18 มิ.ย. 2567 เป็นวันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีกำหนดพิจารณาคดีสำคัญทางการเมือง ไล่ตั้งแต่ 1.กรณีศาลปกครอง ส่งความเห็นของผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง (3) มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (3) และมาตรา 42 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
2.คดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งสืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
นอกจากนั้นยังมีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 3 ก.ค. 2567 และกำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 ก.ค. 2567 และ 3.คดีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวิสิน แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่นายพิชิตอาจเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน เป็นผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ
โดยคดีของนายกฯ เศรษฐา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 10 ก.ค. 2567
ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่วันที่ 13 มิ.ย. 2567 ว่า 1.คดีกฎหมายเลือก สว. ฟันธงได้เลยว่า “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่นอน” เพราะหากไปอ่านรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จะต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
โดยผู้ตรวจสอบมีทั้งศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองไปแล้ว แต่อีก 5-6 ปีต่อมาจะบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นประเด็นทางกฎหมายจึงจบลงเพียงเท่านี้ แต่ประเด็นทางการเมือง ต้องยอมรับว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบันที่มีอยู่ 250 คน ทุกพรรคการเมืองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรืออาจจะมีบ้าง พรรคละ 1-2 คน ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอบ 2
แต่ สว. ชุดใหม่ จะมีจำนวน 200 คน บอกเลยว่ามีคนที่มีแนวคิดต่างๆ ถูกวางตัวไว้ใน 200 คนนี้ทั้งนั้น คือทุกคนมีส่วนร่วม จึงเป็นที่มาว่าทุกพรรคการเมืองไม่ว่ากลุ่มไหนก็สมประโยชน์กับ สว. 200 คน ตนจึงมองว่าไม่มีอะไรทำให้ สว. 200 คนนี้ล้มหายตายจาก ทางที่เป็นไปได้อย่างมากที่สุดคือทำได้เพียงชะลอการประกาศรับรองผลเท่านั้น แต่ไม่มีทางล้มหรือเป็นโมฆะแน่นอน
“ทำได้อย่างมากคือดีเลย์การประกาศครบ 200 คนออกไป เพื่ออะไร? เพราะตั้งแต่วันนี้ที่เราคุยกัน จนถึงปลายปีนี้ศาลรัฐธรรมนูญท่านจะหมดวาระอยู่ 2 ท่าน ป.ป.ช. นี่เยอะสุดเลย จะหมดวาระ 4 ท่าน ที่กำลังหาค้างอยู่อีก 2 เท่ากับปีนี้ เฉพาะ ป.ป.ช. นะ 6 ท่าน แล้วก็ทราบดีว่าในแวดวงการเมือง กลไกที่จะตัดสินชีวิตนักการเมือง หลักๆ มันมีแค่ 2 กลไก คือศาลรัฐธรรมนูญกับ ป.ป.ช. แน่นอนว่าเพื่อหลักประกันทางการเมืองอย่างมีเสถียรภาพ ผู้กุมอำนาจเดิมก็ต้องปฏิบัติการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ว่างและจะหมดอายุเหล่านี้ทำให้เสร็จสิ้นเสียก่อน” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
รศ.ดร.ธนพร อธิบายเพิ่มเติมว่า วาระการดำรงแหน่งในองค์กรอิสระคือ 7 ปี จึงเป็นหลักประกันได้ระดับหนึ่งว่าระบบการเมืองในช่วงหลังจากนี้ไปไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ยังอยู่ในร่องในรอย เพราะวางตัวศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่ไว้ดังนั้นการดำรงอยู่ของ สว. ชุดเดิม ก็เพื่อจัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย แต่ไม่ถึงขนาดอยู่ยาวกันเป็นปีจนกว่าจะร่างกฎหมายสรรหา สว. ฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ และในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ในวุฒิสภาเป็นการประชุมวิปครั้งสุดท้าย และเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ ของ สว. ซึ่งทาง สว. ชุดเดิมก็เตรียมส่งมอบงานกันแล้ว
เรื่องต่อมา 2.คดียุบพรรคก้าวไกล เชื่อว่าคงมีการพิจารณาคดีกันอีกนานกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งทางพรรคก้าวไกลก็ได้หยิบยกกรณีต่างๆ รวม 9 ข้อที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ขึ้นมาพูดถึงเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 มีบัญชีที่อ้างพยานผู้เชี่ยวชาญถึง 11 คน ซึ่งศาลประชุมสัปดาห์ละ 1 วัน ไต่สวนพยานสัปดาห์ละ 1 คน ก็นับต่อไปอีกประมาณ 11 สัปดาห์ หรือราว 3-4 เดือน กว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนคำวินิจฉัยและนัดวันอ่านคำวินิจฉัย
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากศาลอื่นๆ คือตุลาการมีทั้งที่มาจากศาลปกครอง ศาลฎีกา และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อีกทั้งเจตนารมณ์ของการมีศาลรัฐธรรมนูญคือเป็นศาลทางการเมือง ดังนั้นก็จะเข้าใจบทบาททางการเมือง เช่น การลดแรงกระแทกต่อสังคม สร้างความชอบธรรมในการเขียนคำวินิจฉัย การเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลดีกับศาลรัฐธรรมนูญเองด้วย ซึ่งระยะหลังๆก็เห็นสัญญาณการปรับตัว อาทิ ในคำวินิจฉัยแต่ละคดี จะระบุด้วยว่าตุลาการท่านใดอยู่ฝั่งเสียงข้างมากหรือข้างน้อย
“ศาลรัฐธรรมนูญท่านก็เข้าใจการเมือง ผมไม่ได้บอกว่าท่านเล่นการเมืองนะ และแน่นอนว่าถ้าท่านเข้าใจการเมืองท่านก็จัดให้ เหมือนกับนักโทษประหารถึงนาทีสุดท้ายอยากทานอะไรก็ได้ทาน อยากจะไต่สวน ใช้โอกาสให้ได้มากที่สุด ศาลท่านก็เอาให้เต็มที่ เอาให้สบายใจ เวลาคำวินิจฉัยออกมาก็จะได้ไม่ต้องมาคาใจกันว่าไม่ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่อันนี้ผมคิดว่าศาลท่านเข้าใจการเมือง”รศ.ดร.ธนพร อธิบาย
มองข้ามช็อตไปถึงสถานการณ์หลังยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุดมีผู้ลงคะแนนให้ถึง 14 ล้านเสียงรศ.ดร.ธนพร ระบุว่า แม้จะมีการพูดถึงเรื่องการ “ดูดงูเห่า” หรือการที่พรรคการเมืองอื่นๆ เตรียมดึงอดีต สส. ของพรรคก้าวไกลไปเข้าร่วมกับพรรคของตนเอง แต่เรืองนี้ “ทำได้ไม่ง่าย” เพราะด้านหนึ่งเมื่อพรรคถูกยุบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีเวลา 30 วัน ในการหาพรรคการเมืองใหม่เข้าสังกัดเพื่อรักษาสถานะ สส. ไว้
แต่อีกด้านหนึ่ง บรรดา สส.สีส้ม ก็ต้องการไปต่อทางการเมือง บางคนที่บอกว่าต้องมี สส. ที่ “รับกล้วย” กันบ้าง แต่อย่าลืมว่า “ด้วยอายุของ สส.กลุ่มนี้ ยังมีเวลาอยู่บนเส้นทางสายการเมืองไปอีกหลายสิบปี ดังนั้นประเมินแล้วการเลือกรับกล้วยอย่างไรก็ไม่คุ้ม” หรือคนที่บอกว่าแบบนั้นก็ต้องทุ่มทุนแจกกันมากๆ เยอะๆ ก็ต้องถามกลับว่าทำแล้วคุ้มหรือไม่ เช่น ตั้งเป้า สส. ที่ต้องการไว้สัก 20 คน เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนคำถามว่า “ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบจะมีม็อบหรือไม่?หรือจะมีเหตุวุ่นวายหรือเปล่า?” รศ.ดร.ธนพร ให้ความเห็นว่า “พรรคสีส้มจะไม่เล่นเกมแบบนั้น เพราะสุ่มเสี่ยงสร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การรัฐประหาร” แม้จะมีปฏิกิริยาความไม่พอใจจากผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลก็ตาม อีกทั้งพรรคสีส้มเองก็เริ่มทยอยเปิดตัวผู้นำรุ่นที่ 3 ออกมาแล้ว ซึ่งจะทำงานร่วมกับแกนนำของพรรคก้าวไกลที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
และสุดท้าย 3.คดีนายกฯ เศรษฐา แต่งตั้งนายพิชิต เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ หากว่ากันตามหลักการ หากนายเศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทุกพรรคที่ส่งรายชื่อบุคคลชิงตำแหน่งนายกฯ ก็ต้องมาว่ากันใหม่ อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคก้าวไกล ที่ส่งชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค พบว่ามีปัญหาคดีชุมนุมที่สกายวอล์ก ก็ต้องตัดออกไป ดังนั้นแม้จะเปลี่ยนตัวนายกฯ แต่ก็ยังอยู่กับขั้วรัฐบาลเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสัญญาณที่ “นายใหญ่” บ่นเรื่อง “คนบ้านในป่า” ก่อความวุ่นวาย ก็คาดเดาได้ว่า พรรคเพื่อไทยคงไม่ยอมปล่อยเก้าอี้นายกฯ แน่นอน ดังนั้น “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธารชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็จะถูกชูขึ้นมา แต่ถึงกระนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ณ ปัจจุบัน นายกฯ เศรษฐายังอยู่ ยังมีอำนาจให้คุณ-ให้โทษ จึงไม่มีทางที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะไปเขียนคำให้การที่ไม่เป็นผลดีต่อนายกฯ หากเป็นแบบนี้ก็ไม่สามารถเอาผิดนายกฯได้ จึงมีโอกาสอย่างมากที่นายกฯ เศรษฐา จะรอดคดี
“รูปแบบอันหนึ่งของนายใหญ่ เวลาเขากวาดล้างเขากวาดกันเด็ดขาด หลายท่านอาจจะไม่ได้สังเกตว่าทุกวันนี้แม้กระทั่งเลยเดือนตุลามาตั้งนานแล้ว เลยเมษามาตั้งนานแล้ว ทุกวันอังคารยังย้ายข้าราชการกันอยู่เลย บางทีเราไปตื่นเต้นกับการแถลงข่าวของโฆษกเรื่องนั้นเรื่องนี้ ดิจิทัลวอลเล็ตบ้าง แต่พอข่าวเรื่องย้ายคนก็ไม่สนใจ แต่ในแวดวงราชการจะรู้ว่าทุกวันอังคารเขาย้ายกันทุกอาทิตย์ เดี๋ยวนี้ไม่มีฤดูกาลว่าย้ายเฉพาะตุลา-ย้ายเฉพาะเมษา ล่าสุดกระทรวงพลังงานก็เพิ่งย้ายกันเมื่อเดือนกุมภา ก็นอกฤดูกาล มีสลับสับเปลี่ยนกันหมด
แล้วผมจะบอกว่าระบบราชการไทย “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” เพราะใครจะมา-ใครจะไป ฉันก็ยังอยู่ รักษาตัวจนเกษียณ มีเงินบำนาญ มีเกียรติยศตามสมควร ไม่มีใครอยากเอาตัวมาเสี่ยง ฉะนั้นท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็เช่นเดียวกัน แล้วตอนนี้พยานบุคคลที่ถ้าศาลจะไต่สวน เขาก็เตรียมไว้หมดแล้ว ผมก็ทราบชื่อหมดแล้วว่าพยานบุคคลที่ฝ่ายรัฐบาลจะให้เตรียมระดับเจ้าหน้าที่ มีชื่อใครบ้าง มันก็เห็นๆ หน้ากันอยู่ ใครเป็น ผอ. สำนักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ใครเป็น ผอ.ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใครเป็นเจ้าหน้าที่ธุรกิจที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาก็เตรียมไว้หมดแล้ว” รศ.ดร.ธนพร ระบุ
ส่วนที่มีข่าวว่า นายกฯ เศรษฐา จะสู้เรื่องบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 160 ข้อ (4) และ (5) ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องนับจากวันที่ดำรงตำแหน่ง ไม่มีผลย้อนหลัง รศ.ดร.ธนพร กล่าวว่า ก็สามารถต่อสู้ได้แต่ก็ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของ สมัคร สุนทรเวช ที่ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะพยายามต่อสู้เรื่องสถานะนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเลือกตีความตามเจตนารมณ์
ดังนั้นสำหรับตนคงไม่ให้น้ำหนักเรื่องการตีความข้อกฎหมายมากนักเพราะอำนาจอยู่ที่ศาลจะตีความ แต่หากเป็นเรื่องพยานปากสำคัญ อันนี้ใช่แน่นอน อย่างการไปถามกฤษฎีกาก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับนายพิชิต เรื่องนี้เป็นเรื่องของข้าราชการประจำ และเป็นการตัดตอนนายเศรษฐาอย่างเด็ดขาด ซึ่งนายเศรษฐาก็สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ และตัวของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็ไม่ถูกลงโทษด้วย เพราะไม่อยู่ในอำนาจตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในทางตรงข้าม เผลอๆ ไม่ตนเองก็คนในครอบครัวอาจได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีก
และแม้การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่านายกฯ เศรษฐาไม่ผิด จะทำให้เกิดคำถามเรื่องการมีอยู่ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 160 ข้อ (4) และ (5) ว่าด้วยคนที่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรีจะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ว่ามีไว้เพื่ออะไร? แต่เรื่องนั้นก็ต้องไปว่ากันใหม่ในอนาคต เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจต้องเขียนให้ชัดเจนขึ้น แต่ ณ เวลานั้น นายใหญ่และนายเศรษฐาก็คงไม่สนใจแล้ว
“จำได้ไหม? ตอนนั้นผ่าน 8 ต่อ 7 (คดีซุกหุ้นของนายใหญ่) เป็นข่าวในสื่อมวลชนอยู่วันเดียวว่าเฉียดฉิว แต่หลังจากนั้นตัวเลข 8 : 7 ใม่มีความหมาย เพราะนายใหญ่เขาบอกก็เป็นแชมป์แล้ว และปรากฏว่าพอหลังจากเขารอด 8 : 7โอ้โห!..คราวนี้ก็ราพณาสูร ยึด สว. พรึ่บ! ยึด สว. เสร็จ ใครเป็นองค์กรอิสระก็ทราบดีว่าตอนนั้นถ้าไม่ได้นายใหญ่ไฟเขียวก็ไม่ได้เป็น
เพราะฉะนั้นตอนนั้นมันก็เลยได้เห็นไง คนเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เป็น ป.ป.ช. เป็น กกต. ก็เป็นคนซึ่งพูดตรงๆ ก็เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งยังไม่เกษียณ แล้วก็ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล พอสุดท้ายเกษียณก็ได้ไปเป็น ซึ่งผมก็รู้เห็นอยู่หลายท่าน ก็ไม่อยากเอ่ยถึงเพราะหลายท่านเสียชีวิตไปแล้ว หลายท่านก็เป็นที่เคารพนับถือ ตอนนี้ท่านก็เกษียณไปแล้ว ผมก็ไม่อยากจะไปพูดถึง” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี