ศูนย์มินิธัญญารักษ์ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล อ.โพนสวรรค์ นครพนม นำร่องในการฟื้นฟูบำบัดผู้ป่วยทาสยาเสพติดตามนโยบายของรัฐบาล โดยศูนย์แห่งนี้เป็น 1 ใน 3 แห่งจาก 12 อำเภอของจังหวัดถือเป็นความหวังสุดท้ายของครอบครัวผู้เสพยาเสพติดที่ป่วยจากการเสพยาทั้งยาบ้าและกัญชา บางรายมีประวัติเสพมานานกว่า 10 ปีจนมีอาการทางประสาท
ทั้งนี้ โรงพยาบาลโพนสวรรค์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณมาจำนวนหนึ่งใช้ระยะเวลาการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยประมาณ 30-90 วันจำนวนรุ่นละ 150 คนและต้องใช้งบรุ่นละประมาณ 5 แสนถึงหนึ่งล้านบาท ปัจจุบันบำบัดฟื้นฟูมาแล้ว 9 รุ่นรวมกว่า 1,000 คน ถึงแม้จะไม่มีงบเพียงพอต่อความต้องการ แต่ยังคงต้องเดินหน้าดำเนินการต่อ ซึ่งทางรัฐบาลให้เบื้องต้นรายละประมาณ 30,000 บาทต่อหัวหากไม่เพียงพอ็ต้องไปขอหน่วยงานท้องถิ่นสนับสนุน ปัจจุบันมีคิวผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัด โดยส่งมาจากพื้นที่ 12 อำเภอรวมกว่า 1,500 ราย
สอบถามนายหม่ำ (นามสมมติ) อายุ 33 ปีผู้ป่วยทาสยาเสพติด เล่าให้ฟังว่าเสพยาบ้ามานานกว่า 10 ปีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเพื่อนฝูง โดยเริ่มต้นเข้าวงจรอุบาทว์ ด้วยการเสพกัญชายิ่งปัจจุบันกัญชาหาเสพง่าย ถือเป็นต้นเหตุให้เยาวชนหันไปเสพมากขึ้น และก้าวสู่การเสพยาบ้าตามลำดับ เพราะเดี๋ยวนี้ยาบ้าแถบชายแดน มีราคาถูกเพียงเม็ดละ 20-30 บาท บางคนได้เงินจากการลักขโมยก็ซื้อมาแจกเพื่อนเสพฟรีๆ สุดท้ายคิดได้ไม่มีอะไร ดี สมองเลอะเลือน อยากเลิกแต่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง จึงอยากเข้ามาบำบัด มั่นใจว่าจะเลิกได้ เพราะรู้ถึงผลกระทบแล้ว รวมทั้งทำให้ครอบครัวแตกแยก
นางแสงเดือน ศรีวรสาร พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าศูนย์ธัญญารักษ์ โรงพยาบาลโพนสวรรค์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ามารักษา ส่วนใหญ่มาจากฝ่ายปกครองคัดกรอง และคุมตัวมาบำบัดฟื้นฟู พวกที่สมัครใจมีส่วนน้อย บางรายก่อนที่จะถูกส่งมารักษาที่โรงพยาบาล มีพฤติกรรมก่อความรุนแรงในครอบครัว ในการบำบัดของศูนย์มินิธัญญารักษ์ จะฟื้นฟูรักษาตามกระบวนการ ทั้งการดูแลสุขภาพทางจิตใจ ในห้วง 30-90 วัน หลังการบำบัดยอมรับว่า จากการติดตามประเมินผล มีผู้ป่วยเกินครึ่งหวนกลับไปทำผิดซ้ำอีก ส่วนใหญ่ยอมรับมีปัญหาจากสิ่งแวดล้อม สังคม สำคัญที่สุดทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มจากครอบครัว ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล รวมถึงสังคมต้องให้โอกาสผู้หลงผิด
นายนิพพิชฌน์ อตินวรรตน์ นายอำเภอโพนสวรรค์ เปิดเผยว่า สำหรับศูนย์ธัญญารักษ์ โรงพยาบาลโพนสวรรค์ จ.นครพนม สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ถือเป็นสถานที่นำร่อง 1 ใน 3 อำเภอของ จ.นครพนม มี อ.โพนสวรรค์ อ.นาหว้า และ อ.ธาตุพนม ถือว่าเป็นความหวังของสังคม รวมถึงของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว ทาสยาบ้าที่ผ่านบำบัดฟื้นฟู ส่งคืนผู้ป่วยกลับสู่อ้อมกอด และคืนคนดีแก่สังคม ต้องยอมรับว่า ยังมีปัญหาเรื่องสถานที่ รวมถึงงบประมาณ
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเป็นหน่วยงานหลักและมีฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมสนับสนุน แต่ละเดือนต้องยอมรับว่าสูญงบประมาณเดือนหนึ่งนับล้านบาท แต่ยังไม่สามารถการันตีได้ว่า จะสามารถบำบัดได้ทุกราย เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน สิ่งสำคัญอยากให้รัฐบาล สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ ไม่เพียงแค่บำบัดเท่านั้น จะต้องควบคู่กับการปราบปราม เพราะยาเสพติดหาง่าย รวมถึงกลุ่มคนว่างงาน สภาพแวดล้อม บำบัดแล้วสังคมไม่ยอมรับ ทำให้กลับไปทำผิดซ้ำอีก ฝากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยสนับสนุนแก้ไขปัญหา ถือเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือสังคม ที่สำคัญบางอำเภอยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ เพราะต้องใช้พื้นที่เยอะ เพื่อรองรับคนกว่า 100 คนเข้าบำบัดฟื้นฟู - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี