‘มูลนิธิโครงการหลวง’ พาสำรวจเส้นทางความสำเร็จ โครงการหลวงแห่งแรก ‘สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง' กว่าจะเป็นผลิตผลไฮไลต์ในงาน ‘โครงการหลวง 55 ’ สู่ศูนย์วิจัยแห่งใหม่ ‘โครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ’ จ.เชียงใหม่
“โครงการหลวง” เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2512 ซึ่งปัจจุบันโครงการหลวง อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก มีสถานีวิจัยหลัก 4 สถานี และสถานีส่งเสริมปลูกพืชทดแทนฝิ่น เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 35 ศูนย์
ถือเป็นโอกาสที่ดี มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ได้จัดโครงการเยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการหลวง พาพวกเราทีมข่าว “แนวหน้าออนไลน์” ย้อนรอยสำรวจเส้นทางความสำเร็จของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชเมืองหนาวกันถึงต้นน้ำ นั้นคือ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งแรก ของมูลนิธิโครงการหลวง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2512 ณ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 55 ปี
ทั้งนี้ เมื่อไปถึง จ.เชียงใหม่ เราก็มุ่งตรงไปที่ โครงการหลวงแห่งแรก “ดอยอ่างขาง” เป็นจุดเริ่มต้นความอยู่ดีมีสุขของปวงชนชาวไทยและชาวโลก หากย้อนไปเมื่อปี 2512 สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ทดแทนการปลูกฝิ่น ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
และทรงทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณดอยอ่างขางเป็นเขาหัวโล้น มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก ราษฎรชนเผ่าที่อาศัยอยู่มีฐานะยากจน ประกอบกับเขตที่ตั้งอยู่ในแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งถือเป็นแนวปราการความมั่นคงของประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท แลกเป็นค่าต้นไม้ในที่ดินที่ชนเผ่าปลูกพืช เพื่อแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งไม้ผล ผัก และไม้ดอก ต่อมาได้พระราชทานชื่อสถานีแห่งนี้ว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”
เมื่อมาถึงแหล่งกำเนิดของเกษตรก็ต้องเข้าชม “แปลงผักอินทรีย์ของเกษตรชนเผ่าดาราอั้ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ประชาชนหันมาทำเกษตรเต็มรูปแบบ เมื่อไปถึงก็ได้มีเจอกับ “ต่อง ลายคำ” เกษตรกรผักอินทรีย์ เล่าความเป็นมาให้ฟังว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร ปัจจุบัน สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานวิจัยไม้ผลเขตหนาว ผัก ไม้ดอก งานขยายพันธุ์พืช เพื่อขยายผลสู่การส่งเสริมอาชีพในพื้นที่โครงการหลวงแห่งอื่น ๆ และส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชนเผ่าโดยรอบสถานี มีพืชส่งเสริม ได้แก่ ผักอินทรีย์ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 88 และ 89 ปัจจุบันการดำเนินงานของสถานีฯ อ่างขาง ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน 3 ตำบล ประชากรเป็นชาวลาหู่ ดาราอั้ง จีนยูนนาน ไทใหญ่ รวม 1,325 ครัวเรือน 7,352 คน
และได้มุ่งหน้าไปชม “แปลงชา 2000 ชาอินทรีย์” โดยเรื่องเล่ามีอยู่ว่า เมื่อปี 2535 สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้เริ่มงานส่งเสริมการปลูกชาอินทรีย์ โดยนำต้นชาจีนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ มาทดสอบปลูกที่บ้านนอแล โดยการส่งเสริมการปลูกชาจีน มีพื้นที่ 50 ไร่ มีเกษตรกรเผ่าดาราอั้ง บ้านนอแล เข้ารับการส่งเสริม โดยอ่างขางได้รับซื้อผลผลิตสดจากเกษตรกร เพื่อนำมาแปรรูปที่โรงงานชาอ่างขาง ซึ่งตั้งอยู่ในแปลงชา เพื่อความสะดวกในการขนส่ง และการผลิตชาที่ได้มาตรฐานสากล ปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ชาอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ชาเขียว, ชาอู่หลงเบอร์ 12, ชาอู่หลงก้านอ่อน เเละชาแดง (ชาดำ) โดยได้รับการรับรองการผลิตชาตามมาตรฐานต่างๆได้แก่ HACCP , GMP, GAP, IFOAM และการผลิตพืชอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร เรียกได้ว่าผลผลิตชาที่มาจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขางนั้น ปลอดภัยจากสารเคมี เนื่องจากเป็นการปลูกในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ รวมถึงโรงงานแปรรูปชาที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลอีกด้วย
จากนั้นได้ไปชมวิถีชีวิตชนเผ่าลาหู่ “หมู่บ้านขอบด้ง” และได้มีโอกาสพูดคุยกับ “จะก่า เขมิกา” ผู้ใหญ่บ้านขอบด้ง โดยเล่าประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า “ลาหู่บ้านขอบด้ง ส่วนใหญ่เป็นลาหู่เฌเลที่อพยพมาจากประเทศพม่า แรกเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสันเขาบ้านหลวง ต่อมาเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประกอบกับถูกชาวจีนยูนนานและไทยใหญ่รุกราน จึงได้ถอยร่นมาอยู่ที่บ้านคุ้ม และบริเวณที่เป็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางในปัจจุบัน ได้แยกย้ายกันไปตั้งหมู่บ้านใหม่เป็น 3 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านหนองเต่า หมู่บ้านป่าคา และหมู่บ้านขอบด้ง ในการตั้งถิ่นฐานของลาหู่บ้านขอบด้ง ได้เข้ามาตั้งก่อนการก่อสร้างสถานีเกษตรหลวงอ่างขางประมาณ 15 ปี หรือประมาณปี 2497
“บ้านขอบด้ง” หมู่บ้านที่ได้รับการส่งเสริมจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาว อาทิ สตอเบอรี่ บ๊วย ท้อ ถือเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชาวลาหู่ อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากโครงการหัตถกรรมในมูลนิธิของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทำกำไลหญ้าอิบูแค เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในหมู่บ้านอีกด้วย
และปิดท้ายของวันด้วยการชม “แปลงปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” โดยเป็นกาแฟที่นำมาปลูกและผลิต คือ “กาแฟอะราบิกา” ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน แต่สิ่งที่พิเศษภายในแปลงปลูกกาแฟแห่งนี้ที่เป็นจุดดึงดูดที่น่าสนใจ คือ การเลี้ยงผึ้งในสวนกาแฟเพราะเวลาที่กินน้ำผึ้งหรือรวงผึ้งจะสัมผัสถึงรสชาติและกลิ่นของกาแฟอ่อน ๆ เข้าไปด้วย ที่นี่จึงเป็นแหล่งพื้นที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ภายในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ประกอบด้วย พื้นที่วิจัย ทดสอบ สาธิต และรวบรวมพันธุ์พืชเขตหนาวต่าง ๆ ได้แก่ สวนแปดสิบ รวมพันธุ์พืชไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวไว้กว่า 40 สายพันธุ์, ต้นซากุระญี่ปุ่นอายุกว่า 15 ปี กว่า 1,500 ต้น ซึ่งออกดอกสวยงามในเดือนมกราคม จึงเป็นจุดท่องเที่ยวเพื่อศึกษาเรียนรู้และชมความสวยงามอันดับต้น ๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสวนบ๊วย ซึ่งเป็นแปลงบ๊วยในยุคแรกของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ปลูกเมื่อปี 2517 จะออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และจะเก็บผลผลิตในเดือน มี.ค.- เม.ย.
วันต่อมาได้นั่งรถรางชมแปลงสาลี่พันธุ์ใหม่ “รอยัล ลัสเชิส (Royal luscious)” โดยได้รับความรู้จาก “นวรัตน์ ดวงดี” วิทยากรปฏิบัติงานด้านวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า “สาลี่ได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์ว่า “รอยัล ลัสเชิส (Royal luscious)” สื่อถึงลักษณะเด่นของพันธุ์สาลี่ที่มีรสชาติหวานฉ่ำ เนื้อเนียนละเอียด และมีกลิ่นหอม เนื้อภายในผลไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และมีอายุการเก็บรักษาได้นาน ซึ่งผลผลิตเริ่มออกตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.-ส.ค.
จากนั้นได้พาไปชมแปลงพลับที่เป็นพันธุ์หวาน โดยไม่ต้องผ่านการบ่มใด ๆ หากยังไม่สุกก็จะเป็นผลเขียว แต่ถ้าสุกแล้วจะเป็นผลสีเหลืองอมส้ม โดยลูกพลับที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางผลจะสุกช้ากว่าที่อื่น เพราะมีอากาศหนาว ช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูการห่อผล และจะเก็บส่งจำหน่ายได้ช่วงปลายเดือน ส.ค.67"
“ลูกพลับ” เป็นผลไม้ที่มีแคลอรีและไขมันต่ำ เนื้อลูกพลับจะประกอบไปด้วยเส้นใยอาหารจำนวนมาก จึงช่วยในการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ น้ำมันที่สกัดจากผลพลับมีสารแทนนินที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมและการแพทย์ มีคุณสมบัติในการใช้บรรเทาอาการเมาเหล้า ลดความดันโลหิต ลดการขยายตัวของมะเร็งและเชื้อไวรัส ใบพลับมีวิตามินซีสูงมากนิยมนำไปทำชาได้อีกด้วย พลับจึงเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพของตัวเอง รวมถึงยังเข้าชมแปลงบ๊วย, โรงเรือนสิริวัณณวรี Botanical Garden และโรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก
ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับพระราชทานพันธุ์พืช และอุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงได้นำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่าง, อินทนนท์, ปางดะ, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และ แม่แฮ
รวมทั้งได้รักษาพันธุ์อีกส่วนหนึ่งไว้ที่ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช ภายในศูนย์ฯ ชนกาธิเบศร จ.เชียงใหม่ ผลจากการทดสอบการปลูกและขยายพันธุ์พืชหลายชนิด สามารถเพิ่มปริมาณพันธุ์ได้จำนวนหนึ่ง โครงการหลวงจึงได้นำไปรวบรวมไว้ที่สถานีฯ อ่างขาง เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงพันธุ์พืชเขตหนาว เพื่อการเรียนรู้แก่ประชาชนที่เข้าไปเยี่ยมชม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานชื่อโรงเรือนแห่งนี้ว่า “สิริวัณณวรี Botanical Garden”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จัดตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง เป็นศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ของมูลนิธิฯ และพระราชทานนามว่า “ชนกาธิเบศรดำริ” หมายถึง เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สร้างขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายในบริเวณศูนย์วิจัยฯ ประกอบด้วย อาคารทำการ อาคารเรียนรู้ อาทิ อาคารอารักขาพืช อาคารเทคโนโลยีชีวภาพ อาคารเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวง โรงชีวภัณฑ์ชมผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชหอศิลปหัตถกรรมพื้นที่สูง ร้าน Royal Project Tea House & Coffee
อย่างไรก็ตาม “โครงการหลวง” เข้าสู่ลำดับล่าสุด “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ” ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2566 และต่อยอดสู่การเปิด สถาบันเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง สถานที่วิจัยเพื่อต่อยอดความสำเร็จเป็นสถาบันการเรียนรู้ ขยายผลรูปแบบการดำเนินงานตามแบบโครงการหลวง ไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางระดับประเทศและนานาชาติ
ในโอกาสครบรอบ 55 ปีการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่สูงของโครงการหลวง ทำให้เกิดพืชผลเมืองหนาวกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่สูง สร้างความมั่นคงแก่ประเทศ ประชาชนดำรงชีพด้วยความสุข เส้นทางการผลิตจากต้นทางคือ แปลงเกษตรกรชาวเขาจนถึงมือผู้บริโภค ได้รับการการันตีด้านคุณภาพ ภายใต้ตราสินค้า “โครงการหลวง”
ทั้งนี้ ประชาชนจะได้สัมผัสผลิตผลโครงการหลวงจากแหล่งผลิตบนพื้นที่สูงต่าง ๆ รวมทั้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ผ่านการเลือกซื้อและเที่ยวชมงาน “โครงการหลวง 55” สัมผัสทุกไออุ่น คุณความรักจากแผ่นดิน ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 1-13 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี