมาถึงเหตุการณ์ตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องอธิบายว่าเหตุการณ์ที่ว่ามานี้เกี่ยวข้องหรือไม่อย่างไร เรื่องนี้ก็อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นไต่สวนด้วยเหมือนกัน
“ให้ท่านปฏิเสธว่าไม่มีใครมาครอบงำ ทำโดยสุจริต แล้วก็ดีที่สุดแล้วกับประเทศชาติที่ควรจะตั้งคนนี้ แม้ว่ามีมลทิน มีปัญหาอะไรก็ตาม ท่านอธิบายได้ ท่านได้ตรวจสอบ
แล้ว และคนนี้มีความรู้ความสามารถที่จะมาช่วยงานมอบงานให้ด้านไหนอย่างไร ตรงนี้เรามาทะเลาะกันไม่มีประโยชน์และไม่มีข้อยุติ ก็ควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญท่านได้วินิจฉัยออกมา” สว.ดิเรกฤทธิ์ กล่าว
กลับไปที่ความเห็นของ สว.วันชัย สอนศิริ ที่มองว่า แม้การกระทำของ 40 สว. ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะพรรคเพื่อไทยก็ยังมีแต้มต่อมากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ดีในปัจจุบัน ประเด็นนี้ สว.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า สว.วันชัย มองในมุมทางการเมือง แต่สำหรับตนคืออยากให้บ้านเมืองอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ อะไรที่ไม่ถูกเราก็ทำหน้าที่ในส่วนของเรา ส่วนผลจะไปกระทบใคร ในรัฐธรรมนูญก็มีกลไกแก้ปัญหาอยู่ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนยอมรับกฎหมาย ยอมรับองค์กรที่ทำงาน
มองต่อไปข้างหน้า..หากท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน ต้องหลุดออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สว.ดิเรกฤทธิ์ ระบุว่า “ในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะเป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับ สว. อีกต่อไป” เพราะตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุช่วงเวลาไว้ว่า 5 ปีนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งครบไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา
“หลัง 10 พฤษภา (2567) เราไม่ได้ทำหน้าที่ตามบทเฉพาะกาลอยู่แล้ว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของ สส. ก็ดี สส.ประชาชนเลือกมา คราวนี้เดิมทีที่รังเกียจการใช้อำนาจ สว. ไม่จำเป็นหรอกเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ปกติ ตอนนี้ก็เป็นปกติแล้ว สมมุตินะถ้าคิดอย่างนั้น สว. ก็ไม่ได้ไปร่วมเลือก แล้วก็เอาจำนวน สส.ข้างมากนี่แหละในการที่จะตั้งนายกฯ คนใหม่ ก็มีกติกาอยู่แล้ว บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อยดี ก็มีกลไกอยู่แล้ว ไม่มีความขัดแย้งอะไร” สว.ดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ส่วนประเด็นที่ว่า หากนายเศรษฐาหลุดจากตำแหน่งนายกฯ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จากคนของพรรคเพื่อไทยไปเป็นคนของพรรคอื่นที่ร่วมรัฐบาลปัจจุบันด้วยกัน หรือแม้แต่การเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยอาจย้ายไปจับมือกับพรรคก้าวไกล สว.ดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้พ้นวิสัยของตนไปแล้วที่จะคิด แต่หากอธิบายในเชิงหลักการทางกฎหมายก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเรื่องของ สส. แต่ทีนี้ สส. จะจับกลุ่มอย่างไรที่จะได้เสียงข้างมาก จะรวมจัดตั้งรัฐบาลอย่างไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
“ก็ไม่มีปัญหา ปล่อยให้ทุกคนได้ทำตามกติกา ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญกำหนดได้” สว.ดิเรกฤทธิ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี