นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ ย้ำการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ต้องตัดวงจรชีวิตปลา เพื่อควบคุมปริมาณปลาให้อยู่ในวงจำกัด ส่งเสริมการบริโภค ควบคู่กับการบริหารจัดการปลาที่จับมาได้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้มีการจับและบริโภคอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำหน่วยสัตว์น้ำ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการพบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในจังหวัดชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของประเทศ เช่น สงขลาและนครศรีธรรมราช จนนำไปสู่การจัดกิจกรรมตามล่า-ตามจับปลาหมอคางดำ ของทั้งสองจังหวัดนั้น ในทางวิชาการ การจับปลาชนิดนี้ จะช่วยลดปริมาณของปลาในแหล่งน้ำเท่านั้น แต่ถ้าไม่มีการจับปลาอย่างต่อเนื่อง ปลาก็จะมีการแพร่พันธุ์ใหม่อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวจึงควรทำเป็นระบบและรอบด้านตามหลักวิชาการ เพื่อให้การลดปริมาณปลาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับขั้นตอนที่สำคัญและจำเป็นมากในการลดปริมาณปลาให้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญ คือ การศึกษาวงจรชีวิตของปลา ซึ่งจะทำให้เราเรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่ปลาแพร่พันธุ์ได้ดีที่สุด ช่วงเวลาวางไข่ ช่วงเป็นตัวอ่อน จะเป็นข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาวิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสมในการตัดวงจรชีวิตของปลาหมอสีคางดำตั้งแต่ต้นทางและกำจัดได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญการจัดกิจกรรมจับปลาแต่ละครั้งต้องทำอย่างเป็นระบบและเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ควบคู่กับการจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำการศึกษาวิจัยต่อยอดการแก้ปัญหาในอนาคต
“เนื่องจากปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาที่สามารถปรับตัวได้ดีอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม การจับปลาชนิดนี้จึงจำเป็นต้องจับอย่างต่อเนื่องและจับในช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อตัดวงจรชีวิต ซึ่งการไล่จับปลาเป็นครั้งคราวนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ” ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา กล่าว
ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ย้ำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในไทยขณะนี้ จำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือ ระยแรก ด้วยการส่งเสริมให้เป็นอาหารของมนุษย์ รวมถึงการพัฒนาให้เป็นอาหารประจำถิ่น ของแต่ะละพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลา แนวทางนี้จะเป็นการสร้างความต้องการให้กับตัวปลา และต้องมีการวางแผนบริหารจัดการและการตลาดอย่างดี เพื่อจูงใจให้เกิดการจับปลาต่อเนื่อง เช่น มีการรับซื้อในราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเปล่าและไม่ให้มีการปล่อยปลากลับคืนลงไปในแหล่งน้ำอีก
ส่วนระยะกลาง ควรมีการระดมสมองเพื่อทำการศึกษาวงจรชีวิตของปลา ซึ่งจะนำไปสู่การกำจัดปลาอย่างมีประสิทธิภาพและลดจำนวนปลาอย่างมีนัยสำคัญ และระยะยาว จำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำอย่างถูกต้องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนได้เรียนรู้ และสามารถปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังร่วมมือกันกำจัดปลาอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างต่อเนื่อง สร้างความสมดุลทางนิเวศ (Ecological Balance)
ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา กล่าวว่า การแก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำระบาด ต้องเดินหน้าแบบองค์รวมและทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง สามารถลดปริมาณประชากรปลาได้ตามเป้าหมาย ตลอดจนช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติให้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี