นักศึกษาจาก 6 สถาบันรับทุนอเมริกาศึกษาแม่น้ำโขงพบไหปลาร้าอายุกว่า 100 ปี
วันที่ 22 มิ.ย.67 ที่บ้านปากยาม หมู่ 4 ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่แม่น้ำสงครามไหลมาบรรจบกับลำน้ำยาม และยังเป็นหมู่บ้านที่ได้ชื่อว่ามีปลาร้าหรือปลาแดกอร่อยที่สุดอีกด้วย โดย ผศ.ดร.โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วย รศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี ผศ.ดร.ณัฐนันท์ เที่ยงธรรม ดร.ธนพล พิมาน นายชัยรัตน์ ศรีโนนทอง นำคณะนักศึกษาจาก 6 สถาบัน ได้แก่มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมลงพื้นที่ในกิจกรรม “เครือข่ายคนรุ่นใหม่นักสื่อสารฮักน้ำโขง 2024 : SCIENCE AND POLICY INTERFACE YOUNG PEOPLE ENGAGEMENT IN ENVIRONMENT ACTION 2024” ระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายนที่ผ่านมา
โดยกิจกรรมดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักวิชาการไทยกับสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ "โขง สงคราม แม่น้ำ…กับเสียงคำรามที่ไม่มีใครได้ยิน" เนื่องจากแม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศจากการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 10 แห่งทำให้การขึ้นลงของระดับน้ำ ไม่เป็นไปโดยธรรมชาติ มีปลาบางชนิดเริ่มหายากและใกล้สูญพันธุ์
การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการต้อนรับจากชุมชน มีนายศุภฤกษ์ ชนะมาร หรือลุงทอง อายุ 65 ปี ปัจจุบันเป็นประธาน อสม.ต.สามผง เกริ่นนำที่มาที่ไปของหมู่บ้านปากยาม รวมถึงอาชีพหาปลาและการแปรรูป อาทิ ปลาร้า (ปลาแดก) ปลาส้ม ปลาตากแห้ง เป็นต้นโดยเฉพาะปลาร้าถือเป็นซิกเนอเจอร์ของบ้านปากยามที่ชาวบ้านนิยมทำกันทั้งหมู่บ้าน
ลุงทองเปิดเผยว่าบ้านปากยาม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสงคราม ลำน้ำที่เกิดจากการรวมตัวของลำน้ำสายอื่นๆที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพานหลายแห่ง เช่น ภูผาหัก ภูผาเพลิน ภูผาเหล็ก ผาดงก่อ ผาน้ำโจก ฯลฯ โดยไหลมาบรรจบกับลำน้ำยาม จึงเป็นแหล่งที่มีปลานานาชนิดที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงยึดอาชีพจับปลาเป็นหลัก ทั้งนี้พื้นที่รอบหมู่บ้านเป็นแอ่งกระทะ จึงเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก จนไม่สามารถจะปลูกข้าวนาปีได้ ชาวบ้านจึงหันมาปลูกข้าวนาปรังแทน ดังนั้นในหมู่บ้านจึงชำนาญในการจับปลาด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ
หลังจากนั้นลุงทองได้นำคณะนักศึกษาทั้ง 6 สถาบันไปชมสาธิตการทำปลาร้าและปลาตากแห้งที่บ้านของนางสีระวรรณ สุกสัตย์ อายุ 55 ปี ซึ่งมีไหปลาร้าตั้งเรียงรายเกือบ 10 ใบโดยนางสีระวรรณเผยว่ารับช่วงการทำปลาร้าจากพ่อแม่ ถือเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ไหบรรจุปลาร้าหลายใบ เป็นมรดกจากปู่ย่าตายาย อายุไม่น้อยกว่า 100 ปีทุกวันนี้ยังใช้การได้ดี สำหรับปลาร้าทำมาจากปลาเนื้ออ่อน ใช้เกลือจากบ่อเกลือแถบลุ่มน้ำสงคราม หมักไม่ต่ำกว่า 1 ปีก็สามารถนำออกมาจำหน่ายได้ โดยบรรจุในกระปุกพลาสติก ติดสติ๊กเกอร์บ่งบอกแหล่งที่มาชัดเจน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวพักผ่อนทางน้ำ นิยมซื้อเป็นของฝากประจำ แต่ปัจจุบันปลาเริ่มหายาก ทราบจากผู้มาศึกษาดูงานว่าระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง
สำหรับวิถีคนหาปลาของหมู่บ้านปากยามชาวบ้านนิยมผูกเป็นแพ เว้นตรงกลางเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำกรงเหล็กขนาดพอดีช่อง นำหนามไม้ไผ่ใส่ลงไป ใช้รอกจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มัดเชือกหัวท้ายหย่อนลงไปใต้น้ำ แล้วโรยเหยื่อล่อปลาเข้ามากิน ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ถึงจะยกขึ้นมา ปัจจุบันระบบนิเวศน์เปลี่ยนแม่น้ำโขงไม่พอหนุนเสริมไหลเข้าแม่น้ำสงคราม ทำให้บ้านปากยามหาปลายากกว่าในอดีตมาก
ทั้งนี้ แม่น้ำโขงเป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงประชากรแถบลุ่มน้ำ หลายประเทศในทวีปเอเชียกว่า 60 ล้านคนจึงได้ชื่อว่าแม่น้ำนานาชาติจากสถานการณ์ในปัจจุบันจะเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง โดยพลเมืองกลุ่มเยาวชนจาก 6 สถาบันจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่แม่น้ำโขงในปัจจุบันและอนาคตจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาเครือข่ายคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักรู้ และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและแนวทางการป้องกันผลกระทบที่กำลังเผชิญอยู่ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ช่วยให้เกิดการพัฒนาของนักวิชาการในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนางานวิชาการร่วมกัน รวมทั้งได้พัฒนากลุ่มเยาวชนจากหลายสถาบันให้เข้ามาเรียนรู้ พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำโขงให้เกิดทักษะในการจัดทำสื่อ เผยแพร่เนื้อหาแก่สาธารณะ เกิดการอนุรักษ์แม่น้ำโขงให้คงไว้ซึ่งระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี