ที่นี่จันดุม ไม่น้อยหน้า จันทบุรี! วัดห้วยอุดม ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ เปลี่ยนป่าช้าเป็นสวนผลไม้ นำร่องชวนชาวบ้านปลูก มีทั้งเงาะ ทุเรียน มะไฟ ส้มโอ และไม้ผลนานชนิด พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน ให้มาลองชิมก่อน ติดใจค่อยซื้อ รสชาติดีไม่แพ้ผลไม้เมืองจันทบุรี ถึงขั้นจองข้ามปี ไม่ง้อตลาดส่งออก เงาะหวาน กรอบ ร่อน ส่วนทุเรียนเนื้อเนียนนุ่มดุจคัสตาร์ด หวาน หอม ละมุนลิ้น สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นอย่างดี
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการเปิดสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน ขึ้นที่วัดห้วยอุดม ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ และที่หมู่บ้านห้วยอุดม หมู่ที่ 9 ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ ในนาม ‘กลุ่มไม้ผลบ้านห้วยอุดม’ ซึ่งทางวัดและชาวบ้าน ได้ร่วมจัดทำขึ้น โดยตอนนี้มีผลไม้ที่ทางวัดกับชาวบ้าน ร่วมกันปลูกไว้ในป่าช้าบนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ กำลังให้ผลผลิตออกสู่ท้องตลาด มีทั้งเงาะโรงเรียน มะไฟ ส้มโอ และทุเรียนที่กำลังจะได้เก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้
โดยได้มีประชาชนและนักท่องเที่ยว ทั้งในเขตพื้นที่ อ.พลับพลาชัย อำเภอใกล้เคียง รวมถึงต่างจังหวัดเดินทางมาเที่ยวชมสวนผลไม้ และซื้อผลไม้นำไปฝากครอบครัว ญาติมิตร และมีพ่อค้ามาซื้อนำไปขายต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งจะทำการเก็บเงาะด้วยตนเอง เมื่อเก็บได้ตามปริมาณจนที่พอใจแล้ว จึงนำมาชั่งที่ตาชั่งที่ทางวัดจัดไว้ให้ และจ่ายเงินให้กับทางวัด โดยจะจำหน่ายเงาะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 40 บาท 3 กิโลกรัม 100 บาท
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ปลูกเงาะและผลไม้ แต่เดิมเป็นป่าช้า ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2558 ได้มีพระรูปหนึ่งมาจาก จ.ศรีสะเกษ มาจำพรรษาอยู่ที่วัด เล็งเห็นว่าพื้นที่ตั้งของวัด และหมู่บ้านห้วยอุดม เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ดี และมีแหล่งน้ำคือลำห้วยตะแบก ไหลผ่านพื้นที่ น่าจะเพาะปลูกพืชได้ผลดีเหมือนกับที่ จ.ศรีสะเกษ จึงได้ทำการรื้อถางป่าช้าข้างวัดประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แล้วซื้อต้นพันธุ์เงาะโรงเรียนและไม้ผลชนิดต่างๆมาทำการเพาะปลูก กระทั่งเติบโตให้ผลผลิตและมีรสชาติหวานอร่อย เนื้อร่อน ไม่ติดเมล็ด จึงได้หารือกับทางผู้นำชุมชนและชาวบ้าน แล้วนำพื้นที่ว่างเปล่าของทางวัดรวมกว่า 40 ไร่ อยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด มาแบ่งจัดสรรให้ชาวบ้านครัวเรือนละ 1-2 งาน รวมมีสมาชิกกว่า 60 ครัวเรือน
ทำการเพาะปลูกพืช โดยเฉพาะไม้ผล ซึ่งมีทั้งเงาะโรงเรียน มะไฟ ทุเรียน รวมถึงมีการปลูกพืชผักสวนครัวอื่นแซม ในรูปแบบสวนเกษตรผสมผสานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม้ผลที่ชาวบ้านปลูกได้ให้ผลผลิตมาแล้วประมาณ 4-5 ปี และได้มีการจัดตั้งเป็น ‘กลุ่มไม้ผลบ้านห้วยอุดม’ รวมถึงพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการเกษตร ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน ซึ่งชาวบ้านยังได้มีการขยายผลนำแนวคิดความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดปลูกผลไม้ลงในพื้นที่ดินว่างเปล่ารอบตัวบ้าน และเทือกสวนไร่นา จนทำให้หมู่บ้านห้วยอุดม ต.จันดุม อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์ เป็นที่รู้จักว่าเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านของ จ.บุรีรัมย์ ที่ได้มีการปลูกผลไม้ และประสบผลสำเร็จ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
พระอธิการ สมกอง กิตฺติโสภณฺ เจ้าอาวาสวัดห้วยอุดม บอกว่า เมื่อหลายปีมาแล้วได้มีพระสงฆ์มาจาก จ.ศรีสะเกษ มาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านห้วยอุดมแห่งนี้ ซึ่งเมื่อก่อนเป็นเพียงสำนักสงฆ์ห้วยอุดม แล้วท่านเล็งเห็นว่าบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ดินมีความอุดมสมบูรณ์ดี และมีแหล่งน้ำไหลผ่านในพื้นที่ จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกผลไม้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ นอกเหนือจากการปลูกข้าว ซึ่งวัดได้ทำเป็นตัวอย่าง โดยการปรับเนื้อที่ป่าช้าประมาณ 10 ไร่ แล้วไปซื้อต้นพันธุ์มาทำการทดลองปลูก ซึ่งมีทั้งเงาะ ลำไย มะไฟ ทุเรียน และกะท้อน เป็นต้น
เมื่อมีผลผลิตออกมาก็มีรสชาติดี จึงได้หารือร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน พร้อมแนะนำให้ชาวบ้านมาร่วมกันปลูกผลไม้ โดยทางวัดได้จัดสรรพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัดให้กับชาวบ้านคนละแปลงๆ 1-2 งานต่อครอบครัว รวมถึงปัจจุบันชาวบ้านก็ได้มีการขยายผล ไปปลูกยังพื้นที่สวนและพื้นที่ว่างในครัวเรือน โดยในหน้าผลไม้ของทุกปีหลังจากเริ่มให้ผลผลิต ทางวัดกับชุมชนก็ได้เปิดสวนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมสวนและชิมผลไม้ในสวนฟรี ทำให้มีผู้ติดใจในบรรยากาศ และรสชาติของผลไม้ จึงได้ซื้อติดไม้ติดมือไปฝากครอบครัวและญาติมิตร ทำให้ทางวัดและชาวบ้าน มีรายได้จากการขายผลไม้ เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 10,000-30,000 บาท
เจ้าอาวาสวัดห้วยอุดม ยังได้เชิญชวนญาติโยมที่ชอบการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้มาเที่ยวชมแวะชิมผลไม้ ที่ทางวัดและชาวบ้านห้วยอุดม ได้ปลูกไว้มีทั้งเงาะ มะไฟ ลำไย และทุเรียนที่ใกล้จะได้เก็บผลผลิต ไม่ต้องไปไกลถึงจันทบุรี ที่จันดุมก็มีไม่ต่างกัน
ด้าน นายวีระชัย วายประโคน ผู้ใหญ่บ้านห้วยอุดม หมู่ที่ 9 ต.จันดุม อ.พลัพบพลาชัย จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่าชาวบ้านกว่า 60 ครัวเรือน ได้รวมกลุ่มกันปลูกเงาะ ปลูกทุเรียน ปลูกมะไฟ และผลไม้ชนิดอื่นๆ หลังจากที่ได้เห็นทางวัดบ้านห้วยอุดม ทำขึ้นมาจนเห็นผลเป็นรูปธรรม นอกจากปลูกในพื้นที่วัดจัดสรรให้แล้ว ก็ยังได้ต่อยอดไปปลูกตามพื้นที่ของบ้านเรือน และเมื่อมีผลผลิตออกมาชาวบ้านสามารถก็เก็บไปขาย สร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี เฉลี่ยหลักหมื่นบาทต่อหน้าผลไม้ เพราะในหน้าผลไม้แต่ละปี จะมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ทั้งในพื้นที่ อ.พลับพลาชัย อำเภอใกล้เคียง รวมถึงต่างจังหวัดเดินทางมาเที่ยวชมสวน และเก็บผลไม้ด้วยตัวเอง ซื้อเองถึงสวน รวมถึงชาวบ้านเก็บไปขายส่งตามออเดอร์ที่มีการสั่งมาในแต่ละวัน
ขณะที่ นางสุพันธ์ พรหมทา กับนางนารีรัตน์ กุยแก้ว สมาชิกกลุ่มไม้ผลบ้านห้วยอุดม บอกว่านอกจากจะปลูกในพื้นที่ที่ทางวัดจัดสรรให้แล้ว ยังได้นำไปต่อยอดปลูกในพื้นที่ว่างรอบตัวบ้าน จนทำให้บ้านตอนนี้กลายเป็นบ้านสวนไปแล้ว เนื่องจากมันสร้างรายได้เป็นอย่างดีจากการขายผลไม้ ซึ่งมีทั้งเงาะ และทุเรียน ที่ปลูกไว้อย่างละประมาณ 10 กว่าต้น และยังมีไม้ผลชนิดอื่นอีก ในรูปแบบสวนเกษตรผสมผสาน ซึ่งได้ผลผลิตมาแล้ว 4-5 ปี สร้างรายได้จากการขายเงาะไม่ตน้อยกว่า 1-3หมื่นบาท และทุเรียน 1-3 หมื่นบาทต่อฤดูกาล ซึ่งตอนนี้เงาะก็ได้ทยอยเก็บขายทุกวัน และแทบไม่พอขาย เนื่องจากมีขนาดที่พอคำ รสชาติหวานอร่อยกำลังดี เปลือกบาง เนื้อแน่น ร่อน ไม่ติดเมล็ด ส่วนทุเรียนของที่นี่ก็มีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะ คือ เปลือกไม่หนา พูใหญ่ กลิ่นหอม หวานกำลังดี ไม่ฉุนโดด เนื้อเนียนนุ่มเป็นเนื้อครีมคล้ายคัสตาร์ด ซึ่งในปลายเดือน มิ.ย.นี้ ก็จะเริ่มตัดทุเรียนขายแล้ว โดยลูกทุเรียนที่สวนส่วนใหญ่จะถูกสั่งจองล่วงหน้าเกือบหมดแล้ว
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนมาเที่ยวชมสวนผลไม้ที่วัดห้วยอุดม และบ้านห้วยอุดม มาชมสวนผลไม้ที่เป็นสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน มาชิมผลไม้สดๆ จากต้น ได้ที่จันดุม ไม่ต้องไปไกลถึงจันทบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี